สำนักสิ่งแวดล้อม ร่วมตรวจโรงงานภายในศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม

วันเสาร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2567
image

(16 มี.ค.67) เวลา 09.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานโครงการจ้างเหมาเอกชนควบคุมโรงงานกำจัดไขมันและแปรรูปไขมันหนองแขม โรงงานกำจัดสิ่งปฏิกูลหนองแขม โรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์หนองแขม และตรวจสถานที่ก่อสร้างสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า โดยมี นายอาฤทธิ์ ศรีทอง รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักสิ่งแวดล้อม และบริษัทผู้รับจ้าง ร่วมลงพื้นที่และรายงานข้อมูล ณ บริเวณศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม เขตหนองแขม

สำหรับโรงงานกำจัดไขมันและแปรรูปไขมันหนองแขม มีพื้นที่ 4.5 ไร่ เริ่มเดินระบบโรงงานฯ เมื่อปี 2556 มีขีดความสามารถกำจัดไขมันวันละ 300 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งมีเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อให้สามารถเดินระบบกำจัดไขมันและสิ่งปฏิกูลปนเปื้อนไขมันได้อย่างถูกสุขลักษณะ โดยมีกระบวนการบำบัดไขมัน ประกอบด้วย ระบบรับและคัดแยกขยะออกจากไขมัน ระบบบำบัดไขมันโดยเครื่องรีดไขมัน ระบบแยกไขมันในน้ำเสียด้วยเครื่องแยกไขมันแบบลอยตัว (DAF) ระบบบำบัดน้ำเสียแบบ Activated Sludge ทั้งนี้ มีการควบคุม ตรวจสอบ และวิเคราะห์ผลทางวิทยาศาสตร์ คุณภาพน้ำทิ้งต่างๆ เช่น BOD, COD, SS (Suspended Solid) สีของน้ำทิ้ง ระดับ TKN (วัดในเทอม-ไนโตรเจน) ปริมาณแบคทีเรียกลุ่ม Fecal Coliform Bacteria และปริมาณน้ำมันและไขมัน โดยอ้างอิงมาตรฐานคุณภาพน้ำทิ้งของกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

โรงงานกำจัดสิ่งปฏิกูลหนองแขม มีพื้นที่ 8 ไร่ เริ่มเดินระบบโรงงานฯ เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2534 มีขีดความสามารถรับกำจัดสิ่งปฏิกูลได้วันละ 600 ลูกบาศก์เมตร โดยใช้กระบวนการกำจัดสิ่งปฏิกูลแบบ Activated Sludge and Rotating Biological Contact System ระบบเติมสารเคมี (Coagulation System) และระบบบำบัดตะกอน ซึ่งสามารถกำจัดสิ่งปฏิกูลได้อย่างถูกสุขลักษณะตามหลักวิชา มีการควบคุม ตรวจสอบ และวิเคราะห์ผลทางวิทยาศาสตร์ คุณภาพน้ำทิ้งต่างๆ เช่น pH BOD COD SS (Suspended Solid) Color ระดับ TKN (วัดในเทอมไนโตรเจน) ปริมาณแบคทีเรียกลุ่ม Fecal Coliform Bacteria โดยอ้างอิงมาตรฐานคุณภาพน้ำทิ้งของกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งโรงงานกำจัดไขมันและแปรรูปไขมันหนองแขม และโรงงานกำจัดสิ่งปฏิกูลหนองแขม รับกำจัดไขมันและสิ่งปฏิกูลจากพื้นที่ฝั่งตะวันตกและพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานคร 32 สำนักงานเขต และงานขนถ่ายสิ่งปฏิกูล

โรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์หนองแขม ประกอบด้วย โรงหมักปุ๋ยอินทรีย์ มีพื้นที่ 8 ไร่ และโรงงานปรับปรุงคุณภาพปุ๋ยอินทรีย์ มีพื้นที่ 3 ไร่ ดำเนินการหมักปุ๋ยอินทรีย์จากตะกอนที่ได้จากกระบวนการบำบัด นำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ ลดปริมาณขยะที่จะนำไปฝังกลบ โดยนำมาผสมกับเศษกิ่งไม้ ใบไม้ ที่ผ่านกระบวนการบดย่อย เพื่อให้มีขนาดที่เหมาะสม แล้วผสมรวมกับกากตะกอนที่ได้จากการกำจัดไขมันและสิ่งปฏิกูล โดยผ่านกระบวนการหมักและเข้าตู้ปรับปรุงคุณภาพ มีการตรวจสอบและวิเคราะห์คุณภาพปริมาณธาตุอาหาร และสิ่งเจือปนต่างๆ ในห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ของโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อให้ได้ปุ๋ยอินทรีย์ที่มีคุณภาพและปริมาณสารอาหารครบถ้วนตามมาตรฐานของกรมวิชาการเกษตร สามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์ได้ประมาณ 50 ตันต่อวัน เพื่อแจกจ่ายให้กับส่วนราชการของกรุงเทพมหานครและหน่วยงานราชการอื่นๆ

ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้สำนักสิ่งแวดล้อมพิจารณาหาแนวทางบริหารจัดการโรงงานกำจัดไขมันและแปรรูปไขมันหนองแขม โรงงานกำจัดสิ่งปฏิกูลหนองแขม โรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์หนองแขม เพื่อให้การบริหารจัดการภายในโรงงานเกิดประสิทธิภาพ การแยกน้ำเสียไปบำบัด การนำไขมันไปฝังกลบ การจัดสรรพื้นที่ภายในโรงงานให้เกิดประโยชน์ โดยให้นัดหมายผู้รับจ้างและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชุมหารือการดำเนินการร่วมกันในสัปดาห์หน้า

จากนั้นตรวจสถานที่ก่อสร้างสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า มีพื้นที่ 4 ไร่ 3 งาน 17 ตารางวา ตั้งอยู่ในศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม หลังโรงบำบัดน้ำเสียของสำนักการระบายน้ำ โดยก่อสร้างเป็นสถานีชาร์จรถไฟฟ้า จำนวน 30 หัวชาร์จ พร้อมสถานที่จอดรถ เพื่อรองรับโครงการเช่ารถเก็บขนมูลฝอยระบบไฟฟ้า ซึ่งสำนักสิ่งแวดล้อมอยู่ระหว่างดำเนินการจัดหารถเก็บขนมูลฝอย (เช่า) พลังงานไฟฟ้า ทดแทนรถเก็บขนมูลฝอยที่จะหมดสัญญาเช่าในปี 2567 จำนวน 4 โครงการ รวม 842 คัน ประกอบด้วย โครงการเช่ารถเก็บขนมูลฝอยแบบอัดขนาด 5 ตัน จำนวน 464 คัน โครงการเช่ารถเก็บขนมูลฝอยแบบอัดขนาด 2 ตัน จำนวน 152 คัน โครงการเช่ารถเก็บขนมูลฝอยแบบยกภาชนะรองรับมูลฝอยขนาด 8 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 124 คัน และโครงการเช่ารถเก็บขนมูลฝอยแบบยกภาชนะรองรับมูลฝอยขนาด 3 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 102 คัน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มอบหมายให้สำนักการโยธาปรับสภาพพื้นที่ให้เรียบร้อย สำนักการระบายน้ำจัดเก็บวัสดุอุปกรณ์ที่ไม่ได้ใช้งานออกจากพื้นที่ สำนักสิ่งแวดล้อมติดตามความคืบหน้าในการก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง

ที่มา : สำนักงานประชาสัมพันธ์