สำนักสิ่งแวดล้อมร่วมแถลงข่าวเรื่องการเช่ารถเก็บขนมูลฝอยที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (EV) ของกรุงเทพมหานคร
วันนี้ (4 ต.ค. 67) เวลา 09.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการแถลงข่าวเรื่องการเช่ารถเก็บขนมูลฝอยที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (EV) ของกรุงเทพมหานคร โดยมีนายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยนายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม และนายภาณุวัฒน์ อ่อนเทศ ผู้อำนวยการสำนักงานจัดการมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล ร่วมแถลง ณ ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า)
สำหรับรถเก็บขนมูลฝอยของกรุงเทพมหานคร กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อมใช้วิธีการเช่ารถเก็บขนมูลฝอย มาแต่ตั้งแต่ปี 2545 ซึ่งในปี 2567 – 2568 จะมีรถเก็บขนมูลฝอยที่จะทยอยหมดสัญญาเช่า ได้แก่ 1. รถยกภาชนะ 3 ลบ.ม. จำนวน 102 คัน 2. รถแบบอัด 2 ตัน จำนวน 152 คัน 3.รถยกภาชนะ 8 ลบ.ม. จำนวน 124 คัน 4. รถแบบอัด 5 ตัน จำนวน 464 คัน โดยในปี 2566 สำนักสิ่งแวดล้อมได้ตั้งโครงการเช่ารถเก็บขนมูลฝอย 4 โครงการ เพื่อทดแทนรถที่จะหมดสัญญาอย่างน้อย 1 ปี และวัตถุประสงค์ไม่ได้ระบุประเภทของเชื้อเพลิงที่ใช้ แต่ระบุประเภทรถ จำนวนคัน และงบประมาณที่ใช้
ตามที่ผู้บริหารกรุงเทพมหานครมีนโยบายในการลดการใช้พลังงาน ด้วยการนำรถพลังงานไฟฟ้า หรือ รถ EV มาใช้กับรถของกรุงเทพมหานคร สำนักสิ่งแวดล้อมได้หาข้อมูล ประกอบด้วย 1.หลักเกณฑ์ในการเช่ารถขยะไฟฟ้า 2. ราคา และ3. ประสิทธิภาพการใช้งาน ในส่วนของการนำรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้ามาใช้ในราชการ ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 64 และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เห็นชอบในหลักการกำหนดให้หน่วยงานในสังกัด กทม. จัดซื้อจัดจ้างรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2565 อีกทั้ง กรุงเทพมหานครร่วมกับสถาบันวิจัยและบริการวิชาการด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา ศึกษาและทดลองการใช้รถเก็บขยะพลังงานไฟฟ้า พบว่ารถไฟฟ้าประหยัดค่าใช้จ่ายจากเดิมใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ไม่มีไอเสียจากการขับเคลื่อนและการบีบอัดขยะ ทำให้ไม่ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 รวมถึงในการบีบอัดไม่ก่อให้เกิดเสียงดัง
รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ กล่าวว่า “การที่เราจะนำรถไฟฟ้ามาเช่าแทนรถดีเซล ดูจากวัตถุประสงค์แล้วไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง เราจึงเริ่มดำเนินการโครงการนี้ แต่ระหว่างดำเนินการ ทางสำนักสิ่งแวดล้อมตั้งข้อสงสัยว่าสามารถดำเนินโครงการนี้ได้จริงหรือไม่ จึงทำเรื่องหารือถึงปลัดกรุงเทพมหานคร โดยปลัด กทม. ส่งสำนักงบประมาณพิจารณา และได้รับคำตอบว่าเนื่องจากวัตถุประสงค์ของโครงการไม่ได้ระบุประเภทการใช้พลังงาน ดังนั้นการที่สำนักสิ่งแวดล้อมจะใช้รถประเภทใดก็แล้วแต่ก็สามารถดำเนินการได้ แต่ต้องเป็นวงเงินเดิมไม่เปลี่ยนแปลง หากมีการเปลี่ยนวงเงินและวัตถุประสงค์ต้องเสนอสภา กทม. แต่ในขณะที่กำลังดำเนินโครงการนั้นได้รับการร้องเรียนว่าเป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้อง ทำให้โครงการต้องหยุดชะงักลงและเป็นอันต้องยกเลิกไป ดังนั้นในปีงบประมาณ 2568 สำนักสิ่งแวดล้อมจึงเสนอโครงการเช่ารถขยะไฟฟ้าทั้งหมดจำนวน 4 โครงการ ซึ่งผ่านสภา กทม. เรียบร้อยแล้ว”