วิธีการดูแลลูกสะบ้าที่หัวเข่าหลุด
ข้อสะบ้า-กระดูกต้นขา เป็นข้อหนึ่งในสามข้อซึ่งหลุดซ้ำได้ง่ายที่สุด อีก 2 ข้อคือ ข้อไหล่ และข้อเท้า ข้อสะบ้า-กระดูกต้นขาผิดกับอีก 2 ข้อ ที่ความไม่มั่นคงของข้อสะบ้า -กระดูกต้นขามักเกิดจากปัจจัยแต่กำเนิดมากกว่าเกิดจากภยันตรายครั้งแรก
พยาธิกายวิภาค ในรายที่สะบ้าหลุด การเคลื่อนจะไปทางด้านข้างเสมอ โดยสะบ้าเลื่อนไปบนแลเทอรัล คอนดาล์ยของกระดูกต้นขา ขณะที่เข่างอ ปัจจัย 4 อย่างที่ช่วยให้เกิดการหลุดซ้ำ คือ
(1) เอ็นข้อทั่วไปหย่อน (Double jointedness) ซึ่งอาจเป็นการผิดปรกติทางพันธุกรรม
(2) แลเทอรัล คอนดาล์ยของกระดูกต้นขาเจริญน้อยกว่าปรกติกับร่องระหว่างคอนดาล์ยตื้น
(3) ตำแหน่งสะบ้าอยู่สูงผิดปรกติ จึงไม่ได้อยู่ลึกมากในร่องระหว่าง คอนคาล์ยเหมือนปรกติ
(4) เจนู วาลกุม ทำให้แนวดึงของกล้ามเนื้อควอดริเซพส์อยู่ทางด้านข้างมากเกินไป แต่ปัจจัยนี้สำคัญน้อย
ลักษณะทางคลินิค สะบ้าหลุดซ้ำพบในเด็กผู้หญิงบ่อยมากกว่าในเด็กผู้ชาย และมักพบเป็นทั้ง 2 ข้าง โดยทั่วไปภาวะนี้ตั้งต้นเกิดขึ้นตอนเป็นหนุ่มสาว หรือตอนเริ่มโตเป็นผู้ใหญ่ การหลุดเกิดขึ้นขณะที่คนไข้งอเข่า แต่ไม่เป็นการงอที่รุนแรง ขณะที่เข่างอจะปวดด้านหน้าของเข่าอย่างมากทันที และคนไข้ไม่สามารถเหยียดเข่าได้ ส่วนมากสะบ้าหลุดนั้น จะได้รับการดึงให้เข้าที่เดิมทันที โดยตัวคนไข้เองหรือชาวบ้านที่มาพบ
การตรวจขณะที่สะบ้าหลุด จะพบว่า เข่าบวมและสะบ้าเคลื่อนไป อยู่ด้านข้างของแลเทอรัล คอนดาล์ยของกระดูกต้นขา หลังจากดึงให้เข้าที่แล้ว อาการที่พบชัดเจนคือ มีน้ำในข้อเป็นสีเลือดและกดเจ็บทางด้านในของสวนแผ่ของเอ็นควอดริเซพส์ (Quadriceps Expansion) ซึ่งมักจะตึง หรือฉีกขาด อาจพบการผิดปรกติทางกายวิภาคที่กล่าวแล้วอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะมักจะพบเอ็นข้อทั่วไปหย่อน คือคนไข้สามารถเหยียดเข่าได้มาก กว่าธรรมดา (Genu Recurvatum) และยังพบได้ที่ข้อมือหรือข้อนิ้ว ภาวะเอ็นข้อทั่วไปหย่อนนี้อาจพบได้ในบิดามารดาหรือญาติของคนไข้ หลังจากการดึงเข้าที่แลว ภาพรังสีจะแสดงลักษณะปรกติ แต่โดยทั่วไปแล้วสะบ้า จะอยู่สูงกว่าระดับปรกติเล็กน้อย และมักจะเป็นทั้ง 2 ข้าง
การดำเนินโรค สะบ้าหลุดแล้วครั้งหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องหลุดซ้ำอีก ฉะนั้น คนไข้บางคนจะไม่เป็นซ้ำอีกหลังจากสะบ้าหลุด 1-2 ครั้ง แต่หลายรายมีการหลุดซ้ำง่ายและบ่อยขึ้น ทำให้เป็นอุปสรรคแก่คนไข้อย่างมาก การหลุดซ้ำบ่อยๆ ทำให้เกิดออสตีโออาร์ไธรติสในระยะหลังง่ายขึ้น
การรักษา หลังจากสะบ้าหลุด คนไข้ควรจะได้รับการรักษาโดยทางกายภาพบำบัดระยะหนึ่ง เพื่อทำให้กล้ามเนื้อควอดริเซพส์แข็งแรง โดยเฉพาะวาสตัส มีเดียลิส
ถ้ามีการหลุดซ้ำบ่อย ทำให้เป็นอุปสรรคแก่คนไข้ ก็ควรแนะนำรักษาโดยวิธีศัลยกรรม วิธีที่ควรทำก็คือเปลี่ยนที่เกาะปลายของเอ็นสะบ้า ไปทางด้านในและต่ำกว่าที่เดิมบนกระดูกทิเบีย โดยวิธีนี้สะบ้าจะถูกดึงต่ำลงไปอยู่ในร่องระหว่างคอนดาล์ยของกระดูกต้นขา และแนวดึงของควอดริเซพส์เลื่อนไปอยู่ทางด้านในมากขึ้น
อีกวิธีหนึ่งซึ่งได้ผลน้อย คือศัลยกรรมตัดเอาสะบ้าออก โดยบางคนบอกว่าได้ผลดีในระยะยาว เนื่องจากลดการเกิดออสตีโออาร์ไธรติส แต่ก็ยังไม่มีการยืนยันแน่นอน