ติดตามความคืบหน้าการปลูกต้นไม้ล้านต้น มุ่งเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้ตามเป้า

วันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566
image

วันนี้ (17 พ.ย. 66) เวลา 13.30 น. นางสาววรนุช  สวยค้าข้าว รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม เป็นประธานการประชุมหารือยุทธศาสตร์การปลูกต้นไม้ล้านต้นของกลุ่มยุทธศาสตร์กลุ่มที่ 1 ประจำปีงบประมาณ 2567 ครั้งที่ 2/2566 โดยมีผู้แทนจากสำนักงานเขตหนองจอก เขตบางเขน เขตบางกะปิ เขตมีนบุรี เขตลาดกระบัง เขตตลิ่งชัน เขตบางขุนเทียน เขตหนองแขม เขตสวนหลวง เขตจอมทอง เขตดอนเมือง เขตบางแค เขตสายไหม เขตคันนายาว เขตสะพานสูง เขตคลองสามวา เขตทุ่งครุ เขตบางบอน ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักสิ่งแวดล้อม ร่วมประชุม ณ ห้องประชุม ชั้น 23 อาคารธานีนพรัตน์ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง

การประชุมในวันนี้เป็นการรายงานผลการดำเนินการและเป้าหมายการปลูกต้นไม้ตามนโยบายปลูกต้นไม้ล้านต้นของกลุ่มยุทธศาสตร์ กลุ่มที่ 1 ซึ่งมีเป้าหมาย ปลูก 180,000 ต้น ภายในระยะเวลา 4 ปี (ระหว่าง ปี 2565 – 2568) ทั้งนี้ผลการดำเนินการในปี 2565 สามารถปลูกไม้ยืนต้นได้ 14,106 ต่ำกว่าเป้าหมาย 6,644 ต้น ในส่วนของปี 2566 ปลูกไม้ยืนต้นไปแล้ว 34,739 ต้น จากเป้าหมาย 40,500 ต้น ซึ่งแต่ละเขตต้องเร่งดำเนินการให้บรรลุตามเป้าหมาย และในปี 2567 มีเป้าหมายในการปลูกต้นไม้ตามนโยบายปลูกต้นไม้ล้านต้น 54,000 ต้น โดยแบ่งเป็น ไม้ยืนต้น 2,250 ต้น ไม้พุ่มกลาง 600 ต้น และไม้เถา 150 ต้น  สำหรับกลุ่มยุทธศาสตร์การปลูกต้นไม้ล้านต้น กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ แต่ยังมีสวนน้อยอยู่ มีสำนักงานเขตที่อยู่ในกล่มนี้ทั้งหมด 18 เขต เป็นกลุ่มที่มีเป้าหมายในการปลูกไม้ยืนต้น 75 % ปลูกไม้ไม้พุ่มกลาง 20% และปลูกไม้เถา 5%  และเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายตามยุทธศาสตร์การปลูกต้นไม้ล้านต้น เขตสามารถขอความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนในพื้นที่ เช่น วัด โรงเรียน หรืออาคารขนาดใหญ่ ร่วมปลูกต้นไม้กับกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ ยังหารือเรื่องการเลือกพื้นที่ในการทำสวน 15 นาที ที่ประชาชนสามารถเข้าใช้ประโยชน์ในการพักผ่อน ออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมทั้งของภาครัฐและเอกชน โดยมีเป้าหมายเพิ่มสวน 15 นาที เขตละ 3 แห่ง

การปลูกต้นไม้ตามนโยบายปลูกต้นไม้ล้านต้น เป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและเป็นกำแพงกรองฝุ่น ให้ต้นไม้ช่วยดักจับฝุ่นละออง สร้างร่มเงา และสร้างความหลากหลายทางชีวภาพให้แก่เมือง โดยมีแนวทางการดำเนินการ คือ ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในส่วนการขอใช้พื้นที่ปลูก ร่วมดำเนินการปลูกด้วยกัน การปลูกในพื้นที่ว่างที่ต้นไม้เดิมตาย และหากกรณีที่สำนักงานเขตไม่มีกล้าไม้สามารถขอรับได้จากธนาคารต้นไม้ที่สำนักสิ่งแวดล้อม รวมถึงการแนะนำวิธีการปลูกต้นไม้ให้แก่ประชาชนและหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งกรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม ได้จัดทำคู่มือการปลูกต้นไม้ล้านต้นฉบับประชาชน ซึ่งมีรายละเอียดวิธีการปลูก การดูแล บำรุงรักษา รวมถึงการคัดเลือกพันธุ์ไม้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ เพื่อให้ต้นไม้ที่ปลูกสามารถเจริญเติบโตได้อย่างเหมาะสมไป