เบาหวาน

วันพุธที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2561
image

บาหวาน

โรคเบาหวานเป็นอีกหนึ่งโรคเรื้อรังอันตรายที่มักพบร่วมกันกับโรคความดันโลหิตสูง องค์การอนามัยโลกระบุไว้ว่าในปีนี้ ผู้ป่วยโรคเบาหวานทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 285 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 6.4 ของจำนวนประชากรทั่วโลก และคาดว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า จำนวนผู้ป่วยจะพุ่งขึ้นเป็น 438 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 7.8 ของจำนวนประชากรทั่วโลก

ในประเทศไทย จากการเก็บข้อมูลของกรมการแพทย์ตั้งแต่ปี 2548 - 2552 จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคเบาหวานเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกปี อีกทั้งพบผู้ป่วยที่อายุน้อยลง ๆ ผศ. นพ. วราภณ วงศ์ถาวราวัฒน์ อายุรแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านระบบต่อมไร้ท่อ (เบาหวาน) ให้ความรู้เรื่องเบาหวานไว้ดังนี้

เบาหวานคืออะไร

“เบาหวานเป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง เนื่องจากไม่อาจนำแป้ง และน้ำตาลที่บริโภคเข้าไปมาใช้ได้ เนื่องจาก ประการแรก ตับอ่อนไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้ หรือได้ไม่มากพอ โดยอินซูลินนี้มีหน้าที่ช่วยส่งผ่านน้ำตาลที่อยู่ในรูปของกลูโคสในกระแสเลือดไปสู่ระบบเนื้อเยื่อต่าง ๆ เพื่อนำไปเผาผลาญ และแปลงเป็นพลังงาน ประการที่สอง เนื้อเยื่อและอวัยวะต่าง ๆ (ไขมัน ตับ กล้ามเนื้อ ฯลฯ) มีภาวะดื้อต่ออินซูลิน” ผศ. นพ. วราภณกล่าว


ด้วยความผิดปกติทั้งสองประการข้างต้น ส่งผลให้มีน้ำตาลตกค้างอยู่ในกระแสเลือดในปริมาณมาก และหากไม่มีการดูแลรักษาอย่างถูกต้องก็จะนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ มากมาย


โดยทั่วไป โรคเบาหวานแบ่งออกเป็น2 ประเภท ได้แก่ เบาหวานประเภทที่หนึ่ง และเบาหวานประเภทที่สอง ซึ่ง ผศ. นพ.วราภณอธิบายต่อว่า “เบาหวานประเภทที่หนึ่งนั้นพบค่อนข้างน้อยประมาณร้อยละ 5 ของผู้ป่วยเบาหวานไทย เบาหวานประเภทนี้เกิดจากการที่ตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้เลย ผู้ป่วยจำเป็นต้องพึ่งการฉีดอินซูลินอย่างสม่ำเสมอ ไม่เช่นนั้นอาจก่อให้เกิดภาวะขาดอินซูลิน และระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากจนกระทั่งหมดสติ และเสียชีวิตแบบเฉียบพลันได้ โรคเบาหวานประเภทที่หนึ่งมักจะพบในเด็กและวัยรุ่น มีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการที่ภาวะภูมิต้านทานทำลายเซลล์ที่สร้างอินซูลินในตับอ่อน นอกจากนี้ ระดับน้ำตาลที่สูงเรื้อรังจะนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังต่อไป


ส่วนโรคเบาหวานประเภทที่สองเป็นชนิดที่พบได้บ่อยคิดเป็นร้อยละ 95 ของผู้ป่วยเบาหวานไทยโดยเฉพาะในกลุ่มคนอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป “เบาหวานประเภทที่สองเกิดจากการที่ตับอ่อนของผู้ป่วยไม่สามารถสร้างอินซูลินให้เพียงพอ และร่างกายมีภาวะดื้ออินซูลิน” ผศ. นพ. วราภณกล่าว “เบาหวานประเภทนี้มักไม่พบอาการอันตรายอย่างเฉียบพลันเหมือนแบบแรก แต่หากไม่มีการควบคุมให้ดีก็จะนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังที่เป็นอันตรายอย่างเฉียบพลันได้เช่นกัน”

คุณเป็นเบาหวานหรือไม่

การตรวจสอบว่าเป็นโรคเบาหวานหรือไม่ ทำได้โดยการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดซึ่งเป็นวิธีที่ง่าย และ ได้ผลดี การวินิจฉัยโรคเบาหวานสามารถทำได้โดยอาศัยเกณฑ์การวินิจฉัยดังนี้

มีระดับน้ำตาลในเลือดขณะงดอาหารและเครื่องดื่มอย่างน้อย 8 ชั่วโมง มากกว่าหรือเท่ากับ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
มีอาการของโรคเบาหวาน ร่วมกับระดับน้ำตาลในเลือดเวลาใดก็ตามมีค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
มีระดับน้ำตาลในเลือด มากกว่าหรือเท่ากับ 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ณ 2 ชั่วโมง ภายหลังทดสอบความทนต่อน้ำตาลกลูโคส 75 กรัมที่รับประทานเข้าไป
มีระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสม (HbA1c) มากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 6.5 ขึ้นไป

“หากผลการตรวจหลังงดอาหารและเครื่องดื่มแล้ว ปรากฏว่ามีน้ำตาลอยู่กระแสเลือด 100-125 มิลลิกรัม/เดซิลิตร เดี๋ยวนี้ก็ถือว่าเริ่มผิดปกติ และมีแนวโน้มว่าจะเป็นเบาหวานเต็มขั้น หากไม่รีบปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปล่อยให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน ๆ เป็นที่มาของภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เมื่อประกอบกับภาวะ น้ำหนักเกิน ไขมันสูงและความดันโลหิตสูง ย่อมส่งผลเสียต่อโครงสร้าง และการทำงานของหลอดเลือดทำให้ อวัยวะต่าง ๆ ค่อย ๆ เสื่อมหน้าที่ลง” ผศ. นพ. วราภณกล่าว

อยู่กับเบาหวานอย่างสบายใจ

สำหรับการดูแลและรักษาโรคเบาหวานนั้น ผศ. นพ. วราภณอธิบายว่าการรักษาเบาหวานประเภทที่สอง หากโรคยังอยู่ในระยะเริ่มต้น ก็สามารถอาศัยการควบคุมอาหาร ลดน้ำหนัก และออกกำลังกายได้ แต่ถ้าเป็นมากขึ้นก็ต้องให้รับประทานยาควบคู่กันไป ส่วนในรายที่ใช้ยาเม็ดแล้วไม่ได้ผลก็ต้องพึ่งยาฉีดอินซูลินเช่นเดียวกับผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่หนึ่ง ซึ่งจำเป็นต้องเรียนรู้การฉีดอินซูลินด้วยตนเอง เพราะต้องฉีดเองที่บ้านเป็นประจำทุกวัน

เป้าหมายในการรักษาโรคเบาหวานอยู่ที่การควบคุมน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิต ไขมันในเลือด และน้ำหนักตัวให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน ทั้งนี้ ก็เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี และอายุที่ยืนยาวขึ้นของผู้ป่วยนั่นเอง

“หากผู้ป่วยปรารถนาจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี ผู้ป่วย และผู้ดูแลควรมีความเข้าใจว่าเป้าหมายการรักษาคืออะไร และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างถูกต้อง และสม่ำเสมอ ถ้าทำได้ก็จะสามารถอยู่กับเบาหวานอย่างสบายใจ และสบายกายมากขึ้น
ผศ. นพ. วราภณกล่าวปิดท้าย

อาการของเบาหวานที่ต้องสังเกต

เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูง คุณอาจมีอาการดังต่อไปนี้

ปัสสาวะบ่อยทั้งกลางวันและกลางคืน
กระหายน้ำ เนื่องจากสูญเสียน้ำมากจากการปัสสาวะ 
อ่อนเพลีย และน้ำหนักลดเนื่องจากร่างกายนำน้ำตาลไปใช้ไม่ได้
หิวบ่อย รับประทานเก่งขึ้น
คันตามตัว ติดเชื้อได้ง่าย เป็นเชื้อรา ตกขาวบ่อย
ตาพร่า เห็นภาพไม่ชัด เห็นภาพซ้อน
ขาชาอันเนื่องมาจากปลายประสาทเสื่อม
ใครบ้างที่เสี่ยงเบาหวาน!

คุณมีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานประเภทที่ 2 รวมทั้ง โรคแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคไตเรื้อรัง และ โรคหลอดเลือดสมอง หากคุณ

อายุเกิน 40 ปีขึ้นไป
มีประวัติครอบครัวโรคเบาหวาน
เป็นผู้มีน้ำหนักเกิน หรือมีดัชนีมวลกายมากกว่า 25
มีความดันโลหิต หรือมีน้ำตาลในเลือดสูง (เป็นโรคใดโรคหนึ่ง ความเสี่ยงต่ออีกโรคก็เพิ่มขึ้น) มีระดับไขมันในเลือดสูง
สตรีที่มีประวัติเบาหวานขณะตั้งครรภ์หรือน้ำหนักบุตรแรกคลอดมากกว่า 4 กก.
ไม่ออกกำลังกาย ดื่มสุรา และ/หรือสูบบุหรี่
ปรับนิสัย เปลี่ยนอาหาร รับมือความดัน และเบาหวาน

กุญแจสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน ควบคุมและอยู่กับโรคได้อย่างมีความสุข ได้แก่ การควบคุมเรื่องการรับประทานอาหาร และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมซึ่งเรามีคำแนะนำ ดังต่อไปนี้

 

เลือกรับประทานอาหารจำพวกแป้งจากธัญพืชที่ไม่ขัดสี ในปริมาณที่พอเหมาะ
พยายามงดอาหารรสจัด ไม่ว่าจะเป็นหวาน มัน หรือเค็ม
รับประทานผัก และผลไม้ที่ไม่หวานจัดเพื่อเพิ่มกากใยอาหาร
ควบคุมน้ำหนัก
งดสูบบุหรี่ และงดดื่มสุรา
ออกกำลังกายเป็นประจำในแบบแอโรบิควันละ30 นาที 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ตามคำแนะนำของแพทย์
รับประทานยาเพื่อควบคุมความดันโลหิต หรือเบาหวานตามคำแนะนำของแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
ระวังอย่ารับประทานยาใด ๆ เองโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ โดยเฉพาะยากลุ่มที่เป็นเสตียรอยด์ ยาฮอร์โมน หมั่นศึกษาหาความรู้ในการดูแลตนเอง
ทำจิตใจให้สงบ และผ่อนคลายความเครียด ไม่โกรธ หรือโมโหง่าย