กทม. ร่วมเวที “Better Mind Better Bangkok” จับมือเครือข่ายป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตให้ประชาชน

วันจันทร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2566
image

     (8 ต.ค. 66) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดงาน “Better Mind Better Bangkok”เนื่องในวันสุขภาพจิตโลก (World Mental Health Day) ณ ลานกิจกรรมชั้น 3 สามย่านมิตรทาวน์ เขตปทุมวัน ซึ่ง กรุงเทพมหานคร ร่วมกับมูลนิธิสติแอพ (SATI) สถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (TIMS) มูลนิธิเพื่อ “คนไทย” และภาคีเครือข่ายจัดขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักและการสร้างพลังใจ เพื่อรับมือกับผลกระทบด้านสุขภาพจิตที่กำลังเพิ่มขึ้นของคนเมืองโดยมีการนำเสนอข้อมูล องค์ความรู้ และประสบการณ์ตรงของภาคีเครือข่ายภาคส่วนต่างๆ ที่ขับเคลื่อนงานพัฒนาด้านจิตเวชในประเทศไทย รวมถึงแบ่งปันข้อมูลและประสบการณ์ต่อสาธารณชน พร้อมกับการระดมการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ผลักดันให้เกิดการป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพจิตได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

     รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวในการร่วมเสวนาหัวข้อ “ความเป็นธรรมในการเข้าถึงระบบสุขภาพจิตที่เป็นธรรม” (EQUITY : Better Access) ว่า เมื่อไหร่ที่คนหนึ่งคนรู้สึกไม่สบายใจ รู้สึกมีปัญหารุมเร้า อยากมีสักคนรับฟังถ้าไม่ใช่คนในบ้าน ในฐานะรัฐต้องทำทุกวิถีทางให้หน่วยบริการ สถานพยาบาล หรือสิ่งที่ประชาชนสามารถใช้บริการสาธารณะใด ๆ ก็ได้ให้ความไม่สบายใจนั้นลดลง ปัจจุบันสปีดการให้ Caring และสปีดของการแก้ไปปัญหาตามกันไม่ทัน กรุงเทพมหานครพยายามทำให้มี Accessibility อีกทั้งกรุงเทพมหานครไม่สามารถทำคนเดียวได้ ได้ให้ความสำคัญกับเครือข่าย มีการจับมือกันดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ มากขึ้น

      ที่ผ่านมามีการให้ความสำคัญกับอาชีพด้านจิตแพทย์ค่อนข้างน้อยแต่ตอนนี้ดีขึ้น ในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ อยากให้มีการจัดกิจกรรมที่คนอยู่ในสถานะที่ดีขึ้น ไม่อยากให้คิดเพียงว่าเป็นโครงการที่สวยงาม อยากให้มีการออกแบบตะกร้าโครงการที่เกี่ยวกับสุขภาพจิต สามารถต่อไปยัง Segment ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก วัยรุ่น คนทำงาน เป็นต้น แล้วคุยกับหน่วยงานการันตีเรื่องการวัดผลของหน่วยงาน แล้วเอาเชื่อมกับภาคประชาชนที่เหมาะกับบริบทพื้นที่ ต้องทำให้กิจกรรมที่ทำมีคุณค่าจริง

     รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวด้วยว่า บางทีการทำให้การแก้ปัญหาสุขภาพจิต Luxury เกินควร ด้วยการยุ่งว่าจิตต้องหาเวลา Work Life Balance ต้องทำให้เรื่องสุขภาพจิตสอดแทรกเข้าไปในทุกเรื่อง ในฐานะอดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ผ่านมาให้ความสนใจเรื่อง Lesson Learned ค่อนข้างน้อย ไม่เคยถูกนำมาใช้และติดตามต่อ ส่วนใหญ่ไม่ให้คุณค่ากับความไม่สำเร็จ คุณค่าของความไม่สำเร็จคือได้เรียนรู้ว่ามันไม่สำเร็จ ความจริงเอากลับมาแล้วไม่ทำอีกมันคือความสำเร็จ ซึ่งการทำแบบนี้จะทำให้เคส Lesson Learned จะช่วยให้เราพัฒนาได้ ต้องดูว่าเอาไปทำอะไร และเกิดผลกับใครบ้าง แล้วช่วยกันทำให้ดีขึ้น ทุกคนต้องช่วยกัน ทำอย่างไรให้เรื่องสุขภาพจิตง่าย แล้วแทรกเข้าไปในชีวิตประจำวันโดยอัตโนมัติ

      โอกาสนี้ นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ร่วมเสวนาหัวข้อ “พื้นที่ปลอดภัย” (SECURITY : Safe Environment) โดยกล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่าความปลอดภัยเกิดจากการไม่ถูกตัดสินในทุกเรื่อง เช่น เพศสภาพ ความจน ความรวย ความฉลาดหรือไม่ฉลาด เป็นต้น ซึ่งการตัดสินทำให้เกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่กล้าคิด หรือแสดงออก มาดูเมืองวันนี้ทุกที่มีการถูกตัดสินกันหมด ถ้าเปิดโลกออนไลน์ก็โดนตัดสินจากจำนวนไลค์หรือรูปสวยไม่สวย อาจถูกเปรียบเทียบแล้วทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัย อาจต้องมีการสร้างพื้นที่ฟรีที่เข้าได้โดยที่ไม่ถูกตัดสินที่ฐานะ หรือการแต่งตัวถึงจะเข้าได้ หรือจะมีคนชอบหรือไม่ชอบก็อยู่ได้

      ในมุมหนึ่งกรุงเทพมหานครเป็นเหมือน Regulator หรือ Policy Maker การที่จะให้ประชาชนปฏิบัติอะไรสักอย่างไม่ได้เป็นไปด้วยความเต็มใจ ในเรื่องของจิตใจเมื่อให้กรุงเทพมหานครเป็นคนพูดส่วนใหญ่เป็นเหมือนเชิงบังคับ เช่น เคยให้เด็กนักเรียนโหลดแอปแล้วบอกว่ารู้สึกอย่างไรทุกวันเด็กทำเหมือนเป็นหน้าที่ หรือมีการแจกหมวกกันน็อกให้เด็กใส่พบว่ามีการรายงานผลมาว่าเด็กใส่หมวกกันน็อกค่อนข้างเยอะแต่เวลาไปตรวจโรงเรียนเห็นหมวกกันน็อกอยู่ที่โรงเรียน ซึ่งถ้ามีเครือข่ายมาร่วมกันก็จะเกิดขึ้นได้ การไม่ตัดสินพูดในเชิงทฤษฎีง่ายแต่ทำยาก สิ่งที่เริ่มได้ก่อนคือเริ่มที่โรงเรียน เช่น การประเมินผล โดยไม่ได้วัดกันที่ใครได้ที่ 1, 2, 3 จะทำให้คนที่เหลือดูแย่ ก็เปลี่ยนใหม่วัดจากสมรรถนะ และทักษะของแต่ละคน ถ้าทำได้ดีจะทำให้เด็กภูมิใจในตัวเองไม่ถูกตัดสินตั้งแต่เด็ก และทำให้เด็กรู้สึกว่าโรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งมีการนำร่องในโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรม 58 แห่ง ถ้าได้ผลดีก็จะขยายผลไปยังโรงเรียนอื่นๆ

     เรื่องสุขภาพจิตเป็นวาระแห่งชาติที่กรุงเทพมหานครจะต้องจับมือกับภาคีเครือข่ายเพื่อแก้ปัญหาให้ได้ รวมถึงเรื่องของการศึกษาก็ต้องทำควบคู่กันไป ไม่ว่าจะในเด็ก ชุมชน หรือผู้สูงอายุ กรุงเทพมหานครพร้อมจับมือร่วมแก้ปัญหาในภาพรวมร่วมกัน