กทม. - โยโกฮามา ร่วมมือลดคาร์บอนฯ ต้นแบบ Net Zero ของภูมิภาคเอเชีย

วันศุกร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2567
image

21 มิ.ย. 67 เวลา 9.00 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประธานในพิธีเปิดและร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ The 4th Workshop on “Net Zero Emissions Business Opportunity under Bangkok-Yokohama City-to-City Program" โดยมี  Mr.Yutaka Matsuzawa รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศญี่ปุ่น Mr.Otaka Masato เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย Mr.Yamanaka Takeharu นายกเทศมนตรีเมืองโยโกฮามา พร้อมคณะผู้บริหารเมืองโยโกฮามา ผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ทั้งจากประเทศไทยและญี่ปุ่น เข้าร่วมการประชุมฯภายใต้โครงการความร่วมมือ City to City ระหว่างกรุงเทพมหานครและเมืองโยโกฮามา ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมแกรนด์ เซ็นเตอร์ พ้อยต์ เทอมินอล 21 เขตวัฒนา

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวต้อนรับและแสดงความยินดี ในโอกาสที่ได้หารือในความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครและเมืองโยโกฮามา ซึ่งทั้ง 2 เมืองมีความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันอย่างยาวนาน ครั้งนี้ถือเป็นความร่วมมือกันระหว่างภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์การระหว่างประเทศ และภาคประชาชน เพื่อยกระดับการดำเนินงาน ในการจัดการปัญหาด้านการลดก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้ตรงจุดและครอบคลุมในหลายมิติ ปัจจุบัน กรุงเทพมหานครมีแผนปฏิบัติการพลังงานกรุงเทพมทานคร ภายใต้แผนแม่บทกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564 – 2573 ที่เน้นการลดคาร์บอน ทั้งในภาคการขนส่งและภาคพลังงาน เพราะกรุงเทพมหานครถือเป็นเมืองที่เป็นตัวการหลักในการปล่อยคาร์บอนฯ ซึ่งกรุงเทพมหานครได้เริ่มดำเนินการกายในองค์กร เช่น การคำนวณค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากกิจกรรมต่างๆ  และที่ขาดไม่ได้และถือเป็นหัวใจหลักของการดำเนินงานลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกมิติต้องได้รับความร่วมมือจากภาคประชาชน และในฐานะองค์กรของรัฐก็ต้องช่วยเหลือภาคเอกชนหรือ SME ที่มีกว่า 3 ล้านราย เพื่อสนับสนุน SME ให้มีองค์ความรู้ด้านการลดก๊าซเรือนกระจก และมีความพร้อมเชิงธุรกิจสีเขียวในเวทีโลก

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ และ Mr.Yamanaka Takeharu นายกเทศมนตรีเมืองโยโกฮามา กล่าวทิ้งท้ายร่วมกันว่า ความร่วมมือระหว่าง กรุงเทพมหานคร – โยโกฮามา จะแน่นแฟ้น และขยายโอกาสในความร่วมมือกันในอีกหลายๆมิติ เพื่อมุ่งสู่ความเป็นเมือง Net Zero ของภูมิภาคเอเชีย

สำหรับการคำนวณค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของกรุงเทพมหานคร  จัดทำขึ้นเพื่อนำข้อมูลที่ได้นำไปกำหนดมาตรการ หรือดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจก ตามนโยบาย "คาร์บอนคุมได้ กทม.ปลอดคาร์บอน" ยกตัวอย่างเช่น โครงการเปลี่ยนรถเก็บขนมูลฝอยไปใช้รถพลังงานไฟฟ้า การเปลี่ยนรถ BRT เป็นรถพลังงานไฟฟ้า และเพิ่มเส้นทางให้เชื่อมต่อกับระบบขนส่งทางรางมากขึ้น โดยส่งเสริมให้ประชาชนเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ สนับสนุนการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ให้แก่ประชาชน โครงการไม่เทรวม ที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะ และลดมีเทนจากการคัดแยกขยะของประชาชนมากขึ้น เป็นต้น

#สิ่งแวดล้อมดี