กทม. ผนึกกำลัง กระทรวงคมนาคม แถลงความพร้อมรับมือฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จากภาคคมนาคมขนส่งในพื้นที่กรุงเทพฯ

วันจันทร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566
image

วันนี้ (20 พ.ย. 66) เวลา 15.00 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมแถลงข่าวนโยบายและมาตรการป้องกันและลดมลพิษจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) จากภาคคมนาคมขนส่ง ณ ห้องประชุมราชดำเนิน อาคารราชรถสโมสร ชั้น 2 กระทรวงคมนาคม

สำหรับแหล่งกำเนิด PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร แบ่งออกเป็น 5 แหล่ง ได้แก่ 1.รถยนต์ดีเซล 57% 2. ฝุ่นทุติยภูมิ 16% 3.เผาไหม้ชีวมวล 15% 4.รถยนต์เบนซิล 8% 5.อื่น ๆ 4% โดยกรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการตามแผนลดฝุ่น 365 วัน ผ่านมาตรการ การเฝ้าระวัง การลดฝุ่น และการป้องกันสุขภาพ ในระดับค่าฝุ่นไม่เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม. โดยกรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดตั้งทีมนักสืบฝุ่นเก็บและวิเคราะห์ตัวอย่าง เพื่อหาที่มาของฝุ่นในช่วงเวลาฝุ่นน้อยและฝุ่นมาก รวมถึงค่าองค์ประกอบของฝุ่นเพื่อแยกแหล่งกำเนิดฝุ่นได้อย่างถูกต้อง จัดทำ RISK MAP โดยนำข้อมูลจุดกำเนิดฝุ่นแสดงลงในแผนที่กรุงเทพมหานคร พร้อมการแจ้งเตือน 1 ครั้ง/วัน ติดตั้ง SENSOR ตรวจวัดฝุ่น 1,000 จุด จัดทำแอปพลิเคชัน AirBKK แสดงค่าฝุ่นรายเขตจากสถานีตรวจวัดใกล้เคียงพร้อมค่าพยากรณ์ ติดตามข้อมูลจากจุดความร้อนจากการเผาในที่โล่ง จากแพลตฟอร์มแสดงจุดความร้อนของ GISTDA และ FIRMS ของ NASA เมื่อพบจุดความร้อนประสานกับสำนักงานเขต เพื่อให้เข้าดำเนินการในพื้นที่ การมีส่วนร่วมจากแอปพลิเคชัน Traffy Fondue และสภาลมหายใจ รวมถึงการตรวจวัดควันดำ ตรวจวัดคุณภาพอากาศ ป้องกันการเผาในที่โล่ง กิจกรรมธงคุณภาพอากาศ สวน 15 นาที ต้นไม้ล้านต้น ห้องเรียนปลอดฝุ่น DIY เครื่องฟอกอากาศและการล้างถนน รวมถึงแผนบริหารจัดการฝุ่น ระยะวิกฤตที่มีค่าฝุ่นตั้งแต่ 37.6 มคก./ลบ.ม. โดยการจัดตั้ง war room มีการแจ้งเตือน 3 ครั้ง/วัน ในช่วงที่ค่าฝุ่นสูง การตรวจวัดควันดำรถและเรือ 3 วัน/สัปดาห์ ห้ามจอดรถบริเวณถนนสายหลักและสายรอง งดจุดธูปเทียนในวัดหรือศาลเจ้า ห้ามเผาในที่โล่ง ปรับปรุงรูปแบบการเรียน แจกหน้ากากอนามัยเชิงรุก จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ 50 แห่ง ตั้งคลินิกมลพิษทางอากาศ 8 แห่ง กรณีค่าฝุ่นตั้งแต่ 75.1 ขึ้นไป แจ้งเตือน LINE ALERT ประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ หยุดการก่อสร้าง งดค่าโดยสาร BTS ต่อขยาย สร้างเครือข่าย WFH และการจัดทำฝนหลวง

โดยกรุงเทพมหานคร ได้ประสานความร่วมมือกระทรวงคมนาคม ดำเนินการในด้านต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ 1. กรมการขนส่งทางบก ดำเนินการตรวจควันดำรถบรรทุก ตรวจสอบมาตรฐาน ตรอ. ส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า 2. กรมการขนส่งทางราง ดำเนินการกำชับ รฟม. ให้ปฏิบัติตามมาตรการ EIA 3. กรมทางหลวง ดำเนินการแก้ไขปัญหารถติดบริเวณหน้าด่านเก็บเงิน กำชับผู้รับเหมาให้บำรุงรักษาเครื่องยนต์ 4. ขสมก. ดำเนินการบำรุงรักษารถเมล์อย่างสม่ำเสมอ เช่น การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง/ไส้กรองอากาศ เปลี่ยนรถเมล์เป็นรถเมล์ไฟฟ้า

การแถลงข่าวในวันนี้มี นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม ผู้บริหารสำนักสิ่งแวดล้อม กรมทางหลวง สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร การรถไฟแห่งประเทศไทย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย กรมการขนส่งทางบก  กรมการขนส่งทางราง กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม ร่วมแถลงข่าว