เริ่มแล้ว อบรมเสริมสร้างความรู้ด้านการเกษตรแก่คนเมืองสำหรับประชาชน หลักสูตรแรกการปลูกคัดเลือกชนิดพรรณ และการดูแลบำรุงรักษาต้นไม้ระยะแรก

วันเสาร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2567
image

(8 มิ.ย. 67) เวลา 08.30 น. สำนักสิ่งแวดล้อม โดยสำนักงานสวนสาธารณะ จัดอบรมเสริมสร้างความรู้ด้านการเกษตรแก่คนเมืองให้กับประชน เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับงานด้านรุกขกรรม การดูแลรักษาต้นไม้ของเมือง และสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง เพื่อร่วมดูแลและสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กรุงเทพมหานคร 

โดยจัดอบรมให้ฟรี จำนวน 6 หลักสูตร ในวันนี้เป็นการอบรมในหลักสูตรที่ 1 การปลูก คัดเลือกชนิดพรรณ และการดูแลบำรุงรักษาต้นไม้ระยะแรก มีประชาชนผู้สนใจซึ่งลงทะเบียนออนไลน์ทางเพจเฟซบุ๊กสำนักสิ่งแวดล้อม เข้ารับการอบรม จำนวน 40 คน ณ อุทยานผีเสื้อและแมลงกรุงเทพมหานคร เขตจตุจักร . สำนักสิ่งแวดล้อม โดยสำนักงานสวนสาธารณะ 

กำหนดจัดอบรมเสริมสร้างความรู้ด้านการเกษตรแก่คนเมืองเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีของกรุงเทพมหานคร แก่ประชาชนที่สนใจจำนวน 6 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรที่ 1 การปลูก คัดเลือกชนิดพรรณ และการดูแลบำรุงรักษาต้นไม้ หลักสูตรที่ 2 หลักการตัดแต่งต้นไม้และสาธิตการปฏิบัติงานบนต้นไม้อย่างปลอดภัย อบรมในวันเสาร์ที่ 15 มิถุนายน 2567 ณ อุทยานผีเสื้อและแมลงกรุงเทพมหานคร และสวนจตุจักร หลักสูตรที่ 3 การประเมินสุขภาพและความเสี่ยงอันตรายของต้นไม้เบื้องต้น อบรมในวันเสาร์ที่ 22 มิถุนายน 2567 ณ สวนเบญจกิติ หลักสูตรที่ 4 การฟื้นฟู ศัลยกรรมต้นไม้และการค้ำยัน อบรมในวันเสาร์ที่ 29 มิถุนายน 2567 ณ สวนสราญรมย์ 

หลักสูตรที่ 5 โรคและแมลงของต้นไม้ใหญ่เบื้องต้น อบรมในวันเสาร์ที่ 6 กรกฎาคม 2567 ณ อุทยานผีเสื้อและแมลงกรุงเทพมหานคร และสวนวชิรเบญจทัศ และหลักสูตรที่ 6 การล้อมไม้ขนาดเล็กและการดูแลรักษา อบรมในวันเสาร์ที่ 13 กรกฎาคม 2567 ณ อุทยานผีเสื้อและแมลงกรุงเทพมหานคร และสวนวชิรเบญจทัศ โดยสำนักสิ่งแวดล้อมได้เชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้ชำนาญการ จากกรุงเทพมหานคร และองค์กรต่าง ๆ ได้แก่ กรมป่าไม้ สมาคมรุกขกรรมไทย รุกขกรอาชีพ รุกขกรกรุงเทพมหานคร ผู้ปฏิบัติงานบนต้นไม้ของกรุงเทพมหานคร และ KU รุกขกร 

ซึ่งทั้ง 6 หลักสูตร ได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นจำนวนมาก ทำให้ยอดผู้ลงทะเบียนสมัครเข้ารับการอบรมผ่านระบบเต็มอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ประชาชนที่เข้ารับการอบรม จะสามารถนำองค์ความรู้ไปต่อยอดลงมือทำเพื่อประโยชน์ต่อครอบครัวหรือชุมชน และยังเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้กรุงเทพมหานคร เป็นมหานครสีเขียวที่น่าอยู่อย่างยั่งยืนต่อไปด้วย