การป้องกันโรคที่เกิดในฤดูร้อน

วันอังคารที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2564
การป้องกันโรคที่เกิดในฤดูร้อน
          กรุงเทพมหานครมีความห่วงใยในสุขภาพและอนามัยของประชาชนในช่วงฤดูร้อน ด้วยอากาศที่ร้อนและแห้งแล้งจึงเหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อโรค ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดของโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ ประชาชนจึงควรระมัดระวังดูแลในเรื่องความสะอาดของอาหารและน้ำอุปโภคบริโภค โดยการรับประทานอาหารร้อนที่ปรุงสุกใหม่ๆ ใช้ช้อนกลาง ล้างมือทุกครั้งก่อนปรุงอาหาร ก่อนทานอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง และเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคที่มากับฤดูร้อน จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงอาการสำคัญและวิธีการป้องกันโรคที่เกิดในฤดูร้อน ดังนี้
 
 
โรคติดต่อทางอาหารและน้ำ
 
 

          1. โรคอุจจาระร่วง เกิดจากการรับประทานอาหาร หรือ ดื่มน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อน อาการสำคัญ คือ ถ่ายอุจจาระเหลว 3 ครั้งขึ้นไปใน 1 วัน ถ่ายเป็นน้ำจำนวนมาก หรือ ถ่ายอุจจาระมีมูกปนเลือด ผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงอาจมีไข้ หรืออาเจียนร่วมด้วย
          2. โรคอาหารเป็นพิษ เกิดจากการรับประทานอาหาร หรือน้ำที่มีการปนเปื้อนของสารพิษที่ผลิตจาก
เชื้อโรคเข้าไป สารพิษดังกล่าวมักพบในอาหารที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ รวมทั้งอาหารกระป๋อง อาหารทะเล และน้ำนมที่
ยังไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อ อาหารที่ทำไว้ล่วงหน้านานๆ และไม่ได้รับการอุ่นร้อนก่อนรับประทาน อาการที่สำคัญของโรคอาหารเป็นพิษ ได้แก่ มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง อ่อนเพลีย และอาจมีถ่ายเหลวร่วมด้วย
          3. โรคบิด เกิดจากการรับประทานอาหาร ผักดิบ หรือน้ำดื่มที่มีเชื้อบิดปนเปื้อนเข้าไป อาการสำคัญ คือ มีไข้ ปวดท้องแบบปวดเบ่ง ถ่ายอุจจาระบ่อย อุจจาระมีมูก หรือมูกปนเลือด
          4. โรคอหิวาตกโรค เกิดจากการรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำที่มีเชื้ออหิวาตกโรคปนเปื้อน อาการที่สำคัญ คือ ถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำซาวข้าวคราวละมากๆ โดยไม่มีอาการปวดท้อง ผู้ป่วยจะอาเจียน กระหายน้ำ กระสับกระส่าย อ่อนเพลีย ตาลึกโหล ปัสสาวะน้อย หากเสียน้ำมากผู้ป่วยอาจหมดสติ และเสียชีวิตได้
          5. โรคไข้ไทฟอยด์ หรือ โรคไข้รากสาดน้อย เกิดจากการรับประทานอาหาร และดื่มน้ำที่ปนเปื้อน
เชื้อไทฟอยด์จากอุจจาระหรือปัสสาวะของผู้ป่วย หรือผู้ที่เป็นพาหะโรคไทฟอยด์ อาการที่สำคัญ คือ มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกาย เบื่ออาหาร ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการท้องอืดหรือท้องเสียได้ ผู้ป่วยและผู้ที่เป็นพาหะนำโรคไข้ไทฟอยด์ ควรหลีกเลี่ยงการประกอบอาหารให้ผู้อื่นรับประทาน เนื่องจากอาจทำให้เกิดการระบาดของโรค
ไข้ไทฟอยด์ได้
  •  
 
  1. ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ ก่อนรับประทานอาหาร ก่อนเตรียมอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง
  2. กินอาหารที่ปรุงสุกสะอาดใหม่ๆ
  3. ดื่มน้ำสะอาด หรือน้ำต้มสุก รวมทั้งเลือกซื้อน้ำแข็งที่สะอาด
  4. อุ่นอาหารให้ร้อนก่อนรับประทาน
  5. ใช้ฝาชีครอบอาหาร หรือใส่ตู้กับข้าวให้มิดชิด
  6. ล้างผัก และผลไม้หลายๆ ครั้งให้สะอาด
  7. ทำความสะอาดอุปกรณ์ทำครัวก่อนใช้ และรักษาความสะอาดของห้องครัว
  8. ถ่ายอุจจาระลงในห้องส้วมที่ถูกสุขลักษณะ
  9. ใช้ถังขยะที่มีฝาปิด เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์นำโรค
  10. กำจัดขยะมูลฝอย และสิ่งปฏิกูลให้ถูกต้องและทิ้งในที่ที่เหมาะสม
 
 
 
 
โรคที่เกิดกับสัตว์เลี้ยงในช่วงฤดูร้อน
 
 

          6. โรคพิษสุนัขบ้า หรือ โรคกลัวน้ำ เกิดจากสัตว์ที่มีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า กัด ข่วน หรือ เลียผิวหนังคนบริเวณที่มีแผล สัตว์พาหะนำโรคที่สำคัญที่สุด ได้แก่ สุนัข แมว ลิง ชะนี กระรอก กระแต เป็นต้น เมื่อคนได้รับเชื้อแล้ว จะมีอาการปรากฏภายใน 15 – 60 วัน บางรายอาจน้อยกว่า 10 วันหรือนานเป็นปี ผู้ป่วยที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าต้องเสียชีวิตทุกราย ดังนั้นวิธีการป้องกันการได้รับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า เพื่อความปลอดภัยของตัวท่านเองและ
คนรอบข้าง มีหลักปฏิบัติดังนี้
                   1. นำสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างน้อยปีละครั้ง ฉีดวัคซีนเข็มแรกเมื่อสัตว์เลี้ยงอายุ 2 – 4 เดือน
                   2. ระวังบุตรหลาน ไม่ให้เล่นคลุกคลีกับสัตว์เลี้ยงที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน
                   3. เมื่อถูกสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกัด ให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง
ใส่ยาฆ่าเชื้อ และรีบไปโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้บ้านท่านโดยเร็ว เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่ถูกต้อง และควรกักขังสุนัข หรือแมวที่กัดไว้เพื่อดูอาการอย่างน้อย 10 วัน ถ้าสัตว์ตายในระหว่างนี้ให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งสัตว์ที่ตายไปตรวจโรคพิษสุนัขบ้า
 
 
 
กรณีข้อควรระวังอื่นๆ
 
 
 

          7. โรคลมแดด (Heat Stroke) เกิดจากร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไปจนทำให้ความร้อนในร่างกาย สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส อาการที่สำคัญ ได้แก่ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ไม่มีเหงื่อออก กระหายน้ำมาก ตัวร้อนขึ้นเรื่อยๆ หายใจเร็ว ความดันโลหิตต่ำ หากไม่ได้รับการดูแลอย่างทันท่วงทีอาจทำให้หมดสติและเสียชีวิตได้
วิธีป้องกันโรคลมแดด     - ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6- 8 แก้ว
                                      - ใส่เสื้อผ้าสีอ่อน ผ้าโปร่งสบาย ระบายอากาศได้ดี
                                      - สวมแว่นกันแดด กางร่ม ทาครีมกันแดด SPF 15 ขึ้นไป
                                      - หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดด
                                      - หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์
                                      - เลือกออกกำลังกายช่วงเช้าและเย็น
         
 
 

 
กลุ่มงานโรคติดต่อทั่วไป  กองควบคุมโรคติดต่อ  สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร โทร. 0 2203 2887 - 9