รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ เน้นย้ำเร่งสร้างความเข้าใจการเก็บค่าธรรมเนียมจัดการขยะอัตราใหม่ แยกขยะได้จ่ายเท่าเดิม
วันนี้ (21 พ.ย. 67) เวลา 08.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการให้บริการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยอัตราใหม่ตามร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ. ... ณ ห้องสุทัศน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า
ในที่ประชุมฯ รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ ได้กล่าวถึงแนวทางการดำเนินงานในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการให้บริการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยอัตราใหม่ โดยเน้นย้ำให้ผู้ปฏิบัติงานศึกษาขั้นตอนและวิธีการ เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการให้บริการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยอัตราใหม่ตามร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ที่มุ่งส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการคัดแยกขยะ โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่ 1 ปริมาณขยะไม่เกิน 20 ลิตรต่อวัน หรือไม่เกิน 4 กิโลกรัม จ่ายค่าธรรมเนียมรวม 60 บาท (ค่าเก็บและขนเดือนละ 30 บาท ค่ากำจัด 30 บาท) กรณีคัดแยกขยะและลงทะเบียนตามหลักเกณฑ์ที่กรุงเทพมหานครกำหนด จ่ายค่าธรรมเนียมเดือนละ 20 บาท (ค่าเก็บและขนเดือนละ 10 บาท ค่ากำจัดเดือนละ 10 บาท) กลุ่มที่ 2 ปริมาณขยะเกิน 20 ลิตรต่อวัน แต่ไม่เกิน 1 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน หรือเกิน 4 กิโลกรัม แต่ไม่เกิน 200 กิโลกรัมต่อวัน จ่ายค่าธรรมเนียม 120 บาทต่อ 20 ลิตร (ค่าเก็บและขน 60 บาทต่อ 20 ลิตร ค่ากำจัด 60 บาทต่อ 20 ลิตร) และ กลุ่มที่ 3 ปริมาณขยะเกิน 1 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ขึ้นไป หรือเกิน 1,000 ลิตร หรือเกิน 200 กิโลกรัมต่อวัน) จ่ายค่าธรรมเนียม 8,000 บาท (ค่าเก็บและขน 3,250 บาทต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร ค่ากำจัด 4,750 บาทต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร)
สำหรับประชาชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถลงทะเบียนได้หลายวิธี เช่น ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน BKK WASTE PAY หรือติดต่อฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ ณ สำนักงานเขตที่มีทะเบียนบ้านอยู่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ลงทะเบียนให้ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะดำเนินการตรวจสอบเพื่อยืนยันว่ามีการคัดแยกขยะจริงหรือไม่ ในอนาคตกรุงเทพมหานครจะเพิ่มการลงทะเบียนเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนเพิ่มเติมต่อไป ทั้งนี้ สภากรุงเทพมหานครมีมติเห็นชอบร่างข้อบัญญัติเก็บค่าธรรมเนียมการจัดเก็บขยะ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2567 โดยข้อบัญญัติฯ นี้ จะมีผลบังคับใช้ภายหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา 180 วัน
โดยในวันนี้มี นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร นายวิรัตน์ มนัสสนิสวงศ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักสิ่งแวดล้อม กลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ จำนวน 7 เขต ประกอบด้วย เขตสายไหม เขตหลักสี่ เขตบางซื่อ เขตบางเขน เขตจตุจักร เขตดอนเมือง เขตลาดพร้าว ร่วมประชุม