สำนักสิ่งแวดล้อม ร่วมต้อนรับคณะโฮจิมินห์ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อขับเคลื่อนการจัดการพื้นที่สีเขียวในเมืองอย่างยั่งยืน

วันพฤหัสบดีที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2567
image

วันนี้ (6 มิ.ย. 67) เวลา 14.00 น. นางสาววรนุช สวยค้าข้าว รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม ร่วมต้อนรับนายฝ่าม แถ่งห์ เกียน รองประธานสภาประชาชนนครโฮจิมินห์และคณะผู้แทนสภาประชาชนนครโฮจิมินห์ ในโอกาสเดินทางเยือนกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 5 – 8 มิ.ย. 67 พร้อมเป็นวิทยากรบรรยายสรุปและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการจัดการพื้นที่สีเขียวในเมืองของกรุงเทพมหานคร ณ ห้องนพรัตน์ ชั้น 5 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า)

โดยวันนี้ รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวถึงภาพรวมการดำเนินงานของสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ที่มีหน้าที่ในการดูสิ่งแวดล้อมเมือง 4 ด้าน ประกอบด้วย ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้านการจัดการขยะ ด้านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการเพิ่มพื้นที่สีเขียว และได้กล่าวถึงนโยบาย 9 ดี 9 ด้าน ของผู้ว่าราชการของกรุงเทพมหานคร ในด้านสิ่งแวดล้อมดี ที่ได้ดำเนินการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ใน 3 นโยบายหลัก คือ นโยบายปลูกต้นไม้ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียวและกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง ถนนสวยด้วยต้นไม้ 50 เขต และการพัฒนาสวน 15 นาที ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ช่วยดักจับฝุ่นละออง และดูดซับมลพิษทางอากาศของเมือง สร้างร่มเงา ลดความร้อนให้แก่เมือง สร้างและส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพของเมือง ซึ่งจากการดำเนินงานในระยะเวลา 2 ปี 

ปัจจุบันนโยบายปลูกต้นไม้ล้านต้น ได้มีการลงทะเบียนปลูกแล้ว จำนวน 953,556 ต้น คิดเป็น 95%  ถือว่ามีความสำเร็จในการส่งเสริมให้ปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว สำหรับนโยบายถนนสวยด้วยต้นไม้ 50 เขต ได้มีการคัดเลือกถนน 58 สาย ระยะทาง 147,930 เมตร เพื่อดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์ให้เป็นถนนสวยด้วยต้นไม้ นำร่องถนนปลอดฝุ่น และการขับเคลื่อนพัฒนาสวน 15 นาที แห่งใหม่ เพื่อรองรับการให้บริการประชาชน ปัจจุบันสวน 15 นาที มีเป้าหมายดำเนินงานทั้งหมด 288 แห่ง เปิดให้บริการแล้ว 120 แห่ง โดยกรุงเทพมหานครได้เร่งขับเคลื่อนให้มีการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง และตั้งเป้าพัฒนาสวน 15 นาที ไห้ได้ 500 แห่ง (ครอบคลุม 1,500 ตร.ม.)  ภายในปี 2569  

ปัจจุบันกรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวประมาณ 7.87 ตร.ม./คน ซึ่งตามเกณฑ์มาตรฐานองค์การอนามัยโลก กำหนดว่าเมืองควรมีพื้นที่สีเขียวในอัตรา 9 ตร.ม./คน ทั้งนี้กรุงเทพมหานคร ตั้งเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้ถึง 10 ตร.ม./คน ภายในปี 2573  สำหรับความท้าทายในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองของกรุงเทพมหานคร นั่นคือ การหาพื้นที่ การออกแบบให้ตอบสนองความต้องการของประชาชน ง่ายต่อการดูแลรักษาและการบริหารจัดการ การใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในการดูแล และปกป้องรักษาเพื่อให้เกิดความยั่งยืน