วันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2561
โรคติดต่อหน้าฝน รู้ไว้ให้ระวัง
สภาพอากาศที่แปรปรวน เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวฝนจนไม่รู้ว่าอยู่ฤดูไหนกันแน่ แต่สภาพอากาศเดาไม่ได้แบบนี้นี่ล่ะค่ะตัวการทำให้สุขภาพเราถดถอย โดยเฉพาะในช่วงเข้าสู่ฤดูฝนของจริง อาจต้องเตรียมรับมือกันหนักกว่านี้อีกเยอะ เพราะโรคที่มากับหน้าฝนก็มีไม่น้อย เราจึงต้องคอยระวังให้ดี
1. กลุ่มโรคติดต่อทางน้ำและอาหาร
ที่พบบ่อย คือ โรคท้องเดิน โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน บิด ไทฟอยด์ อาหารเป็นพิษ ตับอักเสบ เป็นต้น โดยสาเหตุเกิดจากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อจุลชีพ อันก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหารและลำไส้ ดังนั้นจึงควรระมัดระวังเรื่องอาหารการกินมากเป็นพิเศษ โดยควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ ใช้ช้อนกลาง และล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร
- ทำอย่างไรดี...เมื่ออาหารเป็นพิษ
- อุจจาระร่วง ใครว่าไม่อันตราย ไม่ระวังก็ถึงตายได้เหมือนกัน
- ไวรัสตับอักเสบ เอ ดูดน้ำหลอดเดียวกันก็เสี่ยงติดเชื้อได้ง่าย ๆ
- รู้จัก ไทฟอยด์ หรือไข้รากสาดน้อย
โรคกลุ่มนี้ที่พบบ่อยในฤดูฝน ได้แก่ โรคแลปโตสไปโรซิส หรือไข้ฉี่หนู และโรคตาแดง ซึ่งสาเหตุก็มาจากการสัมผัสกับน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ โดยเฉพาะเชื้อโรคที่มาพร้อมกับน้ำท่วมขัง น้ำเสียในท่อระบายน้ำ น้ำที่ปนเปื้อนสิ่งปฏิกูลจากทั้งคนและสัตว์ โดยกลุ่มเสี่ยงโรคนี้จะอยู่ในกลุ่มเกษตรกร ชาวนา ชาวไร่ ประชาชนในพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วม คนงานในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ และพนักงานขุดท่อระบายน้ำ เป็นต้น
ทั้งนี้อาการของโรคที่ควรสังเกต คือ หลังได้รับเชื้อประมาณ 1-2 สัปดาห์ จะมีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ มักปวดกล้ามเนื้อบริเวณน่องและโคนขาอย่างรุนแรง รวมถึงอาการตาแดง คอแข็ง สลับกับไข้ลด หากเป็นมากอาจมีจุดเลือดออกที่เพดานปาก หรือตามผิวหนัง จนกระทั่งตับวาย ไตวายได้
- โรคฉี่หนู โรคร้ายที่มาในช่วงฝนตกและน้ำท่วมขัง
- วิธีรักษาโรคตาแดง ที่ระบาดในหน้าฝน
3. กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ
แน่นอนว่าฤดูฝนต้องพาเอาโรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ คออักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ และปอดบวมมาด้วยแน่ ๆ เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวนบวกกับเชื้อไวรัสและแบคทีเรียที่ปนเปื้อนอยู่ในอากาศชื้นช่วงฤดูฝนจะเป็นพาหะของโรคระบบทางเดินหายใจ อีกทั้งการแพร่กระจายของเชื้อโรคยังง่ายมาก เพียงแค่ไอ จาม หรือสัมผัสกับน้ำมูกที่ปนเปื้อนเชื้อก็ป่วยตาม ๆ กันได้แล้ว
ฉะนั้นเราจึงควรดูแลตัวเองด้วยการหาผ้าปิดจมูกมาสวมใส่เมื่อต้องอยู่ในที่แออัด หรือเมื่อมีอาการป่วยก็ควรต้องสวมหน้ากากเพื่อหยุดการกระจายของเชื้อโรคด้วย ที่สำคัญควรหมั่นล้างมือบ่อย ๆ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้าด้วยมือด้วยนะคะ
- เช็กอาการไข้หวัดใหญ่ ต่างจาก ไข้หวัดทั่วไป ตรงไหน ?
4. กลุ่มโรคที่มียุงเป็นพาหะ
- โรคไข้เลือดออก
โรคไข้เลือดออกจัดเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากยุง โดยไข้เลือดออกมียุงลายเป็นพาหะนำโรค ซึ่งกว่าร้อยละ 80 จะเกิดจากยุงลายที่อยู่ในบ้าน ดังนั้นเราจึงต้องกำจัดลูกน้ำยุงลายในบ้านให้หมดจด โดยเฉพาะในจุดที่มีน้ำท่วมขัง รวมทั้งพยายามปกป้องตัวเองและคนในบ้านจากการโดนยุงกัดด้วย
- โรคไข้สมองอักเสบ เจอี
อีกหนึ่งโรคติดต่อที่เกิดจากยุง โรคไข้สมองอักเสบมียุงรำคาญเป็นพาหะ โดยมักจะแพร่พันธุ์ในแหล่งน้ำตามทุ่งนา ส่วนอาการของโรคผู้ป่วยจะมีไข้ ปวดศีรษะ อาเจียน ก่อนจะมีอาการซึมหรือชัก ต้องรีบนำตัวไปรักษากับแพทย์โดยด่วน แต่ทางที่ดีควรป้องกันตัวเองจากการโดนยุงกัด ซึ่งจะการันตีความปลอดภัยได้มากที่สุด
- โรคมาลาเรีย
นับเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากยุง (ยุงก้นปล่อง) ที่มีความรุนแรงของโรคค่อนข้างสูง โดยผู้ป่วยจะมีไข้สูง หนาวสั่น ซีด จากการที่เม็ดเลือดแดงแตก หรือหากมีอาการหนักอาจมีอาการไตวาย ตับอักเสบ ปอดผิดปกติ หรือบางเคสอาจมีภาวะมาลาเรียขึ้นสมองได้ ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการเดินป่าในหน้าฝน หรือพยายามอยู่ให้ห่างจากพื้นที่ที่มีต้นไม้ ลำธารอุดมสมบูรณ์ไปก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้ยุงก้นปล่องมากัดได้
5. โรคมือ เท้า ปาก
โรคนี้พบบ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ขวบ โดยสาเหตุเกิดจากสภาพอากาศที่เย็นและชื้น ไวรัสที่เจริญเติบโตได้ในลำไส้ เช่น คอกซากีไวรัส เอนเทอโรไวรัส ซึ่งเป็นไวรัสตัวการที่ทำให้เกิดโรค มือ เท้า ปาก จะมีการแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็วมากเป็นพิเศษ ทำให้เด็กเล็กที่ได้รับเชื้อไวรัสเหล่านี้จากการติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำลาย น้ำมูก น้ำจากตุ่มแผลพุพอง หรืออุจจาระที่ปนเปื้อนเชื้อ ป่วยได้ง่าย
ฉะนั้นควรป้องกันการเกิดโรคโดยการรักษาสุขอนามัยของเด็กและผู้ดูแลเด็กให้สะอาด ตัดเล็บให้สั้น รวมทั้งหมั่นล้างมือบ่อย ๆ
ดูแลสุขภาพในช่วงหน้าฝนตามนี้ พร้อมทั้งหมั่นออกกำลังกายและเลือกรับประทานอาหารให้ครบตามหลักโภชนาการ เท่านี้คุณก็จะมีสุขภาพดีได้ง่าย ๆ ตลอดฤดูฝนแล้วล่ะค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
กระทรวงสาธารณสุข
คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล โดย ผศ. นพ.เมธี ชยะกุลคีรี ภาควิชาอายุรศาสตร์ สาขาโรคติดเชื้อฯ และ ศ. พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
สำนักงานสาธารณสุข อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี และ
https://health.kapook.com/view120724.html