โรคฉี่หนู หรือโรคเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis)

ข่าววันที่
วันจันทร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2560
image
     โรคฉี่หนูไข้ฉี่หนู หรือโรคเล็ปโตสไปโรซิส (อังกฤษ leptospirosis) เป็นโรครับจากสัตว์ชนิดหนึ่ง สามารถติดโรคได้ในสัตว์หลายชนิด เช่น สุนัข หนู โค กระบือ สุกร แพะ แกะ สัตว์เลี้ยงในบ้าน เป็นต้น แต่พบมากในหนู ซึ่งเป็นแหล่งรังโรค ส่วนมากสัตว์ที่ไวต่อการรับเชื้อมักจะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีอายุน้อย หรือลูกสัตว์ที่ไม่เคยได้รับภูมิคุ้มกันจากแม่มาก่อน มักจะพบการระบาดในเดือนตุลาคม และพฤศจิกายน เนื่องจากเป็นฤดูฝนต่อหนาว มีน้ำขัง



สาเหตุของโรคโรคฉี่หนู
     โรคเล็ปโตสไปโรซิส มีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรียรูปเกลียว (spirochete) ชื่อ เล็บโตสไปร่า อินเทอโรแกนส์ (Leptospira interrogans) ซึ่งมีความหลากหลายทางซีโรวิทยามากกว่า 200 ซีโรวาร์ (serovars) เชื้อชนิดนี้อาศัยอยู่ในท่อหลอดไตของสัตว์ได้หลายชนิด โดยมีหนูเป็นแหล่งรังโรคที่สำคัญที่สุด บางซีโรวาร์มีความจำเพาะกับสัตว์บางชนิด เชื้อสามารถมีชีวิตได้นานหลายเดือนหลังจากถูกขับออกทางปัสสาวะจากสัตว์ที่มีเชื้อ สัตว์อื่นๆที่เป็นแหล่งรังโรค ได้แก่ สุกร โค กระบือ สุนัข แรคคูณ โดยที่สัตว์อาจจะไม่มีอาการแต่สามารถปล่อยเชื้อได้เป็นเวลาหลายสัปดาห์หรืออาจจะตลอดชีวิตสัตว์ จากการสำรวจเมื่อปีพ.ศ. 2540 โดยสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ พบภูมิคุ้มกันใน ควาย 31% โค 28.25% แพะแกะ 27.35% สุกร 2.15%

อาการที่สำคัญของโรคฉี่หนู

     มักเริ่มมีอาการหลังจากได้รับเชื้อประมาณ 4-14 วัน (โดยเฉลี่ย 10 วัน) เมื่อเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดจะทำให้เกิดอาการ ไข้สูงหนาวสั่น ปวดหัวรุนแรง ตาแดง ปวดกล้ามเนื้อมากโดยเฉพาะบริเวณน่อง ขา เอว เวลากดหรือจับจะปวดมาก นอกจากนี้ยังอาจมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน บางรายมีอาการปวดท้อง ท้องเสีย บางรายอาการรุนแรงจนกระทั่งตับวาย ไตวาย และทำให้เสียชีวิตได้ในที่สุด




การวิธีป้องกันโรคฉี่หนู
    การป้องกัน ควรเริ่มจากการให้ความรู้ด้านสุขศึกษาแก่ กลุ่มเสี่ยง ซึ่งการป้องกันสามารถทำได้ง่ายๆ ดังนี้

  1. กำจัดหนู
  2. ควรสวมชุดป้องกัน เช่น รองเท้าบู๊ต ถุงมือ ถุงเท้า เสื้อผ้า
  3. หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ที่เป็นพาหะ ของโรคดังกล่าว
  4. หลีกเลียงการว่ายน้ำที่อาจจะมีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่
  5. หลีกเลี่ยงไม่ไปสัมผัสปัสสาวะโค กระบือ หนู สุกร และไม่ใช้แหล่งน้ำที่สงสัยว่าอาจปนเปื้อนเชื้อ หลีกเลี่ยงอาหารที่ปล่อยค้างคืน โดยไม่มีภาชนะปกปิด เป็นต้น
  6. หลีกเลี่ยงการทำงานในน้ำหรือต้องลุยน้ำ ลุยโคลนเป็นเวลานานๆ
  7. รีบอาบน้ำ ทำความสะอาดร่างกายโดยเร็วหากแช่ หรือ ยำลงไปในแหล่งน้ำที่สงสัยว่าอาจปนเปื้อนเชื้อ


การรักษาโรคฉี่หนู

     โรคเล็ปโตสไปโรซิสสามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ ควรให้ยาเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้หรือไม่ควรเกิน 4 วันหลังจากมีอาการเป็นอย่างช้า ระยะเวลาที่ให้นานอย่างน้อย 7 วัน โดยชนิดของยาปฏิชีวนะจะแตกต่างกันไปตามความรุนแรงของอาการ ดังนี้

ระดับความรุนแรง สูตรยา
ไม่รุนแรง ด็อกซีไซคลิน (doxycycline) , 100 มิลลิกรัม รับประทาน วันละ 2 ครั้ง หรือ
แอมพิซิลลิน (ampicillin) , 500-750 มิลลิกรัม ทางหลอดเลือดดำ วันละ 4 ครั้ง หรือ
อะม็อกซิซิลลิน (amoxicillin) , 500 มิลลิกรัม รับประทาน วันละ 4 ครั้ง
รุนแรงปานกลางถึงมาก เพนนิซิลลิน จี (penicillin G) , 1.5 ล้านยูนิต ทางหลอดเลือดดำ วันละ 4 ครั้ง หรือ
แอมพิซิลลิน (ampicillin) , 1 กรัม ทางหลอดเลือดดำ วันละ 4 ครั้ง หรือ
อะม็อกซิซิลลิน (amoxicillin) , 1 กรัม รับประทาน วันละ 4 ครั้ง หรือ
อีริโธรไมซิน (erythromycin) , 500 มิลลิกรัม รับประทาน วันละ 4 ครั้ง

     นอกจากนี้ยังมียาในกลุ่มเซฟาโลสปอรินตัวใหม่ๆ อีกหลายตัวที่สามารถต้านเชื้อเล็ปโตสไปโรซิสได้ในห้องปฏิบัติการ แต่ยังไม่มีการผลการรักษาทางคลินิกที่แน่ชัด