สำนักสิ่งแวดล้อม ร่วมกับหน่วยงาน 11 สังกัด กทม. พร้อมขับเคลื่อนกรุงเทพมหานครสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

วันจันทร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566
image

(13 พ.ย. 66) นางสาววรนุช  สวยค้าข้าว รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม เป็นประธานการประชุมหารือการขับเคลื่อนการดำเนินงานสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) โดยมีผู้แทนสำนัก 11 สำนัก ได้แก่ สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล  สำนักการจราจรและขนส่ง  สำนักการระบายน้ำ  สำนักการโยธา  สำนักการวางแผนและพัฒนาเมือง  สำนักเทศกิจ  สำนักอนามัย  สำนักพัฒนาสังคม  สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว  สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการศึกษา และผู้บริหารเจ้าหน้าที่สำนักสิ่งแวดล้อม ร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 3 สำนักสิ่งแวดล้อม ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง และผ่านระบบออนไลน์

สำหรับการประชุมในวันนี้ สืบเนื่องจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีคำสั่งแต่งตั้งนายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร (Chief Sustainability Officer) ตามคำสั่งกรุงเทพมหานคร ที่ 4057/2566 เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2566 ดังนั้น สำนักสิ่งแวดล้อมจึงได้จัดทำคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร และแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนเมือง โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ เข้าร่วมเป็นคณะทำงาน เพื่อผลักดันให้เกิดความตระหนักรู้ถึงการใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่สร้างผลกระทบทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ด้วยการหารือสำนักที่เกี่ยวข้อง 11 สำนัก ตรวจสอบข้อมูลโครงการ/กิจกรรม ที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามที่สำนักสิ่งแวดล้อมได้ปรับปรุงเป้าหมาย SDG ด้านต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับภารกิจของหน่วยงาน ประกอบด้วย 8 ด้าน ดังนี้ 1. ขยะ ประกอบด้วย ลดและแยกขยะ  สภาพแวดล้อมเมืองดี และลดการฝังกลบ  2.การขนส่ง ประกอบด้วย เมืองของการเดิน-ปั่น  ขนส่งสาธารณะ/Feeder EV ลดการเดินทางผ่าน digital transform และบริการใกล้บ้าน 3.พื้นที่สีเขียวและการรับมือ ประกอบด้วย เพิ่มพื้นที่สีเขียว  เพิ่มต้นไม้  ความร้อนเมือง  มาตรการทางผังเมือง  4.พลังงาน ประกอบด้วย LED ทั่วเมือง  พลังงานทดแทน และประหยัดพลังงาน  5.อากาศ ประกอบด้วย เฝ้าระวังแจ้งเตือน  ลดต้นตอ  และป้องกันสุขภาพ  6.น้ำ ประกอบด้วย การเข้าถึงน้ำสะอาด  จัดการน้ำเสีย และป้องกันน้ำท่วมทะเลหนุน  7.อาหาร ประกอบด้วย ต้นน้ำ: เกษตร  กลางน้ำ: อนามัย และปลายน้ำ: food bank FW และ8.บริหารจัดการขยะและเศรษฐกิจสีเขียว ประกอบด้วย หลักสูตรการศึกษา  จัดซื้อจัดจ้างสีเขียว และ Green Job Centre โดยให้หน่วยงานรายงานข้อมูลการดำเนินการของหน่วยงานผ่าน Google sheet ภายในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 

ทั้งนี้ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) เป็นเป้าหมายสำคัญที่นานาชาติให้การยอมรับและนำไปเป็นหลักการสำคัญในการพัฒนาประเทศ ประกอบด้วย 17 เป้าหมาย ซึ่งกรุงเทพมหานครได้ตั้งเป้าสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านกลไกของแผนปฏิบัติราชการกรุงเทพมหานครประจำปี และความร่วมมือในระดับต่าง ๆ ซึ่งความสอดคล้องกับนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่มุ่งพัฒนาให้ กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน ผ่าน 9 ด้าน (ดี) 28 ประเด็นการพัฒนา และ 226 นโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร