กทม. เดินหน้าขับเคลื่อนโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ จัดทำแผนแม่บทของหน่วยงาน

วันอังคารที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2567
image

(23 เม.ย. 67) เวลา 13.30 น. นางสาววรนุช สวยค้าข้าว รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมคณะอนุกรรมการจัดทำแผนแม่บท ครั้งที่ 1/2567 เพื่อขับเคลื่อนและสนับสนุนการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สนองพระราชดำริ โดยกรุงเทพมหานคร โดยมี รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะประธานอนุกรรมการจัดทำแผนแม่บท เป็นประธานการประชุม ณ ห้องเจ้าพระยา ชั้น 1 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า)

ในที่ประชุมฯ ได้แจ้งคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ สนองพระราชดำริโดยกรุงเทพมหานคร ตามคำสั่งกรุงเทพมหานคร ที่ 650/2566 เพื่อดำเนินงานสนองพระราชดำริในภาพรวมของกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานกรรมการฯ และได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและสนับสนุนการดำเนินงาน อพ.สธ. สนองพระราชดำริโดยกรุงเทพมหานคร  ตามคำสั่งที่ 1/2567 ลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 ประกอบด้วยคณะอนุกรรมการฯ จำนวน 6 คณะ ได้แก่ 1. คณะอนุกรรมการจัดทำแผนแม่บท 2. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและสนับสนุนการดำเนินงานตามกรอบการเรียนรู้ทรัพยากร 3. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและสนับสนุนการดำเนินงานตามกรอบการใช้ประโยชน์ ประกอบด้วย 2 คณะย่อย ดังนี้  3.1 คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและสนับสนุนการดำเนินงานอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากร 3.2  คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและสนับสนุนการดำเนินงานศูนย์ข้อมูลทรัพยากร 4. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อยนและสนับสนุนการดำเนินงานตามกรอบการสร้างจิตสำนึก ประกอบด้วย 2 คณะย่อย ดังนี้  4.1 คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและสนับสนุนการดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน และ 4.2  คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและสนับสนุนการจัดทำฐานทรัพยากรท้องถิ่น ฯ

สำหรับการประชุมครั้งนี้เป็นการประชุม ในคณะกรรมการ ที่ 1) คณะอนุกรรมการจัดทำแผนแม่บท โดยมีรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สั่งราชการสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล เป็นประธานอนุกรรมการ และคณะอนุกรรมการประกอบด้วย ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม หรือผู้แทน ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณกรุงเทพมหานคร หรือผู้แทน ผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง หรือผู้แทน ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม หรือผู้แทน ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา หรือผู้แทน ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว หรือผู้แทน ประธานกลุ่มการปฏิบัติงานของสำนักงานเขต 6 กลุ่มเขต และมีผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการ สำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม หัวหน้ากลุ่มงานแผนงานและสารสนเทศ สำนักงานยุทธศาสตร์การศึกษา สำนักการศึกษา หัวหน้ากลุ่มงานสารสนเทศ สำนักยุทธศาสตร์การศึกษา สำนักการศึกษา และหัวหน้ากลุ่มงานแผนงานและประเมินผล กองนโยบายและแผนงาน สำนักพัฒนาสังคม เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ โดยมีอำนาจหน้าที่  วางแนวทางการดำเนินงานสนองพระราชดำริตามแผนแม่บท อพ.สธ. หรือแนวทางการดำเนินงานตามกรอบการดำเนินงานของแผนแม่บท อพ.สธ. และดำเนินงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง  จัดทำแผนแม่บทของกรุงเทพมหานคร และแผนปฏิบัติงานรายปีให้สอดคล้องกับแผนแม่บทของ อพ.สธ. กำกับ ติดตาม และเร่งรัดการดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติงานรายปีและสอดคลัองกับแผนแม่บท อพ.สธ. รายงานความก้าวหน้าของการดำเนินงานทุก 6 เดือน เสนอต่อคณะกรรมการ อพ.สธ.-กทม และ ดำเนินการอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย

สำหรับ ความเป็นมาของการจัดทำแผนแม่บท โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ระยะ 5 ปีที่เจ็ด         (1 ตุลาคม พ.ศ. 2564 –   30 กันยายน พ.ศ. 2569) สนองพระราชดำริโดย กรุงเทพมหานคร (อพ.สธ. กทม.) และขั้นตอนกระบวนการเห็นชอบแผนแม่บท อพ.สธ.-กทม. มีวัตถุประสงค์การดำเนินงาน จำนวน 3 ข้อ คือ 1. ให้เข้าใจและเห็นความสำคัญของทรัพยากร 2. ให้ร่วมคิด ร่วมปฏิบัติ จนเกิดผลประโยชน์ถึงมหาชนชาวไทย และ 3. ให้มีระบบข้อมูลทรัพยากรสื่อถึงกันได้ทั่วประเทศ  มีการดำเนินงานตามแผนแม่บท อพ.สธ. ในการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากร 3 ฐาน คือ ทรัพยากรกายภาพ ชีวภาพ วัฒนธรรมและภูมิปัญญา ตามแนวทางการดำเนินงาน 3 กรอบ (Frame) 8 กิจกรรม (Activity) ภายใต้แผนแม่บท มีระยะ 5 ปี ต่อหนึ่งแผน  โดยกรุงเทพมหานครร่วมสนองพระราชดำริ ตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2546 มีเขตจอมทองเป็นเขตนำร่องในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินงานมาถึงระยะ 5 ปีที่เจ็ด ช่วงวันที่ 1 ตุลาคม 2564 – 30 กันยายน 2569 ซึ่งกรุงเทพมหานครเป็นหน่วยงานสนองพระราชดำริที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม G8 หรือกลุ่มจังหวัดที่ร่วมสนองพระราชดำริ จากทั้งหมด 10 กลุ่ม 210 หน่วยงาน อพ.สธ. – กทม. มีการดำเนินงานสนองพระราชดำริฯ ตามความพร้อม 3 กรอบการดำเนินงาน จำนวน 5 กิจกรรม ดังนี้ กรอบการเรียนรู้ทรัพยากร 1. กิจกรรมสำรวจเก็บรวบรวมทรัพยากร หน่วยงานที่ดำเนินงาน ได้แก่ สำนักสิ่งแวดล้อมและสำนักงานเขต มีการดำเนินการ ดังนี้ 1.1 การสำรวจเก็บรวบรวมพันธุกรรมพืชควรค่าแก่การอนุรักษ์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร  1.2 การสำรวจข้อมูลไม้ยืนต้นด้วยระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) 1.3 การจัดทำป้ายพรรณไม้ในพื้นที่กทม. 2. กิจกรรมปลูกรักษาทรัพยากร หน่วยงานที่ดำเนินงาน ได้แก่ สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักพัฒนาสังคม และสำนักงานเขต มีการดำเนินการ ดังนี้ 2.1 การดูแลรักษาพันธุกรรมพืชควรค่าแก่การอนุรักษ์ 2.2 การขยายพันธุ์พืชควรค่าแก่การอนุรักษ์เพื่อปลูกหรือแลกเปลี่ยนหรือแจกจ่ายพันธุกรรม กรอบการใช้ประโยชน์ทรัพยากร

3. กิจกรรมศูนย์ข้อมูลทรัพยากร หน่วยงานที่ดำเนินงานหลักคือสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล มีการดำเนินการ คือ 3.1 การจัดทำฐานข้อมูลพืชควรค่าแก่การอนุรักษ์พันธุกรรมกรุงเทพมหานครและฐานข้อมูลไม้ยืนต้นในกรุงเทพมหานคร 3.2 การจัดทำฐานข้อมูลทรัพยากรท้องถิ่นพื้นที่เขต และกรอบการสร้างจิตสำนึก 4. กิจกรรมสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากร หน่วยงานที่ดำเนินงาน ได้แก่ สำนักสิ่งแวดล้อมและสำนักงานเขต มีการดำเนินการ ดังนี้  4.1 การจัดแสดงพิพิธภัณฑ์พืชกรุงเทพมหานคร (งานต่อเนื่องแผนแม่บทระยะ 5 ปีที่หก) 4.2 งานพิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวกับทรัพยากรทั้ง 3 เช่น พิพิธภัณฑ์ หอศิลปวัฒนธรรม นิทรรศการถาวร 5. กิจกรรมพิเศษสนับสนุนการอนุรักษ์ทรัพยากร  5.1 สนับสนุนโรงเรียนสมัครเข้าร่วมสนองพระราชดำริ อพ.สธ. ในงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน หน่วยงานที่ดำเนินงานหลักคือสำนักการศึกษา 5.2 การจัดอบรมงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น หน่วยงานที่ดำเนินงานหลักคือสำนักสิ่งแวดล้อม 5.3 สนับสนุนสำนักงานเขต สมัครเข้าร่วมสนองพระราชดำริ อพ.สธ. ในงานสำรวจและจัดทำฐานทรัพยากรท้องถิ่น ซึ่งทั้ง 50 เขต ดำเนินการครบทั้ง 50 เขต 5.4 ร่วมจัดแสดงนิทรรศการ ในงานประชุมวิชาการและนิทรรศการ อพ.สธ. โดยปกติจะจัดทุก ๆ 2 ปี หน่วยงานที่ดำเนินงานหลักคือสำนักสิ่งแวดล้อม 5.5 การประชุมหน่วยงานสนองพระราชดำริ อพ.สธ.-กทม. หน่วยงานที่ดำเนินงาน ได้แก่ สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล สำนักพัฒนาสังคม และสำนักการศึกษา ซึ่งมีเป้าหมายโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมเป็นสมาชิกงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนครบทั้ง 437 โรงเรียน  ภายในปี 2568 ซึ่งปัจจุบันมีโรงเรียนที่เป็นสมาชิกงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน จำนวน 307 โรงเรียน (คิดเป็นร้อยละ 70)

ในการนี้ ที่ประชุมฯ มอบหมายให้คณะอนุกรรมการ ฯ  ดำเนินการสำรวจเก็บรวบรวมพันธุกรรมพืชควรค่าแก่การอนุรักษ์ในพื้นที่กรุงเทพฯ ของแต่ละพื้นที่ที่รับผิดชอบ รวมถึงสำรวจ และรวบรวม ทรัพยากรกายภาพ ชีวภาพ วัฒนธรรมและภูมิปัญญา ตามแนวทางการดำเนินงานเพื่อจัดทำเป็นฐานข้อมูล ในการพัฒนาและปรับปรุงแผนปฏิบัติงานฯ ประจำปี 2569 เพื่อขับเคลื่อนและสนับสนุนการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต่อไป