เนื้องอกในสมอง

วันอังคารที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2561
image
          เนื้องอกในสมอง (Brain Tumor) คือ เนื้อที่เกิดจากการเจริญเติบโตอย่างผิดปกติของเซลล์ในสมองหรือบริเวณเนื้อเยื่อและต่อมต่าง ๆ บริเวณใกล้เคียงกับสมอง ซึ่งอาจรบกวนระบบประสาทและการทำงานของสมอง จนทำให้มีอาการต่าง ๆ ตามมา ตั้งแต่ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน มีปัญหาด้านพฤติกรรม บุคลิกภาพ การพูด การได้ยิน การมองเห็น ความจำ ไปจนถึงอาจเกิดอาการชัก เป็นอัมพาตครึ่งซีก หรือลุกลามเป็นมะเร็งในระยะอันตรายได้หากไม่ได้รับการรักษาให้ทันการณ์ โดยเนื้องอกที่เกิดขึ้นในสมองไม่ใช่เนื้อร้ายหรือมะเร็งเสมอไปเนื้องอกในสมองมี 4 ระดับ โดยวัดระดับ 1-4 ตามลำดับการเจริญเติบโตของเนื้องอกและโอกาสในการกลับมาเป็นอีกแม้ได้รับการรักษาแล้ว
ทั้งนี้ เนื้องอกในสมองแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก คือ
เนื้องอกที่เป็นเนื้อธรรมดา (Benign Brain Tumors) เป็นเนื้องอกไม่อันตราย (ระดับ 1-2) มีการเจริญเติบโตช้า ไม่ใช่เซลล์มะเร็ง สามารถรักษาให้หายได้ และมีโอกาสน้อยที่ผู้ป่วยจะกลับมาเป็นอีกหลังการรักษา  
เนื้อเยื่อที่เป็นเนื้อร้าย (Malignant Brain Tumors) เป็นเนื้องอกอันตราย (ระดับ 3-4) มีการเจริญเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติ คือ เซลล์มะเร็ง อาจเกิดขึ้นบริเวณสมอง หรือเซลล์มะเร็งเกิดขึ้นที่อวัยวะอื่นแล้วลามเข้าสู่สมอง เนื้องอกที่เป็นเซลล์มะเร็งจะมีการเจริญเติบโตเรื่อย ๆ อย่างไม่สามารถควบคุมได้ และมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นได้อีกแม้เคยผ่านการรักษาไปแล้ว โดยทั่วไป เนื้องอกที่เป็นเซลล์มะเร็งจะพบได้บ่อยกว่าเนื้องอกที่เป็นเนื้อธรรมดานอกจากนี้ เนื้องอกในสมองมักมีชื่อเรียกแยกตามชนิดของเซลล์ที่เป็นเนื้องอก เช่น เนื้องอกไกลโอมา (Gliomas) เนื้องอกเยื่อหุ้มสมอง (Meningiomas) เนื้องอกเส้นประสาทหู (Acoustic Neuromas) เนื้องอกที่ต่อมใต้สมอง (Pituitary Adenomas และ Craniopharyngiomas) เนื้องอกนิวโรเอ็กโตเดิร์ม (PNETs - Primitive Neuroectodermal Tumors) เนื้องอกเจิร์มเซลล์ (Germ Cell Tumors) และเนื้องอกสมองในเด็ก (Medulloblastomas) ที่ส่วนใหญ่เป็นเนื้อร้ายเกิดบริเวณสมองส่วนหลังแล้วแพร่กระจายผ่านทางน้ำหล่อเลี้ยงไขสันหลัง มักพบมากในเด็ก แต่ก็สามารถเกิดในผู้ใหญ่ได้เช่นกัน
อาการของเนื้องอกในสมอง
นอกจากการมีก้อนเนื้อที่เกิดขึ้นบริเวณสมองแล้ว ยังมีอาการอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมา ซึ่งลักษณะและความรุนแรงของอาการขึ้นอยู่กับขนาดของเนื้องอก บริเวณที่มีเนื้องอก และชนิดของเนื้องอกในสมองด้วย
อาการที่อาจเกิดขึ้นได้จากการมีเนื้องอกในสมอง ได้แก่
ปวดหัวบ่อย ๆ และปวดหัวรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ
คลื่นไส้ อาเจียน ง่วงซึม
พูดจาติดขัด มีความยากลำบากในการพูดสื่อสาร
มีปัญหาการได้ยิน
มีปัญหาในการมองเห็น สูญเสียทัศนวิสัยในการมองเห็น มองเห็นเป็นภาพเบลอ หรือภาพซ้อน
สับสน มึนงง
มีการเปลี่ยนแปลงทางจิตใจ บุคลิกภาพ พฤติกรรม
มีปัญหาด้านความจำ
มีปัญหาการทรงตัว ทรงตัวลำบาก
สูญเสียการรับรู้ของประสาทสัมผัส และการเคลื่อนไหวแขนขา
มีอาการชักทั้งที่ไม่เคยมีประวัติชักมาก่อน
แขนขาอ่อนแรง เป็นอัมพาตครึ่งซีก
สาเหตุของเนื้องอกในสมอง
เนื้องอกในสมองที่เป็นเนื้อธรรมดา เกิดจากความผิดปกติของสารพันธุกรรมในเซลล์สมอง หรือการกลายพันธุ์ของเซลล์ ซึ่งจะทำให้เซลล์มีการแบ่งตัวและเจริญเติบโตในอัตราที่ผิดปกติ เนื้อเยื่อที่เกิดจากเซลล์ผิดปกติเหล่านี้จึงก่อตัวเป็นเนื้องอกบริเวณสมอง ซึ่งอาจสร้างความเสียหายแก่สมองและระบบประสาทที่ใกล้เคียง
เนื้องอกในสมองที่เป็นเนื้อร้าย อาจเกิดจากเซลล์มะเร็งก่อตัวขึ้นที่สมอง หรือมีเซลล์มะเร็งที่อวัยวะอื่นแล้วแพร่ลามเข้าสู่สมองทางกระแสเลือด ทำให้เกิดเป็นเนื้องอกที่เป็นเนื้อร้าย มีอัตราการเจริญเติบโตและสร้างความเสียหายแก่ร่างกายมากกว่าเนื้องอกธรรมดา
เนื้องอกที่เป็นเนื้อร้ายที่แพร่กระจายมาที่สมอง อาจเกิดจากการเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งไต มะเร็งปอด หรือมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา
ด้านสาเหตุของเนื้องอกในสมองที่แท้จริงยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่ปัจจัยเสี่ยงอาจที่ทำให้เกิดเนื้องอกในสมอง ได้แก่
อายุ แม้เนื้องอกในสมองสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกช่วงวัย แต่พบในผู้ใหญ่ที่โตแล้วมากกว่าในเด็ก และในเด็กจะพบเนื้องอกเพียงบางชนิดเท่านั้น
รังสีอันตราย การได้รับรังสีเข้าสู่ร่างกายจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดเนื้องอกในสมอง เช่น รังสีจากการฉายแสงตรวจหรือรักษามะเร็ง รังสีจากระเบิดปรมาณู
ประวัติบุคคลในครอบครัวที่เคยมีเนื้องอกในสมอง พันธุกรรมที่ผิดปกติอาจถูกส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่นได้
ส่วนสาเหตุอื่นอย่างรังสีไมโครเวฟ หรือคลื่นโทรศัพท์ ยังไม่มีหลักฐานใดเชื่อมโยงได้ว่าอาจมีผลต่อการเกิดเนื้องอกในสมองหรือไม่
การวินิจฉัยเนื้องอกในสมอง
หากพบอาการที่สงสัยว่าเกิดจากเนื้องอกในสมอง ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย ในเบื้องต้นแพทย์จะทำการตรวจร่างกาย และทำการทดสอบทางประสาทวิทยาก่อน เช่น ตรวจทัศนวิสัยในการมองเห็น การได้ยิน การทรงตัว ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและปฏิกิริยาตอบสนองทางร่างกาย
จากนั้น หากแพทย์พบอาการป่วยที่ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยโรคหรือสาเหตุอย่างอื่น แพทย์อาจส่งตรวจหาเนื้องอกในสมองด้วยการสแกนสมอง ซึ่งเป็นการฉายภาพรังสีให้เห็นสมองและพื้นที่ส่วนต่าง ๆ ภายใน เช่น การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ CT scan เครื่องตรวจวินิจฉัยโรคด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ Magnetic Resonance Imaging (MRI) หรือเครื่องถ่ายภาพรังสี PET scan
หากตรวจพบว่ามีเนื้องอกในสมอง แพทย์อาจส่งตรวจอวัยวะอื่น ๆ ด้วย เพื่อหาตำแหน่งของเซลล์มะเร็งที่อาจแพร่ลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ ต่อไปได้ นอกจากนี้ แพทย์อาจทำการตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจวินิจฉัย (Biopsy) ทั้งจากการผ่าตัดธรรมดา หรือการผ่าตัดผ่านกล้องแล้วใช้เข็มเจาะเอาเนื้อเยื่อออกไปตรวจหาความผิดปกติของเนื้อเยื่อว่าเป็นเนื้องอกที่อยู่ในขั้นและระดับความรุนแรงใด เป็นเนื้อร้ายหรือไม่ เพื่อวางแผนการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสมต่อไป
การรักษาเนื้องอกในสมอง
การผ่าตัด หากเนื้องอกในสมองอยู่ในบริเวณที่ง่ายต่อการผ่าตัด ไม่กระทบต่อเนื้อเยื่อหรือเส้นประสาทบริเวณใกล้เคียงจนเสี่ยงต่ออันตรายร้ายแรง แพทย์จะทำการผ่าตัดเพื่อนำเอาเนื้อเยื่อที่ผิดปกติออกไปจากจุดที่มีเนื้องอกในสมองให้ได้มากที่สุด
การฉายแสง (Radiation Therapy) แพทย์จะใช้รังสีพลังงานสูงฆ่าทำลายเนื้องอกในสมองที่เป็นเซลล์มะเร็ง สามารถทำได้ทั้งวิธีการฉายรังสีจากภายนอก และการฝังรังสี (Brachytherapy) เข้าไปภายในบริเวณที่ใกล้เคียงกับเนื้องอกในสมอง
รังสีศัลยกรรม (Radiosurgery) เป็นการฉายรังสีจากหลาย ๆ ทางไปยังจุดที่เป็นเนื้องอกพร้อมกัน เพื่อทำลายเซลล์เนื้องอกที่มีขนาดเล็ก
เคมีบำบัด (Chemotherapy) เป็นการใช้ยารักษาและฆ่าเซลล์เนื้องอก มีทั้งรูปแบบยารับประทานและยาฉีดเข้าเส้นเลือด โดยแพทย์จะจ่ายยาตามความเหมาะสม อาจใช้ยาร่วมกันหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับอาการ ลักษณะและความรุนแรงของเนื้องอก หากเป็นเนื้องอกที่เกิดจากเซลล์มะเร็งที่อวัยวะส่วนอื่น ต้องได้รับยารักษาตามแต่ชนิดของมะเร็งเป็นกรณีไป
การให้ยาเจาะจงเซลล์มะเร็ง สำหรับเนื้องอกที่เป็นเนื้อร้าย แพทย์อาจให้ยารักษาที่มีผลการรักษาเจาะจงไปทำลายเซลล์มะเร็งจุดต่าง ๆ เช่น ใช้ยาบีวาชิซูแมบ (Bevacizumab) ฉีดเข้าสู่กระแสเลือด เพื่อรักษาเนื้องอกไกลโอบลาสโตมา ด้วยการยับยั้งการสร้างเซลล์เลือดใหม่ ไม่ให้เลือดไปเลี้ยงเนื้อเยื่อที่เป็นเนื้องอก และฆ่าทำลายเซลล์เนื้องอกในที่สุด
ภาวะแทรกซ้อนของเนื้องอกในสมอง
สิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้อันเป็นผลมาจากการมีเนื้องอกในสมอง และบางอาการอาจเสี่ยงต่ออันตรายถึงชีวิต ได้แก่
ภาวะตกเลือด มีเลือดออกบริเวณเนื้องอกในสมอง
เกิดการอุดกั้นของน้ำไขสันหลัง จนอาจเกิดภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ (Hydrocephalus)
สมองเคลื่อนไปยังช่องว่างฐานกะโหลก เนื่องจากความดันในสมองเพิ่มขึ้นสูงเฉียบพลัน อาจทำให้เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
อาการชัก เมื่อเนื้องอกขยายตัวหรือมีอาการบวม อาจเสี่ยงต่อการเกิดลมชัก แม้ภายหลังได้รับการผ่าตัดเอาเนื้องอกออกไปแล้ว เนื้อเยื่อส่วนที่เป็นรอยแผลเป็นหลังการผ่าตัดอาจทำให้เกิดลมชักได้เช่นกัน ในกรณีนี้แพทย์อาจจ่ายยาต้านอาการชักหรือยาตัวอื่นที่จำเป็น เพื่อลดอาการบวมของเนื้อเยื่อและควบคุมไม่ให้เกิดอาการชัก
การป้องกันการเกิดเนื้องอกในสมอง
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดเนื้องอกในสมอง จึงยังไม่มีวิธีการที่เฉพาะเจาะจงในการป้องกันไม่ให้เกิดเนื้องอกในสมอง และบางปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อการเกิดเนื้องอกในสมองก็ไม่สามารถป้องกันได้ เช่น อายุ และกรรมพันธุ์ แนวทางการป้องกันจึงทำได้เพียงการระมัดระวังในการใช้ชีวิต หลีกเลี่ยงสิ่งที่อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดเนื้องอกในสมอง รวมทั้งเสี่ยงต่อการเกิดเซลล์มะเร็งอื่นด้วย เช่น รักษาสุขภาพให้สมบูรณ์แข็งแรง ไม่สูบบุหรี่ ไม่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีรังสี หรือมีสารพิษสารเคมีที่เป็นอันตราย เป็นต้น