กทม. จัดกิจกรรม “เยาวชนเรียนรู้ หวนดูฐานทรัพยากร” เฉลิมพระเกียรติ 70 พรรษา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

วันพฤหัสบดีที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2568
image

(3 เม.ย. 68) นายทศพล สุภารี รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดกิจกรรม "เยาวชนเรียนรู้ หวนดูฐานทรัพยากร" ซึ่งกรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม ร่วมกับมูลนิธิ อพ.สธ. จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคล  วันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 70 พรรษา เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 โดยมีนายพรชัย จุฑามาศ เลขานุการมูลนิธิ อพ.สธ. ดร.ปิยรัษฎ์ ปริญญาพงษ์ เจริญทรัพย์ ผู้ช่วยเลขานุการมูลนิธิ อพ.สธ. ผู้แทนสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล สำนักงานเขตบางกอกน้อย สำนักงานเขตจอมทอง ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักสิ่งแวดล้อม คณะครู นักเรียนจากโรงเรียนวัดสุวรรณาราม  โรงเรียนวัดเจ้าอาม  และโรงเรียนวัดบางขุนนนท์ ผู้แทนชุมชนในพื้นที่เขตบางกอกน้อย และประชาชนในพื้นที่ ร่วมกิจกรรม ณ  สวนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (บางกอกน้อย)  

สำหรับกิจกรรมในวันนี้ จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งเป็นรากฐานของชุมชน อันเป็นการสนับสนุนการดำเนินงานตามพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ โดยภายในงานประกอบด้วย  การเสวนาในหัวข้อ “แนวคิด/แนวทางเยาวชนเรียนรู้ หวนดูฐานทรัพยากร” โดยมีผู้ร่วมเสวนาจากกรุงเทพมหานคร มูลนิธิ อพ.สธ. สำนักงานเขตจอมทอง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และชุมชนวัดอัมพวา จากนั้นได้ร่วมกันปลูกต้นไมม้ ได้แก่ ส้มบางมด ฝรั่งพันธุ์หงเป่าสือ ฝรั่งพันธุ์สุ่ยมี่ ฝรั่งพันธุ์กิมจู ส้มโอบางขุนนนท์ ขนุนไพศาลทักษิณ อโวคาโด ทุเรียนพันธุ์กบชายน้ำ ทุเรียนพันธุ์กระดุม ทุเรียนพันธุ์ชะนี และคณะครู นักเรียน จากโรงเรียนวัดสุวรรณาราม  โรงเรียนวัดเจ้าอาม และโรงเรียนวัดบางขุนนนท์ ได้ร่วมกิจกรรมในฐานธรรมชาติพาท่องเรียนรู้พืชพื้นถิ่น ฐานปลูกและรักษาเพื่ออนาคต ฐานสนุกกับพันธุกรรม และเขียนปณิธานสร้างแรงบันดาลใจ นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครได้รับมอบหนังสือจากโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นหนังสือสำคัญเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรสู่การใช้ประโยชน์จากหลายสิ่งที่ไม่ใช่แค่พืช จำนวน 4,100 เล่ม เพื่อส่งต่อไปยังห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ของกรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร ร่วมสนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตั้งแต่ปี 2546 โดยดำเนินงานตามความพร้อม 3 กรอบ การดำเนินงาน จำนวน 5 กิจกรรม ได้แก่ 1.กรอบการเรียนรู้ทรัพยากร กิจกรรมสำรวจเก็บรวบรวมทรัพยากร และ  กิจกรรมปลูกรักษาทรัพยากร 2.กรอบการใช้ประโยชน์ทรัพยากร กิจกรรมศูนย์ข้อมูลทรัพยากร และ 3. กรอบการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากร กิจกรรมสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากร ซึ่งกิจกรรมในวันนี้เป็นกิจกรรมพิเศษสนับสนุนการอนุรักษ์ทรัพยากรส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกคนให้ตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น เชื่อมโยงความรู้สู่การปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวัน