แผลเบาหวานที่เท้ารักษาถูกวิธี ไม่ต้องตัดขา

ข่าววันที่
วันอาทิตย์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2559
image

 

 

ปัญหาแผลเบาหวานที่เท้า เป็นปัญหาที่สำคัญในระบบสาธารณสุขของประเทศไทย เนื่องจากเมื่อเกิดแผลขึ้นแล้ว มักจะใช้เวลาในการรักษานาน

ปัญหาแผลเบาหวานที่เท้า เป็นปัญหาที่สำคัญในระบบสาธารณสุขของประเทศไทย เนื่องจากเมื่อเกิดแผลขึ้นแล้ว มักจะใช้เวลาในการรักษานาน ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตลดลงและมีภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา โดยสิ่งที่ทำให้แผลเบาหวานที่เท้าหายยาก มีสาเหตุหลักมากจาก การเป็นโรคเบาหวาน โดยโรคเบาหวานจะส่งผลกระทบให้เกิดความผิดปกติต่อระบบต่างๆ เช่น

1.ระบบประสาทรับความรู้สึก ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียการรับรู้ความรู้สึกเจ็บปวด ความรู้สึกร้อนเย็น จึงทำให้ผู้ป่วยที่มีแผลเบาหวานไม่รู้สึกเจ็บปวด และยังคงใช้เท้าตามปกติ ทำให้เกิดแรงกดบริเวณแผลตลอดเวลา แผลจึงหายช้าหรือไม่หาย

2.ระบบประสาทอัตโนมัติ ทำให้ผู้ป่วยมีผิวหนังแห้ง มีเหงื่อออกน้อย การหดตัวและขยายตัวของหลอดเลือดผิดปกติ เท้าบวม ผิวหนังแห้งและแตกง่าย ซึ่งเป็นปัจจัยที่กระตุ้นต่อการเกิดแผลเบาหวานที่เท้าได้

3.ระบบประสาทควบคุมกล้ามเนื้อ ส่งผลต่อกล้ามเนื้อเล็กในเท้าลีบลงเสียความสมดุลระหว่างเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อในเท้า ทำให้นิ้วเท้างอและผิดรูปในรายที่รุนแรงอาจส่งผลต่อกระดูกเท้า กระดูกเท้าจะผิดรูปและไม่แข็งแรง เกิดการหักของกระดูกหรือกระดูกทรุดตัวทำให้เท้าผิดรูป ซึ่งการผิดรูปของเท้าและนิ้วเท้าดังกล่าว จะส่งผลต่อการกระจายน้ำหนักเท้าเวลาที่เท้าสัมผัสพื้นในการเดินผิดปกติไป บริเวณที่รับน้ำหนักมากๆ ที่จะทำให้เกิดแผลขึ้นมาได้

4.ระบบหลอดเลือด ทำให้เส้นเลือดตีบแข็งและเกิดการอุดตัน ทำให้ขาดเลือดไปเลี้ยงเนื้อเยื่อบริเวณดังกล่าว จึงทำให้แผลไม่สมาน

การป้องกันแผลเบาหวานที่เท้า

1.ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

2.ดูแลรักษาความสะอาดและเช็ดเท้าให้แห้ง

3.ตรวจเท้าเป็นประจำทุกวัน เพื่อหารอยโรค

4.เลือกรองเท้าให้เหมาะสม ไม่บีบหรือรัดแน่นจนเกินไป

5.ใช้ครีมทา รักษาผิวหนังแห้ง

6.สวมถุงเท้าก่อนใส่รองเท้า

7.ห้ามแช่เท้าในน้ำร้อน

8.ตัดเล็บและควรดูแลเล็บอย่างถูกวิธี

9.งดการสูบบุหรี่

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดปัญหามีแผลเบาหวานขึ้นมาแล้ว การรักษาที่ดีต้องประกอบไปด้วยการรักษาปัจจัยหรือสาเหตุที่ทำให้เกิดแผลนั้นร่วมกัน ซึ่งประกอบไปด้วย การควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ, การทำแผลอย่างถูกวิธี, ผ่าตัดล้างแผลและให้ยาปฏิชีวนะ เมื่อมีการติดเชื้อที่แผลเกิดขึ้น, การลดแรงกดที่มากระทำที่แผล เช่น การใส่รองเท้าตัดเฉพาะ, การผ่าตัดรักษาในกรณีที่มีกระดูกหรือนิ้วผิดรูป และสุดท้ายคือการขยายเส้นเลือด หากมีปัญหาเส้นเลือดอุดตันหรือตีบตันร่วมด้วย

นอกจากนี้ในปัจจุบัน ยังมีวัสดุที่ช่วยในการทำแผลชนิดใหม่ๆ, การทำแผลด้วยระบบความดันเย็นลบ (vacuum dressing) และยังมีการรักษาเสริมเข้ามาช่วยในการรักษาแผลเบาหวานเรื้อรัง คือ การรักษาด้วยออกซิเจนความดันบรรยากาศสูง ซึ่งจะกระตุ้นและช่วยให้เกิดการสมานของแผลได้ดีและเร็วขึ้น

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์