มะเร็งเต้านม

วันศุกร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2560
image
สำหรับโรคมะเร็งเต้านมนั้นเรียกได้ว่าเป็นโรคยอดฮิตติดลมบนในผู้หญิงเลยก็ว่าได้ เพราะปัจจุบันมีผู้ที่ป่วยเป็นมะเร็งเต้านมกันมากขึ้น ซึ่งหลายคนอาจเข้าใจผิดคิดว่ามะเร็งเต้านมนั้นสามารถเป็นได้เฉพาะในผู้หญิงเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วโรคมะเร็งเต้านมนั้นสามารถพบได้ในผู้ชายด้วย เพียงแต่พบได้น้อยกว่าผู้หญิงมากนั่นเอง ควรหมั่นเช็กเต้านมด้วยตนเอง หากมีก้อนผิดปกติบริเวณเต้านมเมื่อไหร่ก็ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กทันที
มะเร็งเต้านมคืออะไร
มะเร็งเต้านม (Breast Cancer) คือ การแบ่งตัวของเซลล์ที่ผิดปกติบริเวณเต้านมจนเกิดเป็นก้อนเนื้อร้ายอย่างมะเร็งขึ้น โดยโรคนี้เป็นโรคที่พบได้บ่อยได้ผู้หญิง ถือได้ว่าเป็นอันดับ 2 รองจากโรคมะเร็งปากมดลูกเลยทีเดียวก็ว่าได้ อัตราการพบนั้นในผู้หญิง 10 คน จะพบผู้ที่เป็นโรคมะเร็งเต้านมนี้อยู่ 1 คน โดยอาจเป็นมะเร็งเต้านมที่เกิดร่วมกับท่อน้ำนม หรือที่เกิดกับต่อมน้ำนมก็ได้ ซึ่งนับเป็นโรคที่อันตรายแก่ผู้หญิงอย่างมาก
สาเหตุของโรคมะเร็งเต้านม
– อายุ มักพบในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป
– พบประวัติคนในครอบครัวเคยเป็นโรคมะเร็งเต้านมมาก่อน
– ในผู้หญิงที่ไม่มีบุตร หรือมีบุตรคนแรกหลังอายุ 30 ปีขึ้นไป
– ผู้หญิงที่มีเต้านมขนาดใหญ่ มักเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมกว่าในผู้หญิงที่มีขนาดเต้านมเล็ก
– พบในผู้หญิงที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนอยู่ในระดับสูงกว่าเกณฑ์ปกติ
– พบในผู้หญิงที่รับประทานยาคุมกำเนิดอย่างต่อเนื่องมานานเกิน 10 ปีขึ้นไป
– ในผู้หญิงที่เริ่มใช้ยาคุมกำเนิดตั้งแต่อายุน้อย
– ผู้หญิงที่มีระดูหรือประจำเดือนมาเร็วตั้งแต่ก่อนอายุ 9 ขวบ หรือในผู้หญิงที่อายุ 55 ปีแล้ว แต่ยังมีประจำเดือนอยู่
– ผู้ที่สูบบุหรี่มากกว่า 2 ซองต่อวัน
– ผู้ที่อยู่ในมลภาวะอากาศเป็นพิษที่มีอากาศไม่บริสุทธิ์
– ผู้ที่มีความเครียดสูง หรือเครียดตลอดเวลา
– ผู้หญิงที่ได้รับฮอร์โมนทดแทนในวัยหมดประจำเดือน
อาการของโรคมะเร็งเต้านม
สำหรับผู้ที่เป็นโรคมะเร็งเต้านมในระยะแรกๆ นั้นมักจะไม่มีอาการแสดงใดๆ ที่ผิดปกติเลย จนเมื่ออยู่ในระยะลุกลามจึงเริ่มมีอาการแสดงดังนี้
– มักจะคลำพบก้อนเนื้อแข็งๆ บริเวณเต้านม ใต้ราวนม หรือรักแร้
– บริเวณเต้านมมีการเปลี่ยนแปลงทั้งขนาดและรูปร่างหรือรูปทรง
– รู้สึกเจ็บบริเวณเต้านม และหัวนมจะถูกรั้งยุบเข้าไปในเต้านม
– มีน้ำหรือเลือดไหลออกมาทางหัวนม
– มีอาการรักแร้บวมเนื่องจากต่อมน้ำเหลืองโต
– ผิวบริเวณเต้านมอาจมีอาการหดตัวผิดปกติ มีรอยบุ๋มลงไป หรือย่น แดง และอาจมีสะเก็ดเกิดขึ้น
วิธีการรักษาโรคมะเร็งเต้านม
1. โดยการผ่าตัด ซึ่งมีอยู่ 2 ประเภท คือ ผ่าตัดเอาเต้านมบางส่วนที่เป็นมะเร็งออก และการผ่าตัดเอาเต้านมทั้งหมดออก ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยและดุลยพินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษาเป็นหลัก
2. โดยเคมีบำบัด เป็นการรักษาเพื่อป้องกันมะเร็งไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำอีกหลังการผ่าตัด ตลอดจนควบคุมในรายที่มะเร็งได้แพร่ลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ ของร่างกาย
3. การรักษาด้วยฮอร์โมน เป็นการยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์เนื้อร้าย มักใช้ในกรณีที่ให้ผลบวกต่อฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งวิธีนี้จะทำให้อ้วนขึ้น คันในช่องคลอด มีตกขาว และตั้งครรภ์ได้ง่ายขึ้นด้วย

การป้องกันการเกิดโรคมะเร็งเต้านม
ในปัจจุบันนั้นยังไม่มีวิธีการป้องกันโรคมะเร็งเต้านมได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่สามารถทำการป้องกันได้ในเบื้องต้น ได้แก่
– เริ่มตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเองเมื่อมีอายุ 20 ปีขึ้นไป
– เมื่อมีอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรไปตรวจแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์เป็นประจำทุกปี
– ไม่ดื่มเหล้า และเลิกสูบบุหรี่
– ออกกำลังกายเป็นประจำโดยไม่ต้องหักโหม ซึ่งการออกกำลังกายนี้สามารถลดโอกาสเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมได้ถึงร้อยละ 60 เลยทีเดียว
– รับประทานผักและผลไม้เป็นประจำทุกวัน งดรับประทานอาหารติดมัน หรืออาหารที่มีโซเดียมมาก และอาหารเนื้อแดง
– ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
– นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอในทุกๆ วัน

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าผู้หญิงนั้นมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านมเป็นอย่างมาก ฉะนั้น จึงควรหมั่นตรวจเช็กด้วยตนเองสม่ำเสมอทุกครั้งขณะอาบน้ำก็ได้ โดยเฉพาะในผู้หญิงที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป ควบคู่ไปกับการออกกำลังกาย รับประทานอาหารให้ครบทั้งห้าหมู่ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายเกิดภูมิคุ้มกันโรค ป้องกันให้ห่างไกลจากมะเร็ง