สำนักสิ่งแวดล้อม เดินหน้าขับเคลื่อนงาน อพ.สธ. เร่งสำรวจเก็บรวบรวมพันธุกรรมพืชควรค่าแก่การอนุรักษ์ในพื้นที่กรุงเทพฯ

วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567
image

(19 เม.ย. 67) เวลา 09.00 น. นางสาววรนุช สวยค้าข้าว รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและสนับสนุนการดำเนินงานตามกรอบการเรียนรู้ทรัพยากร เพื่อชี้แจงแนวทางการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สนองพระราดำริโดยกรุงเทพมหานคร ณ ห้องประชุม 3 สำนักสิ่งแวดล้อม ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง

ในที่ประชุมฯ ได้แจ้งคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ สนองพระราชดำริโดยกรุงเทพมหานคร ตามคำสั่งกรุงเทพมหานคร ที่ 650/2566 เพื่อดำเนินงานสนองพระราชดำริในภาพรวมของกรุงเทพมหานคร มีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานกรรมการฯ และได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและสนับสนุนการดำเนินงาน อพ.สธ. สนองพระราชดำริโดย กทม. ตามคำสั่งที่ 1/2567 ณ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 ประกอบด้วยคณะอนุกรรมการฯ จำนวน 6 คณะ ได้แก่ 1. คณะอนุกรรมการจัดทำแผนแม่บท 2. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและสนับสนุนการดำเนินงานตามกรอบการเรียนรู้ทรัพยากร  3. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและสนับสนุนการดำเนินงานตามกรอบการใช้ประโยชน์ แบ่งเป็น 3.1 คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและสนับสนุนการดำเนินงานอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากร 3.2  คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและสนับสนุนการดำเนินงานศูนย์ข้อมูลทรัพยากร 4. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อยนและสนับสนุนการดำเนินงานตามกรอบการสร้างจิตสำนึก แบ่งเป็น 4.1 คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและสนับสนุนการดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน  และ 4.2  คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและสนับสนุนการจัดทำฐานทรัพยากรท้องถิ่น ฯ

สำหรับการประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมเกี่ยวเนื่อง 2 คณะ คือ คณะที่ 2 คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและสนับสนุนการดำเนินงานตามกรอบการเรียนรู้ทรัพยากร ซึ่งมีสำนักสิ่งแวดล้อมเป็นฝ่ายเลขานุการ โดยคณะอนุกรรมการฯ มีอำนาจหน้าที่ขับเคลื่อนการดำเนินงานตามกิจกรรมสำรวจเก็บรวบรวมทรัพยากรและกิจกรรมปลูกรักษาทรัพยากร กำกับ ติดตาม และเร่งรัดการดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติงานรายปีและสอดคล้องกับแผนแม่บทของ อพ.สธ. พร้อมรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานทุก 6 เดือน เสนอต่อคณะกรรมการ อพ.สธ. – กทม. ซึ่งแผนการดำเนินงานตามกิจกรรมสำรวจเก็บรวบรวมทรัพยากร มีดังนี้ 1. การสำรวจเก็บรวบรวมพันธุกรรมพืชควรค่าแก่การอนุรักษ์ในพื้นที่ กทม. 2. การสำรวจข้อมูลไม้ยืนต้นในพื้นที่กรุงเทพฯ ด้วยระบบ GIS  และ 3. การจัดทำป้ายพรรณไม้ในพื้นที่กรุงเทพฯ ส่วนแผนการดำเนินงานกิจกรรมปลูกรักษาทรัพยากร ได้แก่ 1. การปลูกรักษาพันธุกรรมพืชควรค่าแก่การอนุรักษ์ 2. การขยายพันธุ์พืชควรค่าแก่การอนุรักษ์เพื่อปลูก หรือเพื่อแลกเปลี่ยนหรือแจกจ่ายพันธุกรรม และคณะที่ 4.2 คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและสนับสนุนการจัดทำฐานทรัพยากรท้องถิ่น ซึ่งมีสำนักสิ่งแวดล้อมเป็นฝ่ายเลขานุการ โดยคณะอนุกรรมการฯ มีอำนาจหน้าที่ 1.วางแนวทางและกำหนดแผนการสนับสนุนให้สำนักงานเขตเข้าร่วมสนองพระราชดำริ โดยเข้าร่วมโครงการฯ และสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น ตามแผนแม่บท อพ.สธ. กำหนดสำนักงานเขตนำร่อง และขยายผลการดำเนินงานในสำนักงานเขตอื่น ๆ ซึ่งปัจจุบันสำนักงานเขตสมัครเป็นสมาชิกและแต่งตั้งคณะกรรมการฯ และอนุกรรมการฯ ครบทั้ง 50 เขต โดยมีเป้าหมายเพื่อมีสำนักงานเขตนำร่องเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการเพื่อเสนอรับป้ายพระราชทานต่อไป 2. สนับสนุนในงานพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ เพื่อนำไปสู่การสร้างจิตสำนึกการอนุรักษ์ทรัพยากร 3. จัดเตรียมและเข้าร่วมงานประชุมวิชาการและนิทรรศการทรัพยากรไทย 4. กำกับ ติดตาม และเร่งรัดการดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติงานรายปีและสอดคล้องกับแผนแม่บทของ อพ.สธ. 5. รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานทุก 6 เดือน เสนอต่อคณะกรรมการ อพ.สธ. – กทม. ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ มอบหมายให้คณะอนุกรรมการ ฯ  ดำเนินการสำรวจเก็บรวบรวมพันธุกรรมพืชควรค่าแก่การอนุรักษ์ในพื้นที่กรุงเทพฯ ของแต่ละพื้นที่ที่รับผิดชอบ เพื่อจัดทำเป็นฐานข้อมูล และจัดทำป้ายชื่อพรรณไม้ในพื้นที่กรุงเทพมหานครโดยแสดงรายละเอียดที่สำคัญของพันธุ์ไม้ชนิดนั้น ๆ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและ/หรือผู้ที่สนใจศึกษาเรียนรู้ และเกิดจิตสำนึกในการอนุรักษ์พรรณไม้ที่อยู่ในท้องถิ่นของตนเองต่อไป

การประชุมในวันนี้มี ผู้บริหารสำนักสิ่งแวดล้อม ผู้แทนสำนักพัฒนาสังคม สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ผู้แทนกลุ่มเขต 6 กลุ่มเขต และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม