กทม. จับมือ CPAC และ KU ทดลองใช้ชีวภัณฑ์ควบคุมปริมาณผักตบชวาในแม่น้ำเจ้าพระยา พลิกฟื้นชีวิตให้แม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน

วันพุธที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2567
image

วันนี้ (24 ม.ค. 67) เวลา 09.00 น. นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม ในฐานะผู้แทนกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายชูโชค ศิวะคุณากร Head of ESG & BSE ในฐานะผู้แทน บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด หรือ CPAC และ ผศ.ดร. อาร์ม อันอาตม์งาม รองคณบดี ในฐานะผู้แทนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการทดลองใช้เทคโนโลยีชีวภัณฑ์ เพื่อช่วยในการควบคุมปริมาณผักตบชวาในจังหวัดที่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ณ hall 1 อาคารอเนกประสงค์ ชั้น 10 บริษัท ปูนซิเมนต์ไทยจำกัด (มหาชน)

สำหรับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการทดลองใช้เทคโนโลยีชีวภัณฑ์ เพื่อช่วยในการควบคุมปริมาณผักตบชวาในจังหวัดที่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา จัดทำขึ้นเพื่อร่วมกันช่วยแก้ไขปัญหาวัชพืช โดยการลดปริมาณและการแพร่กระจายของผักตบชวาในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่มีการขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว ยากต่อการควบคุมและกำจัด ซึ่งเป็นปัญหามาอย่างยาวนาน โดยการนำชีวภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไปทดลองใช้ สารชีวภัณฑ์ดังกล่าว เป็นเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคใบไหม้ในผักตบชวา โดยไม่ส่งผลกระทบต่อน้ำ สัตว์หรือสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ทั้งนี้กรุงเทพมหานคร CPAC และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะร่วมสำรวจ คัดเลือก และทดลองปฏิบัติจริงในพื้นที่เป้าหมายที่เหมาะสม พร้อมทั้งร่วมกันติดตามผลและสรุปแนวทางในการขยายผลการแก้ปัญหาเรื่องวัชพืช (ผักตบชวา) ต่อผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมกันต่อไป

การลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ในวันนี้ผู้แทนจากจังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ ได้ร่วมลงนามความร่วมมือฯ กับบริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด หรือ CPAC และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีผู้บริหารสำนักสิ่งแวดล้อมและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมในพิธี