โรคไวรัสซิก้า

วันจันทร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
image
ไวรัสซิกา (Zika Virus) คือ เชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคไข้ซิกา (Zika Fever) หรือโรคติดเชื้อไวรัสซิกา (Zika Virus Disease) ที่เพิ่งเป็นที่รู้จักไม่มากนักในประเทศไทย แต่ทั่วโลกมีการเฝ้าระวังไวรัสชนิดนี้มานาน โดยมีการค้นพบเชื้อชนิดนี้เป็นครั้งแรกในลิงรีสัส (Rhesus) เมื่อปี พ.ศ. 2490 ที่ป่าซิกา ในประเทศยูกันดา จากนั้นจึงมีการแพร่กระจายของโรคไข้ซิกาไปทั่วทวีปแอฟริกา และพบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นในหลายทวีปทั่วโลก
ไวรัสซิกาเป็นเชื้อไวรัสในกลุ่มเฟลวิไวรัส (Flavivirus) ตระกูลเดียวกับเชื้อไข้เลือดออกหลายชนิด เช่น เชื้อไวรัสเดงกี่ (Dengue Virus) ที่ก่อให้เกิดโรคไข้เลือดออก, เชื้อไวรัสไข้เหลือง (Yellow Fever Virus) ที่ทำให้เกิดโรคไข้เหลือง, เชื้อไวรัสเจอี (Japanese Encephalitis Virus) ก่อให้เกิดโรคไข้สมองอักเสบ และเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์ (West Nile Virus) ต้นเหตุของโรคไข้สมองอักเสบ เป็นต้น ซึ่งเชื้อไวรัสเหล่านี้มียุงลาย (Aedes) เป็นพาหะนำโรค ทำให้มีการติดต่อได้ง่าย สามารถแพร่กระจายไปได้อย่างรวดเร็ว
สำหรับในประเทศไทย ตามรายงานของกระทรวงสาธารณสุขพบว่ามีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสซิกาครั้งแรกในปี พ.ศ. 2555 และพบผู้ป่วยที่ยืนยันการติดเชื้อไวรัสซิกาเฉลี่ยปีละ 1-5 ราย กระจายอยู่ทั่วภูมิภาคของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่เป็นหญิงตั้งครรภ์ที่มีเชื้อชนิดนี้ ซึ่งเชื้ออาจส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ผ่านทางสายเลือดได้ จึงมีการประกาศให้โรคไข้ซิกาเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เนื่องจากเป็นโรคที่เกิดการระบาดขึ้นใหม่และยังไม่มีวัคซีครักษาโรคที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
อาการของโรคติดเชื้อไวรัสซิกา   
อาการที่พบมีความคล้ายคลึงกับโรคในกลุ่มที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค เช่น โรคไข้เลือดออก โรคชิคุนกุนยา โรคไข้เหลือง ฯลฯ อาการจะคงอยู่ประมาณ 2-7 วัน แต่ไม่มีอาการร้ายแรงจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และแทบไม่พบการเสียชีวิตด้วยโรคนี้ จึงทำให้ผู้ป่วยไม่ระมัดระวังว่าตนเองกำลังได้รับเชื้อไวรัสซิกาอยู่ในร่างกาย ซึ่งผู้ป่วยที่ติดเชื้อจะมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว หรือมีไข้เล็กน้อย ร่วมกับอาการดังต่อไปนี้
มีผื่นแดง (Maculopapular) ตามลำตัว แขน และขา  อ่อนเพลีย ปวดศีรษะตาแดง บริเวณดวงตามีอาการอักเสบของเยื่อบุตาอาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ  
สาเหตุของโรคติดเชื้อไวรัสซิกา
สาเหตุหลักของการติดเชื้อ เกิดจากการโดนยุงลายที่มีเชื้อไวรัสซิกากัด โดยเฉพาะยุงลายบ้าน (Aedes aegypti) และยุงลายสวน (Aedes albopictus) ที่มีชุกชุมในประเทศเขตร้อนอย่างประเทศไทย และยังเป็นยุงประเภทเดียวกับพาหะของโรคไข้เลือดออกและโรคชิคุนกุนยา นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้ในหลายกรณีที่เชื้อสามารถแพร่กระจายด้วยวิธีอื่น ซึ่งยังต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป เนื่องจากมีข้อมูลเพียงเล็กน้อย เช่น
การติดเชื้อจากแม่สู่ลูกขณะตั้งครรภ์หรือคลอด กรณีที่แม่มีเชื้อไวรัสชนิดนี้อยู่อาจส่งผ่านไวรัสไปสู่ทารกในครรภ์ ทำให้ทารกเสี่ยงต่อภาวะศีรษะเล็กแต่กำเนิด (Microcephaly) และโรคทางสมองที่ร้ายแรง  เนื่องจากสมองของทารกหยุดพัฒนาตั้งแต่ในครรภ์ หรือหยุดพัฒนาเมื่อคลอด จึงทำให้ศีรษะมีขนาดเล็กลงตามสมองไปด้วย ทารกที่เกิดภาวะนี้ขึ้นจะมีพัฒนาการช้าในทุกด้าน มีปัญหาทางด้านการได้ยิน การมองเห็น การเคลื่อนไหวร่างกาย หรือการรับประทานอาหาร ฯลฯ
การแพร่เชื้อผ่านทางเพศสัมพันธ์ เชื้อไวรัสซิกา สามารถอยู่ในน้ำอสุจิได้นานกว่าของเหลวอื่น ๆ ในร่างกาย เช่น สารคัดหลั่งภายในช่องคลอด ปัสสาวะ และในเลือด
การแพร่เชื้อผ่านการบริจาคเลือด ผู้รับบริจาคเลือดพบโอกาสเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อไวรัสชนิดนี้จากการรับบริจาคเลือดจากผู้บริจาคที่มีเชื้อไวรัสซิกา แต่ยังพบได้น้อย ดังนั้นจึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำทั่วไปสำหรับการบริจาคเลือด เพื่อความปลอดภัย
การวินิจฉัยโรคติดเชื้อไวรัสซิกา
โรคที่มียุงลายเป็นพาหะเหล่านี้มักมีอาการที่คล้ายคลึงกันมาก จึงยากต่อการแยกโรคในเบื้องต้นว่าผู้ป่วยเป็นโรคใด แต่มีอาการบางอย่างเป็นตัวบอกความแตกต่างในแต่ละโรคได้
โรคไข้ซิกา ยังไม่พบอาการที่ชัดเจน แต่มักมีผื่นที่ผิวหนัง และบางส่วนมีเยื่อบุตาอักเสบจนทำให้ตาแดง
โรคไข้เลือดออก มีไข้สูง อาการปวดกล้ามเนื้อที่รุนแรง และอาการแทรกซ้อนเมื่อไข้เริ่มลด เช่น มีเลือดออกบริเวณตามผิวหนัง เลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาไหล เป็นต้น
โรคชิคุนกุนยา มีไข้สูง อาการปวดข้ออย่างรุนแรง ปวดตามมือ เท้า หัวเข่า และหลัง จนทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถดำเนินกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติได้
แพทย์จะวินิจฉัยโรคเบื้องต้นด้วยการซักถามประวัติ ลักษณะอาการของโรค ประวัติการเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงหรือการอาศัยอยู่ในพื้นที่มีการระบาดของโรค และการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการร่วมด้วย เพื่อยืนยันการติดเชื้อได้แม่นยำมากขึ้น ซึ่งการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ สามารถทำได้หลายวิธี
การตรวจสารพันธุกรรมด้วยวิธีพีซีอาร์ (Virological PCR tests) สามารถตรวจพบเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพหากตรวจภายใน 3-5 วันแรกหลังจากมีอาการของโรค โดยเก็บตัวอย่างเชื้อจากการส่งตรวจซีรัม (Serum) พลาสมา หรือปัสสาวะ แต่ในกรณีผู้ป่วยมีอาการในช่วง 5-14 วัน แพทย์จะสามารถตรวจได้จากปัสสาวะ
การตรวจหาภูมิต้านทานต่อเชื้อหรือแอนติบอดีด้วยวิธีอิไลซ่า (Elisa) เพื่อหาภูมิคุ้มกันที่จำเพาะต่อไวรัสซิกา โดยการเก็บตัวอย่างเลือด 2 ครั้ง และมีระยะการเก็บห่างกันประมาณ 1 เดือน
การตรวจปัสสาวะ และสารคัดหลั่งในร่างกาย เช่น น้ำลาย
การรักษาโรคติดเชื้อไวรัสซิกา
ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนหรือยาในการรักษาโรคนี้โดยเฉพาะ แพทย์จะทำการรักษาตามอาการของผู้ป่วยที่พบเป็นหลัก นอกจากนี้ยังแนะนำให้ผู้ป่วยปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ  
นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
รับประทานยาพาราเซตามอล ในกรณีที่เป็นไข้หรือมีอาการปวด
ห้ามรับประทานยาแอสไพริน ยาบรรเทาอาการปวดหรืออักเสบในกลุ่ม NSAIDs เพราะอาจทำให้เกิดเลือดออกในอวัยวะได้ง่ายขึ้น
สำหรับหญิงตั้งครรภ์ควรเข้ารับการฝากครรภ์ และพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นกับทารกอย่างใกล้ชิด โดยมีการอัลตร้าซาวน์เป็นระยะ เพื่อดูความผิดปกติของทารกในครรภ์ หรือแพทย์อาจพิจารณาการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติม ในกรณีที่แม่อยู่ในช่วงระหว่างการให้นมบุตร ทารกสามารถรับนมแม่ได้ตามปกติ เนื่องจากในน้ำนมแม่มีสารอาหารและภูมิคุ้มกันที่สำคัญต่อทารก อีกทั้งยังไม่พบข้อมูลมากพอยืนยันเรื่องการแพร่เชื้อชนิดนี้ผ่านทางการให้นมแม่
ภาวะแทรกซ้อนของโรคติดเชื้อไวรัสซิกา
พบผู้ป่วยในโรคกลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร (Guillain-Barre Syndrome : GBS) มากขึ้นในพื้นที่ที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสซิกา ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจเกี่ยวข้องกับเชื้อไวรัสซิกา แต่ยังไม่พบสาเหตุการเกิดโรคที่แน่ชัด ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะเกิดการอักเสบของเส้นประสาทอย่างรุนแรง กล้ามเนื้อบนใบหน้ามีความผิดปกติ กล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรง มีอาการบวมชา หรือบางรายที่รุนแรงอาจเป็นอัมพาตได้
การป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสซิกา
โรคไข้ซิกาเกิดจากยุงลายเป็นสาเหตุหลัก การป้องกันและควบคุมโรคจึงควรกระทำด้วยวิธีการดังนี้
ป้องกันตนเองจากการโดนยุงกัดด้วยการทายากันยุง สวมผ้าสีอ่อนหรือเนื้อหนา
เมื่ออาศัยอยู่ในบ้าน ควรใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันยุง ปิดประตู กางมุ้ง หรือใช้ม่านกันยุง
กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบริเวณที่อยู่อาศัยและบริเวณรอบบ้าน เช่น ใช้ฝาปิดหรือครอบภาชนะ คว่ำภาชนะที่มีน้ำขัง หรือใส่ทรายอะเบท (ABATE) ในภาชนะที่มีน้ำต่าง ๆ  
หากมีเพศสัมพันธ์ ควรใช้ถุงยางอนามัย เพื่อลดความเสี่ยงในการได้รับเชื้อ
หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาดของโรค หากจำเป็นต้องเดินทางควรปรึกษาแพทย์ เพื่อขอคำแนะนำในการปฏิบัติตน
สตรีมีครรภ์ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด