กทม. สานพลังไทยคมและบางจาก ร่วมปลูกต้นราชพฤกษ์ และรับมอบแก้วพลาสติกชีวภาพ เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก

วันพุธที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2567
image

วันนี้ (5 มิ.ย. 67) เวลา 09.00 น. นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมปลูกต้นราชพฤกษ์ จำนวน 72 ต้น และรับมอบแก้วพลาสติกชีวภาพ จำนวน 720,000 ใบ เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก ประจำปี 2567 โดยมี นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม นายโชคชัย อัศวรังสฤษฎ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นายพงศ์ศักดิ์ งามมิตรสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักประสานงานความถี่ ส่วนงานกลยุทธ์และกิจการองค์กร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ผู้บริหาร ข้าราชการ บุคลากรสำนักสิ่งแวดล้อม บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ร่วมกิจกรรม ณ สวนเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ เขตบางบอน (สวน 9 เนิน เดินตามรอยพ่อ)

กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม จัดกิจกรรมเนื่องในโอกาสวันสิ่งแวดล้อมโลก ประจำปี 2567 โดยร่วมกับบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ปลูกต้นราชพฤกษ์ จำนวน 72 ต้น ในจำนวนนี้ เป็นต้นราชพฤกษ์ที่เพาะพันธุ์จากเมล็ดต้นราชพฤกษ์ทรงปลูกของในหลวง รัชกาลที่ 9 ในครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดสถานีดาวเทียมไทยคม ณ สถานีดาวเทียมไทยคม จังหวัดนนทบุรี เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2537 ซึ่งสำนักสิ่งแวดล้อมได้รับจากบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) เพื่อนำมาปลูกในสวนสาธารณะของกรุงเทพมหานคร เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว เป็นกำแพงกรองฝุ่น ตามนโยบายปลูกต้นไม้ล้านต้นและต้นราชพฤกษ์ อีกจำนวน 16 ต้น เป็นต้นราชพฤกษ์จากธนาคารกล้าไม้กรุงเทพมหานคร 

ในส่วนของแก้วพลาสติกชีวภาพ หรือ อินทนิลไบโอคัพ จำนวน 720,000 ใบ ได้รับจาก บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นแก้วพลาสติกที่ผลิตจากพลาสติกชีวภาพ 100% สามารถใช้แทนถุงดำบรรจุกล้าไม้และนำลงหลุมปลูกได้โดยไม่ต้องดึงออก เพราะอินทนิลไบโอคัพ เมื่อถูกฝังดินสามารถย่อยสลายตามธรรมชาติได้ในระยะเวลา 180 วัน (ภายใต้สภาวะที่เหมาะสม) โดยสำนักสิ่งแวดล้อม จะนำมาใช้ในการเพาะกล้าไม้เพื่อใช้ปลูกเพิ่มพื้นที่สีเขียวในพื้นที่กรุงเทพฯ อีกทั้งจะช่วยลดปริมาณขยะจากการใช้ถุงพลาสติกดำเพาะกล้าไม้ด้วยการเปลี่ยนมาใช้แก้วอินทนิลไบโอคัพใช้แล้วที่ผลิตจากพืช 100% สอดคล้องกับนโยบายของกรุงเทพมหานครที่ส่งเสริมลดการใช้ขยะพลาสติกและรณรงค์ให้ประชาชนคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง เพื่อลดขั้นตอนและงบประมาณในการจัดการขยะ