วันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

โรคลมแดด (Heat Stroke)

image
โรคลมแดด (Heat Stroke)

   
       เป็นโรคที่เกิดจากการที่ร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไป เกิดการสูญเสียน้ำ ทำให้ร่างกายไม่สามารถปรับอุณหภูมิได้ทันจนทำให้ความร้อนในร่างกาย (core temperature) สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส อาการสำคัญของโรคลมแดด คือ ไม่มีเหงื่อออก ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อย ๆ รู้สึกกระหายน้ำมาก วิงเวียน ปวดศีรษะ มึนงง คลื่นไส้ หายใจเร็ว อาเจียน ซึ่งต่างจากการเพลียจากแดดทั่ว ๆ ไป ที่จะพบว่ามีเหงื่อออกด้วย หากเกิดอาการดังกล่าวจะต้องหยุดพักทันที
 

วิธีการป้องกันโรคลมแดด 

             - เตรียมร่างกายให้เหมาะสมกับสภาพอากาศที่ร้อน 
             - ดื่มน้ำ 1-2 แก้ว ก่อนออกจากบ้านในวันที่มีอากาศร้อนจัด และหากต้องอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศร้อน หรือออกกำลังกลางสภาพอากาศร้อน ควรดื่มน้ำให้ได้ชั่วโมงละ 1 ลิตร แม้จะไม่รู้สึกกระหายน้ำก็ตาม และแม้ว่าจะทำงานในที่ร่มก็ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว

          - สวมใส่เสื้อผ้าที่มีสีอ่อน ไม่หนา น้ำหนักเบา และสามารถระบายความร้อนได้ดี 

          - ก่อนออกจากบ้านควรใช้ครีมกันแดดที่มีค่าเอสพีเอฟ 15 ขึ้นไป

              - หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดในวันที่อากาศร้อนจัด 

              - หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และยาเสพติดทุกชนิด
 
            - สำหรับเด็กเล็ก คนชรา และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ในช่วงเวลาที่อากาศร้อนมีการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ ควรต้องมีผู้ดูแลใกล้ชิดรับประทานอาหารและน้ำอย่างพอเพียง และจัดให้อยู่ในห้องที่อากาศระบายได้ดี

 

กรณีข้อควรระวังอื่นๆ

          ในฤดูร้อนนี้ อากาศจะร้อนและอาจแห้งแล้ง การเก็บกักน้ำไว้เพื่อบริโภค อุปโภค ต้องปิดภาชนะใส่น้ำให้มิดชิด ป้องกันไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ซึ่งเป็นสาเหตุของไข้เลือดออกได้