กทม. บูรณาการทุกภาคส่วน เดินหน้ามาตรการแก้ไขปัญหา PM2.5 ตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ

วันอังคารที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2567
image

วันนี้ (24 ก.ย. 67) เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2/2567 ณ ห้องนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า และการประชุมทางไกลผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

การประชุมในวันนี้คณะกรรมการฯ ได้ร่วมหารือเกี่ยวกับการกำหนดค่าความเข้มข้น PM2.5 เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันสุขภาพอนามัยประชาขน และประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง การห้ามรถบรรทุกเข้าพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษกภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ใช้อำนาจตามมาตรา 29 ประกอบกับ มาตรา 37 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 เพื่อลดปัจจัยต้นตอสำคัญของมลพิษและลดความอันตรายต่อสุขภาพประชาชนในพื้นที่ โดยกำหนดหลักเกณฑ์การออกประกาศ ดังนี้ 1. ข้อมูลบ่งชี้ : ค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM2.5 อยู่ในระดับสีแดง 5 เขต 2. การพยากรณ์ ล่วงหน้า 2 วัน ประกอบด้วย ค่าฝุ่นละออง PM2.5 ระดับสีแดง มากกว่า 5 เขต หรือ ระดับสีส้ม มากกว่า 15 เขต อัตราการระบายอากาศ (VR) น้อยกว่า 3,000 ตารางเมตรต่อวินาที และทิศทางลมจากตะวันออก 3. ออกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง การห้ามรถบรรทุกเข้าพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษกภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด (ประกาศล่วงหน้าอย่างน้อย 24 ชั่วโมง) ระยะเวลาการห้าม 3 วัน โดยมีผลบังคับใช้นับแต่วันถัดจากวันประกาศ รวมถึงหารือร่างแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปี 2568 ภายใต้แผนปฏิบัติการการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” โดยคณะกรรมการฯ มีมติเห็นชอบและจะประกาศใช้ในวันที่ 1 ต.ค. 67 นี้

นอกจากนี้ ในที่ประชุมได้รายงานผลการดำเนินงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยผลการตรวจจากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรุงเทพมหานคร ข้อมูล ณ วันที่ 15 ก.ย. 2567 พบว่าในปี 2567 มีจำนวนวันที่ค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน จำนวน 80 วัน ซึ่งมีแนวโน้มลดลงจากปี 2566 ที่มีจำนวน 104 วัน จากนั้นได้รายงานผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครปี 2567 ภายใต้แผนลดฝุ่น 365 วัน ที่กรุงเทพมหานครได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในสังกัดและหน่วยงานภายนอก ดำเนินการตามมาตรการติดตามเฝ้าระวัง อาทิ นักสืบฝุ่น Risk Map แจ้งเตือน และติดตั้ง Sensor 1,000 จุด การกำจัดต้นตอ ได้แก่ ตรวจวัดควันดำ ตรวจคุณภาพอากาศเชิงรุก การนำรถอัดฟางใช้ในการเกษตร รถ Feeder การพัฒนาทางเท้า การจัดการจุกฝืด Bike Lane ส่งเสริม EV และการป้องกันประชาชน อาทิ ธงคุณภาพอากาศ ห้องปลอดฝุ่น DIY เครื่องฟอกอากาศ และนโยบายปลูกต้นไม้ล้านต้น การมีส่วนร่วมจากประชาชนในการแจ้งสถานการณ์ต่าง ๆ ผ่านแอปพลิเคชัน Traffy Fondue และสภาลมหายใจ รวมถึงการดำเนินงานตามแผนระยะวิกฤต ได้แก่ จัดตั้ง War Room การแจ้งเตือน 3 ครั้ง/วัน ตรวจควันดำท่าเรือ/นิคมอุตสาหกรรม แคมเปญ รถคันนี้ลดฝุ่น การขอความร่วมมืองดจุดธูป เทียน ในวัดและศาลเจ้า ห้ามจอดรถถนนสายหลัก/สายรอง จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ แจกหน้ากากอนามัยเชิงรุก และการติดตามข้อมูลคุณภาพอากาศ ผ่านทางแอปพลิเคชัน AirBKK  facebook เว็บไซต์  Line Alert เฝ้าระวัง Hot Spot การหยุดก่อสร้าง การประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ หากการพยากรณ์คาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง 3 วัน มาตรการ Bangkok Emission Zone ประกาศขอความร่วมมือเครือข่าย WFH ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ให้ข้าราชการ/พนักงานปฏิบัติงานจากที่พัก คลินิกมลพิษทางอากาศ โรงเรียนสู้ฝุ่น 

การประชุมฯ ในวันนี้มี รองศาสตรจารย์ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นางวันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร นายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และโฆษกของกรุงเทพมหานคร นายประพาส  เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม นางสาววรนุช สวยค้าข้าว รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม ผู้บริหารสำนักสิ่งแวดล้อม ผู้แทนหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมควบคุมมลพิษ กรมควบคุมโรค กรมอนามัย กรมอุตุนิยมวิทยา กรมประชาสัมพันธ์ กรมการขนส่งทางบก สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กรมสรรพสามิต กรมธุรกิจพลังงาน สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กองทัพภาคที่ 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบังคับการตำรวจจราจร องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครปฐม สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสมุทรสาคร สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนนทบุรี สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดปทุมธานี สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสมุทรปราการ การรถไฟแห่งประเทศไทย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เข้าร่วมประชุม