กทม. ร่วมผลักดันการจัดทำคาร์บอนเครคิดเพื่อเป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในโครงการความร่วมมือไทย – เยอรมัน
วันนี้ (20 ธ.ค. 67) เวลา 09.00 น. น. นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดงานสัมมนาคาร์บอนเครคิตเพื่อการผลักดันเป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Carbon Credit 101: Driving BMA’s Climate Change Target) ภายใต้โครงการความร่วมมือไทย – เยอรมัน ด้านพลังงาน คมนาคม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Thai – German Cooperation on Energy, Mobility, and Climate: TGC – EMC) ร่วมกับ ดร. โดมินิกา คาลินอฟสกา ผู้อำนวยการโครงการภาคขนส่งในประเทศไทยและอาเซียนองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท โดยมีนางสาววรนุช สวยค้าข้าว รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม และคณะทำงานจากหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร ร่วมสัมมนา ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท กรุงเทพฯ
กรุงเทพมหานคร ร่วมกับองค์กร GIZ ดำเนินโครงการความร่วมมือไทย-เยอรมัน ด้านพลังงาน คมนาคม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Thai-German Cooperation on Energy, Mobility and Climate: TGC - EMC) ระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี ตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 - ธันวาคม 2570 เพื่อสนับสนุนกรุงเทพมหานครขับเคลื่อนการดำเนินงานใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านคมนาคมขนส่ง ด้านพลังงานหมุนเวียน และด้านการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้บรรลุเป้าหมายตามแผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564 – 2573 ที่กำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่น้อยกว่า 10.15 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ในปี พ.ศ. 2573 นอกจากนี้ องค์กร GIZ ได้ให้การสนับสนุนในการเสริมสร้างศักยภาพข้าราชการและบุคลากรของกรุงเทพมหานคร ให้มีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจัดการฝึกอบรม การตรวจวัด การรายงาน และการทวนสอบ (Measurement Reporting and Verification: MRV) เมื่อเดือนกันยายน 2567 ที่ผ่านมา
โดยในวันนี้ กรุงเทพมหานครร่วมกับผู้เชี่ยวชาญองค์กร GIZ ได้จัดสัมมนาเรื่อง “คาร์บอนเครดิตเพื่อการผลักดันเป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” หรือ Carbon Credit 101: Driving BMA’s Climate Change Target โดยมุ่งหวังให้ข้าราชการและบุคลากร มีความเข้าใจภาพรวมเกี่ยวกับตลาดคาร์บอนเครดิต วิธีการ กลไกการซื้อขายทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ ตลอดจนตัวอย่างของโครงการที่ประสบผลสำเร็จและสามารถซื้อขายคาร์บอนเครดิตในตลาดได้ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่กรุงเทพมหานครสามารถใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องและผลักดันให้สามารถซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้ในอนาคตและเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่จะช่วยให้กรุงเทพมหานคร สามารถบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี พ.ศ. 2593 ประกอบด้วย การนำเสนอ กรุงเทพมหานครกับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก โดยนางเสริมสุข นพพันธ์ ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง การเสวนาเรื่อง “โอกาสการซื้อขายคาร์บอนเครดิตของ กทม.” โดยผู้เชี่ยวชาญจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) บริษัท เดอะ ครีเอจี้ จำกัด และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นอกจากนั้น เป็นการนำเสนอโครงการซื้อขายคาร์บอนเครดิตของประเทศไทย ได้แก่ โครงการภายใต้โครงการ T-Ver ภาคป่าไม้และภาคขยะ โครงการภายใต้โครงการขนส่งและบทบาทของภาคเอกชนต่อการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศ โดยผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน และการกล่าวปิดงานโดยนางสาววรนุช สวยค้าข้าว รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ โครงการความร่วมมือไทย - เยอรมนี ด้านพลังงาน คมนาคม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Thai-German Cooperation on Energy Mobility and Climate: TGC-EMC) เป็นความร่วมมือระหว่างกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWK) ระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) วัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนประเทศไทยในการวางแผน และดำเนินกิจกรรมที่สอดคล้องกับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ มุ่งเน้นการดำเนินงานใน 5 ประเด็น ได้แก่ พลังงาน คมนาคมขนส่ง อุตสาหกรรม ชีวมวล และการเงินด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ทั้งยังสนับสนุนองค์กรและหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในประเทศไทยในการวางแผนและดำเนินกิจกรรมที่มุ่งสู่การเปลี่ยนแปลงในภาคพลังงาน ขนส่ง อุตสาหกรรม และชีวมวล ที่สอดคล้องกับเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี พ.ศ. 2593 ของรัฐบาลไทย และโครงการจะให้การสนับสนุนด้านการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Finance) โดยกองทุน ThaiCI (Thai Climate Initiative Fund) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ TGC EMC จะให้เงินทุนแก่โครงการในท้องถิ่นจำนวนหนึ่ง ควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพ