ถ้าต้องการมาขอรับบริการที่ ศบส.37 ต้องเตรียมเอกสารอะไรมาบ้าง ?

 

-บัตรประชาชน

-บัตรต่างชาติ (บัตรชมพู)

-ยาเดิมที่กินต่อเนื่อง (ถ้ามี)

**ในกรณีเด็กอายุต่ำกว่า 7 ปี ผู้ปกครองนำสูติบัตรมาประกอบการทำประวัติ

 

ศบส.37 เปิดให้บริการเวลาใดบ้าง ?
วันที่บริการเจาะเลือดส่งตรวจ ศบส.37 มีให้บริการเจาะเลือดวันไหนบ้าง?

ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ให้บริการทุกวันอังคาร เวลา 08.00 - 09.00 น.

ผู้รับบริการในคลินิกสูงอายุ ให้บริการทุกวันพฤหัส เวลา 08.00 - 09.00 น.

ศบส.37 รับฝากครรภ์ตั้งแต่อายุครรภ์เท่าใด และให้บริการในวันใดบ้าง?

ศบส.37 ให้บริการฝากครรภ์ทุกวันจันทร์ เวลา 13.00 – 15.00 น. 

โดยรับฝากครรภ์ตั้งแต่อายุครรภ์ 4 สัปดาห์ ถึงอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ และมารดาต้องเป็นคนไทยอายุ 18 ปีขึ้นไป

ไม่เคยมีภาวะแทรกซ้อนในครรภ์ เช่น มารดามีโรคประจำตัวเป็นทาลัสซีเมีย ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และมารดามีภาวะแท้งคุกคามในครรภ์ก่อน เป็นต้น

หากต้องการนำบุตรมาฉีดวัคซีนต้องนำเอกสารใดมาบ้าง และให้บริการในวันใดบ้าง ?

 - เอกสารสำหรับผู้ปกครอง บัตรประชาชาชนตัวจริง

 - เอกสารสำหรับเด็ก ใบสูติบัตร + สมุดบันทึกวัคซีนเล่มสีชมพู

**ให้บริการในวันอังคาร และวันพฤหัส ตามช่วงอายุ  เวลา 13.00-15.30 น.

ต้องการมาตรวจมะเร็งปากมดลูก สามารถมารับบริการวัน เวลาไหน และต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง ?

ศบส.37 ให้บริการตรวจมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านมทุกวันพุธ เวลา 13.00-15.00 น. ในคลินิกวางแผนครอบครัว

ผู้รับบริการที่มีประจำเดือนสามารถตรวจได้หลังจากมีประจำเดือนวันสุดท้าย 10 วัน 

ผู้รับบริการที่มีช่วงอายุ 30-60 ปี รอยืนยันจากผลตรวจแปปสเมียร์ 

มีอาการปวดอยากปรึกษาแพทย์เพื่อทำกายภาพบำบัด ต้องขอเข้าสู่ระบบรับบริการที่ ศบส.37 อย่างไรบ้าง ?

ผุ้รับบริการสามารถเข้ามาพบแพทย์ในคลิกนิกตรวจโรคทั่วไปและปรึกษาแพทย์ถึงอาการเจ็บที่เกิดขึ้น หากแพทย์วินิจฉัยและมีความเห็นสมควรได้รับการรักษาด้วยวิธีกายภาพบำบัด ผู้รับบริการจะได้รับการนัดเข้าสู่คลินิกกายภาพบำบัดต่อไป

หากไม่ทราบสิทธิการรักษา สามารถขอตรวจสอบที่ ศบส.37 ได้หรือไม่ ?

ผู้รับบริการสามารถเข้ามาตรวจสอบสิทธิการรักษาได้ที่ ศบส.37 โดยนำหลักฐานคือบัตรประชาชนมาติดต่อขอรับบริการได้ที่ห้องเวชระเบียน ตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น.

มีแผลเย็บจากโรงพยาบาล สามารถรับบริการตัดไหมที่ ศบส.37 ได้หรือไม่ ค่าบริการเท่าไหร่ ?

ผุ้รับบริการสามารถมารับบริการได้ที่ ศบส.37 เวลา 08.00-12.00 น.

ค่าบริการทางการแพทย์ 100 บาท

ค่าบริการตัดไหม 80 บาท หรือพิจารณาตามขนาดของแผล

บัตรคนพิการหายต้องแจ้งความหรือไม่ ?

ไม่ต้องค่ะ สามารถไปทำใหม่ได้เลยค่ะ

*ในพ้นที่ใกล้เคียงสามารถติดต่อทำบัตรใหม่ได้ที่ โรงพยาบาลสิรินธร ห้องตรวจเบอร์ 16 ชั้น 1 (เป็นเจ้าหน้าที่ของ พม.) โดยบัตรคนพิการมีอายุ 8 ปี / กรณีที่ผู้พิการระบุตลอดชีพไม่หมดอายุ

ญาติสามารถไปทำบัตรคนพิการแทนได้หรือไม่ ?

ญาติสามารถไปดำเนินการแทนได้ค่ะ โดยนำเอกสารไปดังนี้ 

1. สำเนาบัตรประชาชน อย่างละ 3 ใบ พร้อมบัตรประชาชนตัวจริงไปด้วย

2. สำเนาทะเบียนบ้าน อย่างละ 3 ใบ พร้อมนำทะเบียนบ้านเล่มจริงไปด้วย

3. หนังสือมอบอำนาจให้เป็นผู้ดำเนินการแทน 1 ใบ

การต่อบัตรคนพิการต้องไปต่อเมื่อไหร่ ?

สามารถต่ออายุบัตรคนพิการก่อนหมดอายุ 30 วัน

หากต้องการเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ดูแลคนพิการ สามารถทำได้หรือไม่คะ และต้องใช้หลักฐานอะไรบ้าง ?

สามารถทำได้ค่ะ โดยนำเอกสารที่ใช้ในการเปลี่ยนชื่อผู้ดูแลผู้พิการไปติดต่อสถานที่ให้บริการออกบัตรประจำตัวคนพิการ ประกอบด้วย

1.บัตรประจำตัวคนพิการฉบับจริง

2.สำเนาบัตรประชาชนของผู้ดูแลคนใหม่ จำนวน 1 ฉบับ

3.สำเนาทะเบียนบ้านของผู้ดูแลคนใหม่ จำนวน 1 ฉบับ

4.ใบมอบอำนาจจากคนพิการ (หากไม่ใช่ญาติสายตรงและคนละนามสกุล) สามารถdownload จากเว็บไซต์ พก. และไม่ต้องติดอากรสแตมป์ จำนวน 1 ฉบับ

5.หนังสือรับรองการเป็นผู้ดูแลคนพิการ (download จากเว็บไซต์ พก.) (ผู้มีอำนาจรับรอง --> กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน ,ข้าราชการ ,พนักงานรัฐวิสาหกิจ, สมาชิกสภาท้องถิ่ , ประธานชุมชน, พนักงานราชการ, ลูกจ้างประจำ,(ของหน่วยงานราชการ, รัฐวิสาหกิจ) ฉบับจริง พร้อมแนบสำเนาบัตรข้าราชการและรับรองสำเนาด้วย จำนวน 1 ฉบับ ซึ่งผู้รับรองต้องอยู่ในท้องที่เดียวกับคนพิการ)

6.รูปถ่ายคนพิการ 1 นิ้ว จำนวน 2 รูป (หากคนพิการไม่ได้มาด้วย) ทั้งนี้ ผู้ดูแลคนพิการ ต้องเป็นผู้ซึ่งมีชื่อในทะเบียนบ้านเดียวกันกับคนพิการ หรือเป็นผู้ดูแลคนพิการ ซึ่งคนพิการอาศัยอยู่ด้วยตามความเป็นจริง

การขอเบี้ยยังชีพคนพิการต้องไปทำที่ไหนคะ ?

ต้องไปทำที่สำนักงานเขตที่ทะเบียนบ้านขึ้นอยู่ กรณีที่ทะเบียนบ้านอยู่ต่างจังหวัดต้องกลับไปทำที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ทะเบียนบ้านขึ้นอยู่

หากต้องการขอเอกสารรับรองความพิการต้องทำอย่างไร ?

1.ในกรณีที่รับการรักษาจากสถานพยาบาลอื่น หากเป็นหน่วยงานภาครัฐ สามารถแจ้งกับแพทย์ผู้รักษาประจำตัวเพื่อประเมินความพิการได้เลยค่ะ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวินิจฉัยของแพทย์ผู้รักษามาค่ะ 

2.แต่หากรับการรักษามาจากโรงพยาบาลเอกชน (ที่ไม่สามารถประเมินความพิการได้) ให้ผู้ดูแล/ผู้ป่วยขอใบรับรองแพทย์ ลงความเห็นประวัติการรักษา สาเหตุของความพิการแล้วติดต่อมายัง ศบส.37 อีกครั้งค่ะ ทั้งนี้เพื่อให้ทราบถึงสาเหตุ/ประวัติการรักษาของผู้พิการเพื่อระบุเป็นเอกสารรับรองความพิการ

ยาตัวนี้ (ยาแก้แพ้ : CPM 4 mg ) รับประทานแล้วง่วงนอนไหมครับ ?

ยาตัวนี้รับประทานแล้วอาจทำให้ง่วงนอน ควรระวังการขับขับขี่รถ หรือ การทำงานที่เกี่ยวกับเครื่องจักร

หลังจากรับประทานยาซองนี้ ไปแล้ว 2 มื้อ พบว่ามีอาการผื่นแดง คัน จึงรีบมาหาหมอ อยากททราบว่ามันคือโรคอะไร ?

อาการผื่นแดง คัน ที่เกิดขึ้นหลังจากรับประทานยา โดยที่ก่อนรับประทานยาไม่มีอาการผื่นแดง คัน อาการเหล่านั้นเป็นอาการแพ้ยา ไม่ใช่โรค หากมีอาการแพ้ยา ให้รีบหยุดรับประทานยา แล้วรีบกลับไปพบแพทย์พร้อมกับนำยาที่รับประทานทั้งหมดไปแจ้งให้แพทย์ทราบด้วย

ยานวดแก้ปวด (KC.Balm) มีขายที่ร้านขายยาไหมคะ

ไม่มีขายที่ร้านยาค่ะ เนื่องจากเป็นสูตรตำรับยาเฉพาะซึ่งฝ่ายผลิตยากองเภสัชกรรมเป็นผู้ผลิต

ขอซื้อยานอนหลับที่ห้องจ่ายยา (ศบส.37) โดยไม่พบแพทย์ได้ไหมคะ ?

ยานอนหลับรวมทั้งยาทุกรายการที่มีในบัญชียาของ ศบส.37 ต้องให้แพทย์เป็นผู้สั่งใช้ยาให้กับผู้ป่วยที่มารับบริการในคลินิกตรวจโรค (OPD.) เท่านั้น เภสัชกรจึงจะจ่ายยาให้กับผู้ป่วยได้ ผู้ป่วยไม่สามารถซื้อยาได้เองโดยไม่พบแพทย์ก่อน

ยาที่แพทย์สั่งให้กินก่อนอาหาร (ผู้ป่วยถือยา Dicloxacillin สอบถาม) จะสามารถรับประทานหลังอาหารได้หรือไม่ ?

ยาที่แพทย์สั่งให้รับประทานก่อนอาหาร ไม่สามารถรับประทานหลังอาหารได้ เพราะอาหารจะมีผลต่อการดูดซึมของยา ยกเว้น มีอาการข้างเคียงจากการใช้ยาจึงจะรับประทานหลังอาหารได้ แต่น่าจะมีประสิทธิภาพในการรักษาลดลง

ยาหยอดตา ถ้าเปิดใช้แล้วจะมีอายุนานแค่ไหน ?

ยาหยอดตา หากเปิดใช้แล้วจะมีอายุ 30 วัน หลังจากเปิดใช้ยาหยอดตาครบ 30 วันแล้วต้องทิ้งไป

ทำไมกินยานี้ (Amlodipine) แล้วเท้าบวม แล้วจะทำอย่างไร ?

 เท้าบวมจากการรับประทานยา Amlodipine เป็นอาการข้างเคียงจากยา แต่เท้าบวม เกิดจากหลายๆสาเหตุ จึงควรมาพบแพทย์และเภสัชกร เพื่อประเมินว่าเท้าบวมที่เกิดขึ้นจากการรับประทานยา Amlodipine หรือ เกิดจากสาเหตุอื่น เพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและความปลอดภัย

ทำไมยานี้ (Calamine lotion) ถึงมีชั้นน้ำใส กับ ชั้นน้ำขุ่น เมื่อตั้งทิ้งไว้เป็นเวลานาน มันเสียหรือเปล่า ?

ยา Calamine lotion เป็นยาน้ำแขวนตะกอน หากทิ้งไว้เป็นเวลานานจะแยกชั้นน้ำใส กับชั้นน้ำขุ่น หากใช้ยานี้รวมทั้งยาน้ำแขวนตะกอนทุกชนิด ต้องเขย่าขวดให้เป็นเนื้อเดียวกันก่อนใช้ยาทุกครั้ง

ยาแก้อักเสบตัว (ยา Amoxycillin 500 mg.) ต้องกินจนหมดไหม ?

ยา Amoxycillin 500 mg. ไม่ใช่ยาแก้อักเสบ เป็นยาปฏิชีวนะมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ต้องรับประทานต่อเนื่องกันทุกวันจนยาหมด เนื่องอาจทำให้เชื้อแบคทีเรียดื้อยาและรักษาไม่หายในภายหลังได้

ยานี้ (Chloramphenicol Eye Ointment) ที่ข้างกล่องแจ้งว่าเป็นยาป้ายตา แล้วทำไมถึงบอกให้นำไปทาแผลที่แขน

ยา Chloramphenicol Eye Ointment เป็นสูตรตำรับชนิดปราศจากเชื้อสำหรับใช้กับดวงตา ทำให้ดวงตามีความปลอดภัยเมื่อใช้ยา Chloramphenicol Eye Ointment ป้ายตา การที่แพทย์ประยุกต์ใช้ยา Chloramphenicol Eye Ointment มาใช้ทาแผลแทนจึงมีความปลอดภัยเมื่อนำมาใช้ทาแผลตามร่ากายด้วยเช่นกัน 

สิทธิบัตรประกันสุขภาพ ,สิทธิบัตรทอง และสิทธิ 30 บาท แตกต่างกันอย่างไร ?

ทั้ง 3 สิทธิเป็นสิทธิชนิดเดียวกัน แตกต่างแค่ชื่อเรียกเท่านั้น โดยเป็นสิทธิในการได้รับบริการสาธารณสุข เช่น การรักษาพยาบาล การป้องกันโรคสำหรับบุคคลที่ไม่มีสิทธิประกันสังคม หรือสวัสดิการของข้าราชการ / รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐอื่นๆ 

เริ่มแรกเรียกสิทธินี้ว่า สิทธิ 30 บาท เพราะเป็นนโยบาย 30 รักษาทุกโรค บัตรจะเป็นกระดาษอ่อนธรรมดา ต่อมาได้ออกแบบเป็นบัตรสีทองเคลือบพลาสติก จึงเรียกว่าสิทธิบัตรทอง และปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นที่มาของสิทธิบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ประชาชนทุกคนสามารถใช้สิทธิบัตรทองได้ ใช่หรือไม่ ?

คนไทยทุกคนที่มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก และไม่มีสิทธิประกันสังคม หรือสวัสดิการของราชการ / รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐอื่นๆ สามารถใช้สิทธิบัตรทองได้

หากจะใช้สิทธิบัตรทองต้องทำอย่างไร ?

กรณีใช้สิทธิที่หน่วยบริการที่มีสิทธิอยู่ สามารถนำบัตรประชาชนไปติดต่อที่โรงพยาบาล หรือศูนย์บริการสาธารณสุขได้เลย 

กรณีใช้สิทธิข้ามเขต จะใช้สิทธิได้ในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินถึงแก่ชีวิต โดยใช้สิทธิได้ 3 วัน (72 ชั่วโมง)

บัตรทอง Model 5 สามารถมารับบริการได้ทุกที่ในเขตกรุงเทพมหานคร

สามารถเช็คสิทธิรักษาพยาบาลได้ที่ไหนบ้าง ?

สามารถเช็คสิทธิด้วยตนเองที่ >> https://eservices.nhso.go.th/eServices/mobile/login.xhtml

หรือติดต่อด้วยตนเองที่ ศูนย์บริการสาธารณสุขทุกแห่งใน กทม. /สถานีอนามัย /โรงพยาบาลของรัฐใกล้บ้าน หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำรับใน กทม.สามารถติดต่อศูนย์บริการสาธารณสุขทุกแห่ง /สำนักงานเขตของ กทม.

ระบบโทรศัพท์อัตโนมัติ โทร 1330 กด 2

เว็บไซต์ nhso.go.th

App สิทธิ 30 บาท ทั้งระบบ IOS และ Android

สิทธิบัตรทองคุ้มครองค่าใช้จ่ายประเภทใดบ้าง ?

บริการวางแผนครอบครัว ได้แก่ ให้คำแนะนำปรึกษาคู่สมรส บริการคุมกำเนิด การคลอดบุตร รวมกันไม่เกิน 2 ครั้ง (กรณีที่บุตรมีชีวิตอยู่)

ดูแลสุขภาพหญิงมีครรภ์ ทารกแรกเกิด พัฒนาการของเด็ก วัคซีนเสริมสร้างภิมคุ้มกันโรคตามนโยบายรัฐ

คัดกรองความเสี่ยง เช่น ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ตรวจมะเร็งปากมดลูก / มะเร็งเต้านม ยาต้านไวรัสเอดส์เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก

บริการทันตกรรม การตรวจวินิจฉัย และรักษาโรคทั่วไป เช่น ไข้หวัด จนถึงโรคเรื้อรัง / โรคเฉพาะทาง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง มะเร็ง(เช่น ผ่าตัด, ฉายแสง, เคมีบำบัด) ไตวายเรื้อรัง(เช่น ล้างไตผ่านทางช่องท้อง, ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม, ผ่าตัดปลูกถ่ายไต) เอดส์ ผ่าตัดตา ต้อกระจก ผ่าตัดหัวใจ เป็นต้น รวมถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ 

ค่ายาและเวชภัณฑ์ ตามกรอบบัญชียาหลักแห่งชาติ และยาที่มีค่าใช้จ่ายสูง ตามประกาศของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ค่าอาหารและค่าห้อง ระหว่างพักรักษาตัว ณ หน่วยบริการ การจัดการส่งต่อผู้ป่วย 

บริการแพทย์แผนไทย บริการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ เช่น กายภาพบำบัด จิตบำบัด พฤติกรรมบำบัด กิจกรรมบำบัด ฟื้นฟูการได้ยิน / การมองเห็น และรับอุปกรณ์เครื่องช่วยติดตามประเภทความพิการได้ตามเกณฑ์ที่ สปสช.กำหนด

กรณีไหนบ้างที่ไม่สามารถใช้สิทธิบัตรทองได้ ?

รักษาภาวะมีบุตรยาก / ผสมเทียม

เปลี่ยนเพศ / การกระทำใดๆเพื่อความสวยงามโดยไม่มีข้อบ่งชี้จากแพทย์

การตรวจวินิจฉัย และการรักษา ที่เกินความจำเป็นจากข้อบ่งชี้ทางการแพทย์

การรักษาที่อยู่ระหว่างการค้นคว้าทดลอง

การบาดเจ็บจากการประสบภัยจากรถ เฉพาะส่วนที่บริษัท หรือกองทุนตามกฎหมายนั้นต้องเป็นผู้จ่าย 

การบำบัดและฟื้นฟูผู้ติดยาและสารเสพติด ยกเว้นผู้ติดเฮโรอีนที่สมัครใจเข้ารับการรักษา และไม่ต้องโทษคดียาเสพติด ให้ได้รับสารทดแทนยาเสพติด (เมทาโดน) จากหน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนได้

โรคเดียวกันที่ต้องรักษาในฐานะผู้ป่วยใน เกินกว่า 180 วัน ยกเว้น กรณีที่ต้องรักษาต่อเนื่องจากภาวะแทรกซ้อนหรือข้อบ่งชี้ทางการแพทย์

การเปลี่ยนอวัยวะ (Organ Transplantation) ยกเว้น การปลูกถ่ายหัวใจ, ปลูกถ่ายไตในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย และปลูกถ่ายตับในเด็ก (อายุไม่เกิน 18 ปี) ที่เป็นโรคท่อนำดีตีบตันแต่กำเนิด

สามารถใช้สิทธิบัตรทองในโรงพยาบาลเอกชนได้หรือเปล่า ?

สามารถใช้สิทธิได้ 2 กรณี คือ

1.กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินถึงแก่ชีวิต หมายถึง ผู้ป่วยที่มีอาการที่กระทบต่ออวัยวะสำคัญ ได้แก่ หัวใจ, สมอง, ลมหายใจ ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ เช่น หัวใจหยุดเต้น, หอบรุนแรง, มีอาการเขียวคล้ำ, หมดสติไม่รู้สึกตัว, สิ่งแปลกปลอมอุดกลั้นหลอดลม, มีอาการวิกฤตจากอุบัติเหตุ, มีเลือดออกมากห้ามไม่หยุด, ภาวะขาดน้ำรุนแรง, แขน / ขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว พูดลำบาก, ชัก, มีอาการวิกฤตจากไข้สูง, ปวดท้องรุนแรง เป็นต้น โดยสามารถเข้าได้ทุกโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดและไม่ต้องสำรองจ่าย

2.กรณีรักษาแพทย์เฉพาะทาง จำเป็นต้องติดต่อแจ้งความจำนงกับโรงพยาบาลที่จะขอใช้สิทธิก่อนว่าสามารถใช้สิทธิได้หรือไม่ แล้วแต่กรณีไป

หากอยู่ต่างจังหวัด แต่อยากใช้สิทธิบัตรทองกับโรงพยาบาลรัฐใหญ่ๆในกรุงเทพฯ จะต้องทำอย่างไรบ้าง ?

กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินถึงแก่ชีวิตสามารถใช้สิทธิได้เลย แต่หากจะรักษาโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคตับ โรคหัวใจ จำเป็นต้องมีใบส่งตัวผู้ป่วยจากโรงพยาบาลที่มีสิทธิอยู่

ย้ายบ้านโดยไม่ได้ย้ายทะเบียนบ้าน แต่อยากจะย้ายหน่วยบริการ หรือโรงพยาบาลที่จะใช้สิทธิ สามารถทำได้หรือไม่ ?

สามารถทำได้ โดยนำบัตรประชาชนไปติดต่อด้วยตนเองที่หน่วยบริการที่รับลงทะเบียน, แอปพลิเคชัน สปสช. สามารถเปลี่ยนสิทธิได้ไม่เกิน 4 ครั้งต่อปีงบประมาณ (1 ต.ค. - 30 ก.ย. ของปีถัดไป ) ปัจจุบันย้ายสิทธิแล้วเกิดสิทธิทันทีไม่ต้องรอ 15 วัน ทำการ

**ติดต่อขอย้ายสิทธิด้วยตนเองบนมือถือง่ายๆ เพียงสแกนคิวอาร์โค้ด สปสช. >>

หากใช้สิทธิบัตรทอง คุณภาพยาและการรักษาที่ได้รับ จะเหมือนหรือเท่าเทียมกับการจ่ายเงินหรือเปล่า ?

มาตรฐานการรักษาพยาบาล และยาที่ใช้จะเหมือนกัน ต่างกันตรงที่ถ้าคุณใช้บริการคลินิกนอกเวลาราชการ หรือคลินิกพิเศษ ที่ต้องจ่ายเงินเอง ก็อาจให้ความสะดวกและรวดเร็วในการใช้บริการมากกว่า

สำหรับผู้ที่ไม่มีสิทธิประกันสังคม, สวัสดิการของข้าราชการ / รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐอื่นๆ การใช้สิทธิประกันสุขภาพ / สิทธิบัตรทอง ก็ถือเป็นสวัสดิการที่รัฐมอบให้ เพื่อช่วยประหยัดค่ารักษาพยาบาลไปได้มาก สำหรับผู้ที่มีรายได้น้อย หรือผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีค่าใช้จ่ายอื่นๆอีกมากเช่น ค่ายานอกบัญชีหลัก (ที่เบิกไม่ได้), ค่าเดินทางไปโรงพยาบาล หรือค่าพยาบาลดูแลที่บ้าน เป็นต้น

วัคซีนป้องกันโควิด-19 เปิดให้บริการในวันและเวลาใดบ้าง

ศบส.37 ให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 

วันพุธ เวลา 13.00-15.00น. (Walk in)

วันศุกร์ เวลา 13.00-15.00น. (Walk in / จองผ่านแอพพลิเคชั่น QueQ)

ฝาแดง  เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ให้บริการในคลินิกเด็กดีWBC ทุกวันอังคารและวันพฤหัส เวลา 13.00-15.00น.

ฝาส้ม  เด็กอายุระหว่าง 5-12 ปี ให้บริการทุกวันพุธและวันศุกร์ เวลา 13.00-15.00น.

ฝาม่วง  12 ปีขึ้นไป-ผู้ใหญ่ ให้บริการทุกวันพุธและวันศุกร์ เวลา 13.00-15.00น.

Page 1 of 1