กรุงเทพมหานครมีนโยบายส่งเสริมการลดและคัดแยกขยะที่ต้นทาง (Zero waste)

วันศุกร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2567
image

กรุงเทพมหานครมีนโยบายส่งเสริมการลดและคัดแยกขยะที่ต้นทาง (Zero waste) มุ่งเน้นส่งเสริมชุมชน องค์กร สถานประกอบการ ลดและคัดแยกขยะมุ่งผลสำเร็จตามหลักการของเสียเหลือศูนย์ (Zero waste) และสำนักงานเขตได้ดำเนินการส่งเสริมให้มีการลดและคัดแยกขยะที่แหล่งกำเนิดมาใช้ประโยชน์ โดยแบ่งตามประเภทแหล่งกำเนิด ซึ่งในปี 2565 มีองค์กร/ชุมชน/สถานประกอบการเข้าร่วม โครงการ 6 ประเภท ได้แก่ ชุมชน สถานศึกษา อาคาร ตลาด วัดและศาสนสถาน และงานกิจกรรมหรือเทศกาลในพื้นที่เขต และในปี 2566 มีการขยายผลกำหนดเป้าหมายเชิญชวนองค์กร/ชุมชน/สถานประกอบการเข้าร่วมโครงการ เป็น 16 ประเภทแหล่งกำเนิด ได้แก่ ชุมชน โรงเรียน วัดและศาสนสถาน ตลาด ห้างสรรพสินค้า สถานบริการน้ำมัน โรงแรม ธนาคาร สถานพยาบาล สวนสาธารณะ หน่วยงานสังกัด กทม. ซุปเปอร์มาเก็ต/มินิมาร์ท ร้านอาหาร สำนักงานโรงงาน แฟลตหรือคอนโดมิเนียม งานกิจกรรมหรือเทศกาล นอกจากนี้ ยังมีนโยบาย “ส่งขยะคืนสู่ระบบ” มุ่งเน้นการแยกขยะที่มีประโยชน์กลับมาหมุนเวียนใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด โดยมีการจัดการขยะประเภทต่าง ๆ ดังนี้ ขยะเศษอาหารและกิ่งไม้ใบไม้ ดำเนินการตามโครงการ “ไม่เทรวม

นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร ร่วมกล่าวถึง ความคืบหน้าการดำเนินโครงการไม่เทรวม ว่า  กทม. ให้ความสำคัญกับการลดขยะตั้งแต่ต้นทาง คัดแยก และนำไปใช้ประโยชน์ ควบคู่กับการรณรงค์ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการจัดการขยะ ณ แหล่งกำเนิด ตามนโยบายสร้างต้นแบบการแยกขยะต่อยอดให้การแยกระดับเขตสมบูรณ์ครบวงจรเกิดผลเป็นรูปธรรมและลดปริมาณมูลฝอยเศษอาหารที่ถูกทิ้งรวมมากับมูลฝอยทั่วไป ในปี 2566 กทม. ร่วมกับ สสส. และภาคีเครือข่าย พัฒนาโครงการ “BKK Zero Waste ต่อยอดแคมเปญไม่เทรวม” นำร่องใน 3 เขต ได้แก่ 1.หนองแขม 2.พญาไท 3.ปทุมวัน เน้นส่งเสริมให้สถานประกอบการและประชาชนคัดแยกขยะเศษอาหารตั้งแต่ต้นทาง ทำให้ในปี 2566 มีแหล่งกำเนิดที่เข้าร่วมโครงการ ในปี 66 จำนวน 2,805 แห่ง แยกขยะเศษอาหารได้ ทั้งหมด 22,140 ตัน หรือ 180 ตัน/วัน

“ในปีงบประมาณ 67 กทม. ตั้งเป้าลดขยะให้ได้ 200 ตัน/วัน และเพิ่มขึ้นในปี 68 เป็น 500 ตัน/วัน ปี 69 จำนวน 1,000 ตัน/วัน สำหรับในปีนี้มีหน่วยงานที่เข้าร่วม แบ่งเป็น ตลาด 184 แห่ง แยกเศษอาหารได้ 76 ตัน/วัน สถานศึกษา 457 แห่ง แยกเศษอาหารได้ 19.4 ตัน/วัน ห้างสรรพสินค้า 114 แห่ง แยกเศษอาหารได้ 23.3 ตัน/วัน และโรงแรม 136 แห่ง แยกเศษอาหารได้ 17.7 ตัน/วัน โดยในปี 66 พบว่าจำนวนขยะลดลงจากปี 65 เฉลี่ย 204 ตัน/วัน หรือ 74,460 ตัน/ปี หรือคิดเป็นเงิน 141,474,000 บาท สำหรับในเฟสต่อไปต้องดึงประชาชนมาเข้าร่วมโครงการให้มากขึ้น โดยใช้มาตรการทางด้านเศรษฐศาสตร์ หรือภาษี ค่าธรรมเนียม และต้องทำให้เห็นว่าเมื่อแยกขยะแล้ว กทม.ก็ไม่เทรวม”

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรุงเทพมหานคร และสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมถึงองค์กรภาคีทุกภาคส่วนเข้าร่วมแสดงเจตจำนงขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยตั้งแต่ต้นทางผ่านกิจกรรม ‘BKK ZERO WASTE’ ต่อยอดแคมเปญไม่เทรวม เพื่อส่งเสริมให้องค์กร หน่วยงาน สาธารณชน ตระหนักถึงปัญหาขยะ พร้อมมีส่วนร่วมในการลดการสร้างขยะและคัดแยกขยะที่ต้นทาง เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาขยะอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา แบ่งเป็น 3 เฟส คือ เฟส 1 คือ ขอความร่วมมือจากประชาชนทั่วไป ให้แยกขยะเปียกและขยะแห้งออกจากกัน โดยได้มีการเริ่มนำร่องที่ 3 เขต ได้แก่ เขตพญาไท หนองแขม และปทุมวัน เฟส 2 คือ ขอความร่วมมือจากองค์กรขนาดกลางและขนาดใหญ่คัดแยกขยะ เนื่องจากขยะส่วนใหญ่มาจากองค์กรขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น ตลาด ห้างสรรพสินค้า โรงแรม ออฟฟิศ วัด และเฟส 3 คือ ขอความร่วมมือนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ที่มีความสนใจอยากแยกขยะด้วยตนเอง โดยจะมีการส่งเสริมให้ความรู้ที่สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร ห้างสรรพสินค้า และปั๊มน้ำมัน 

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวกำหนดสิ้นสุดในเดือนพฤษภาคม 2567 ดังนั้น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรุงเทพมหานคร และสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงจัดงานสรุปผลการดำเนินโครงการ BKK Zero Waste ต่อยอดแคมเปญไม่เทรวม ภายใต้โครงการพัฒนาเขตนำร่องการจัดการขยะมูลฝอยที่ต้นทางอย่างยั่งยืนในกรุงเทพมหานคร กรณีศึกษาเขตปทุมวัน เขตพญาไท และเขตหนองแขม เพื่อเป็นการนำเสนอผลการดำเนินโครงการดังกล่าว ประกอบด้วย  ภาพรวมการดำเนินโครงการ โดย ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี หัวหน้าโครงการการพัฒนาระบบข้อมูลกลางและเว็บไซต์ โดยคุณมยุรี  อรุณวานนท์ GEPP SA-ARD CO. LTD การจัดการขยะอินทรีย์ด้วยหนอนแมลงทหารดำ (BSF) โดยคุณสาริณี  เสถียรภัคกุล GENESIS X และ Waste Buy Delivery โดยคุณตรีเทพ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ผู้บริหารโครงการ Waste Buy Delivery และการถอดบทเรียนความร่วมมือจัดการขยะที่ต้นทาง นอกจากนั้น เป็นการกล่าวความคืบหน้าการดำเนินโครงการไม่เทรวม โดยนายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร สรุปผลการดำเนินงานโครงการ โดย รศ.ดร.พันธวัศ สัมพันธ์พานิช ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม การวางแผนพัฒนาการดำเนินงานในอนาคต และการวางแผนพัฒนาการดำเนินงานในอนาคต โดยนายศรีสุวรรณ  ควรขจร กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายในงานมีการจัดบูธเพื่อให้ความรู้ในเรื่องการคัดแยกขยะและการจัดการขยะเพื่อต่อยอดให้เกิดประโยชน์ ได้แก่ บูทมือวิเศษกรุงเทพฯ โดย Less Plastic Thailand x PPP Plastics  บูทการจัดการขยะอินทรีด้วย Black Soldier Fly (BSF) บูทถังขยะแยกประเภทของสำนักสิ่งแวดล้อม และบูทผลิตภัณฑ์จากพลาสติกรีไซเคิล โดย YOLO 

ผู้ร่วมกิจกรรมในวันนี้ ประกอบด้วย พระมหานภันต์ สนฺติภทฺโท ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหารนายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร  นายอาฤทธิ์  ศรีทอง และนางสาววรนุช  สวยค้าข้าว รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม  ผู้บริหารสำนักงานเขตปทุมวัน  พญาไท และหนองแขม ผู้แทนจากองค์กรภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย โรงเรียน  ศาสนสถาน  คอนโดมิเนียม  ชุมชน  บริษัท โรงแรม และอื่น ๆ อาคารสำนักงาน ที่ปรึกษาโครงการฯ และสื่อมวลชน