ความดันโลหิตสูง

วันอังคารที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560
image
 

โรคความดันโลหิตสูง คืออะไร สาเหตุ อาการ การรักษา และการป้องกันตัวเองจากโรคความดันโลหิตสูง

หากเอ่ยถึงเรื่องสุขภาพ แน่นอนว่าย่อมมาควบคู่กับโรคภัยไข้เจ็บเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งจะตีเสมอคู่กันมา จะแซงหน้าขึ้นไป หรือตามหลังอยู่ลิบๆ ก็ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาสุขภาพของแต่ละคน อย่างโรคความดันโลหิตสูงที่ส่วนใหญ่มักเป็นในผู้สูงอายุ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนอายุน้อยจะไม่มีโอกาสเป็น ซึ่งในความเป็นจริงแล้วโรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนและทุกช่วงอายุ

โรคความดันโลหิตสูงคืออะไร 

โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension) คือ โรคที่เกิดจากภาวะความดันในหลอดเลือดแดงสูงกว่าปกติ ทำให้หัวใจเกิดการบีบตัวเพื่อสูบฉีดเลือดในร่างกายให้ไหลเวียนไปตามหลอดเลือดต่างๆ ซึ่งโดยปกติอัตราการเต้นของหัวใจจะอยู่ที่ 60 – 80 ครั้งต่อนาที

ส่วนความดันนั้นจะเพิ่มหรือลดก็ขึ้นอยู่กับการบีบหรือคลายตัวของหัวใจเรานี่แหละ โดยมีปัจจัยเป็นตัวกระตุ้นอย่างความเครียด การออกกำลังกาย หรือการนอนหลับ ซึ่งปกติค่าความดันของเราจะอยู่ที่ประมาณ 120 – 80 มิลลิเมตรปรอท และไม่ควรเกิน 140 – 90 มิลลิเมตรปรอท โดยภาวะที่เกินนี้เองที่เราเรียกว่า โรคความดันโลหิตสูง ในปัจจุบันถือว่าโรคความดันโลหิตสูงนี้เป็นโรคหนึ่งในกลุ่มโรค NCDs

สาเหตุของโรคความดันโลหิตสูง

โรคความดันโลหิตสูงมีทั้งแบบปฐมภูมิ (Primary Hypertension) ที่มีสาเหตุมาจากโรคอื่น อาทิ ภาวะไตวาย เนื้องอกในสมอง ภาวะครรภ์เป็นพิษ หรือเนื้องอกที่ต่อมหมวกไต เป็นต้น ตลอดจนการได้รับสารหรือยาบางชนิดเข้าสู่ร่างกายก็เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคความดันโลหิตสูงในกลุ่มนี้ ซึ่งพบได้ประมาณร้อยละ 5 – 10 และแบบไม่ทราบสาเหตุ (Essential Hypertension) โดยคนส่วนใหญ่มักเป็นโรคความดันโลหิตสูงแบบไม่ทราบสาเหตุกันเยอะถึงประมาณร้อยละ 90 – 95 เลยทีเดียว โดยมีปัจจัยเสริมที่ก่อให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงอย่างอายุ เวลา จิตใจ อารมณ์ เชื้อชาติ กรรมพันธุ์ รวมทั้งสิ่งแวดล้อม ตลอดจนปริมาณเกลือที่เรารับประทานเข้าสู่ร่างกาย เหล่านี้ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงขึ้นได้ และโดยส่วนใหญ่มักเป็นการตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจสุขภาพ หรือตรวจด้วยโรคอื่น เป็นต้น
 

อาการของโรคความดันโลหิตสูง

โดยผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่จะถูกคุกคามจากภัยเงียบของโรคความดันโลหิตสูงนี้กันมาก เพราะมักไม่มีอาการแสดงใดๆ ทำให้ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงนี้นิ่งนอนใจคิดว่าไม่มีอันตรายร้ายแรงอะไร ทำให้กว่าจะรู้ว่าตัวเองเป็นโรคความดันโลหิตสูงก็อาจสายเกินแก้ ส่วนอาการของโรคความดันโลหิตสูง คือ ในช่วงเช้ามักปวดศีรษะบริเวณท้ายทอย รู้สึกเวียนศีรษะแบบหมุนๆ และมีเสียงหึ่งๆ ในหู หรือมีอาการหน้ามืด เป็นลม คลื่นไส้อาเจียน รู้สึกเหนื่อยง่าย และอาจถึงขั้นมีเลือดกำเดาออก เป็นต้น อาการโรคความดันโลหิตสูงเหล่านี้มักแสดงออกมาเมื่อเป็นมากหรือเป็นนานแล้ว

การรักษาโรคความดันโลหิตสูง

สำหรับโรคความดันโลหิตสูงนี้ถือเป็นโรคเรื้อรังที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมหรือป้องกันให้อยู่ในภาวะปกติได้ โดยแพทย์จะให้ยาคลายเครียดหรือยาลดความดันโลหิตซึ่งมีทั้งชนิดฉีดและชนิดรับประทาน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการความดันโลหิตสูง ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยตามอาการของความดันโลหิตสูง
 

ทั้งนี้ แพทย์อาจรักษาจากโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงร่วมด้วย อย่างเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง หรือเนื้องอกต่อมใต้สมอง เป็นต้น โดยเฉพาะโรคไตนั้นเรียกได้ว่าเป็นทั้งปัจจัยที่ส่งผลกระทบโดยตรงและเป็นผลข้างเคียงของโรคความดันโลหิตสูงเลยทีเดียว ซึ่งอันตรายมาก

การรักษาด้วยสมุนไพรลดความดันโลหิตสูง

นอกจากการรักษากับแพทย์โดยตรงแล้ว เรายังสามารถรักษาโรคความดันโลหิตสูงนี้ด้วยสมุนไพรลดความดันโลหิต นับได้ว่าเป็นสมุนไพรใกล้ตัวที่เราสามารถเลือกรับประทานสมุนไพรเหล่านี้ได้ง่ายๆ ซึ่งเป็นตัวช่วยสำคัญในการลดความดันโลหิตสูงได้ดีอีกทางหนึ่งด้วย สำหรับสมุนไพรลดความดันโลหิตมีดังนี้

กระเทียม เป็นสมุนไพรที่ช่วยลดความดันโลหิตได้ดีทีเดียว ซึ่งหารับประทานกันได้ไม่ยาก เรียกได้ว่าแทบทุกมื้ออาหารต้องมีกระเทียมเป็นส่วนประกอบในหลายๆเมนู แต่หลายคนเลือกที่จะเขี่ยออก ไม่รับประทาน ซึ่งนับว่าเสียโอกาสอย่างมากในการควบคุมความดันเลือดของตนเอง

- ใบกะเพรา ถือเป็นวัตถุดิบหลักในเมนูยอดฮิตของคนไทยเลยก็ว่าได้ ทั้งกะเพราหมู กะเพราไก่ กะเพรากุ้ง ฯลฯ ใบกะเพรานี้นอกจากช่วยดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์แล้ว ยังเป็นสมุนไพรลดความดันโลหิตที่ดีมากๆ เลยค่ะ หรือจะรับประทานกันแบบสดๆก็ได้

- ใบบัวบก หลายคนอาจคิดว่าใบบัวบกนี้ไว้สำหรับแก้ช้ำในเพียงอย่างเดียว แต่จริงๆ แล้วยังสามารถช่วยลดความดันโลหิตสูงได้ด้วย เพราะเป็นสมุนไพรที่ช่วยคลายเครียดและทำให้เส้นเลือดฝอยแข็งแรงนั่นเอง

กระเจี๊ยบแดง ในกระเจี๊ยบแดงมีสารแอโธไซยานินที่ช่วยเสริมสร้างให้หลอดเลือดแข็งแรง ช่วยในการลดความดันโลหิตสูงได้ดี

- ตะไคร้ นอกจากเป็นเครื่องปรุงชนิดหนึ่งที่ทำให้อาหารอย่างต้มยำแซบและหอมแล้ว ยังเป็นสมุนไพรลดความดันโลหิตอีกด้วย

- ฟ้าทะลายโจร แม้รสชาติจะขมเอามากๆ แต่ประโยชน์ของฟ้าทะลายโจรนี้มีมากมายจริงๆ ค่ะ และหนึ่งในนั้นก็คือช่วยลดความดันโลหิตสูงได้ดีมากๆ

- ขึ้นฉ่าย เป็นสมุนไพรที่นิยมนำมาปรุงในอาหารรับประทาน ซึ่งเป็นสมุนไพรที่นิยมนำมาใช้เป็นยาช่วยลดความดันโลหิตสูงซึ่งมีมานานกว่า 2,000 ปีเลยทีเดียว

- ขิง เป็นสมุนไพรฤทธิ์ร้อนที่นิยมนำมาปรุงอาหารรับประทาน มีการใช้ขิงในการรักษาโรคมากว่า 5,000 ปีเลยทีเดียว ซึ่งเป็นสมุนไพรที่ช่วยลดความดันโลหิตได้

- มะกรูด เป็นสมุนไพรที่นิยมนำมาปรุงในอาหาร แถมเปี่ยมไปด้วยสรรพคุณทางยา ซึ่งช่วยรักษาโรคความดันโลหิตสูงได้เป็นอย่างดี

- อบเชย นิยมนำมาปรุงในอาหารโดยเฉพาะเมนูพะโล้ เนื่องจากมีกลิ่นหอมหวานช่วยให้รสชาติอาหารดีขึ้น นับเป็นสมุนไพรที่ช่วยลดความดันโลหิตสูงได้ดีชนิดหนึ่ง
การปฏิบัติตนหลังรักษาโรคความดันโลหิตสูง

สำหรับใครที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงแล้ว หลังการรักษากับแพทย์แล้วควรปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัดนะคะ รับประทานยาให้ครบตามแพทย์สั่ง และควรจำกัดอาหารประเภทน้ำตาล แป้ง ไขมัน รวมทั้งอาหารเค็ม นอกจากนี้ควรหมั่นออกกำลังกายอย่าปล่อยตัวให้อ้วนหรือน้ำหนักมาก อย่าเครียดหรือกังวลกับสิ่งต่างๆ จนเกินไป ยอมรับกับโรคที่เป็น อย่านำมาบั่นทอนจิตใจของตน
 

ที่สำคัญสำหรับใครที่ดื่มสุราหรือสูบบุหรี่เป็นชีวิตจิตใจควรเลิกสิ่งเหล่านี้เสีย เพราะจะส่งผลกระทบต่อโรคความดันโลหิตสูงได้โดยตรงนะคะ และหากมีอาการผิดปกติใดๆ ควรรีบกลับไปพบแพทย์ทันที อย่างเช่น ปวดศีรษะมาก เหนื่อยมากกว่าปกติ รู้สึกเจ็บแน่นบริเวณหน้าอก ใจสั่น เท้าบวม หรือแขน-ขาอ่อนแรง คลื่นไส้อาเจียน ไปตลอดถึงปากเบี้ยว หรือพูดไม่ชัด เป็นต้น

การป้องกันตนเองจากโรคความดันโลหิตสูง

- ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอในแต่ละวัน และไม่นอนดึกจนเกินไป

- รับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ และครบทั้ง 5 หมู่ ในปริมาณที่เหมาะสมแก่ร่างกาย

- ควรงดอาหารที่มีรสเค็มจัด

- ออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน และเลือกออกกำลังกายให้เหมาะสมแก่ตนเอง

- รักษาสุขภาพจิตให้อารมณ์ดี ยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่เครียด

- ควรหมั่นไปตรวจเช็กสุขภาพประจำปี