กทม.มุ่งสานต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรท้องถิ่น สนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (อพ.สธ.)
(3 พ.ค. 67) นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม ร่วมประชุมคณะกรรมการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สนองพระราชดำริโดยกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2567 โดยมีนายณัฐพงศ์ ดิษยบุตร รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมฯ ณ ห้องนพรัตน์ ชั้น 5 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า)
ในการประชุมได้รายงานความก้าวหน้าผลการดำเนินงานสนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (อพ.สธ.) ซึ่งปัจจุบันกรุงเทพมหานครดำเนินงานตามแผนแม่บท ระยะ 5 ปีที่เจ็ด (1 ตุลาคม 2564 - 30 กันยายน 2569) โดยในส่วนของคณะอนุกรรมการจัดทำแผนแม่บทได้ดำเนินการจัดประชุมในปี 2567 จำนวน 2 ครั้ง คือ เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 และ 1 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยมีรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช) เป็นประธานการประชุมฯ ได้ร่วมพิจารณาระยะเวลาการจัดทำแผนปฏิบัติงานฯ ประจำปี 2569 ซึ่งมีกำหนดการจัดส่งภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2567 ซึ่งจะนำแผนปฏิบัติงานฯ ประจำปี 2568 มาปรับปรุงและเพิ่มเติมให้สอดคล้องและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งวางแนวทางเบื้องต้นในการเตรียมความพร้อมเพื่อจัดทำแผนแม่บทระยะ 5 ปีที่แปดต่อไป
สำหรับการดำเนินงานของกรุงเทพมหานครตามความพร้อม 3 กรอบ 5 กิจกรรม ดังนี้
1.กรอบการเรียนรู้ทรัพยากร ประกอบด้วยกิจกรรมสำรวจเก็บรวบรวมทรัพยากร ดำเนินการสำรวจเก็บรวบรวมพันธุกรรมพืชควรค่าแก่การอนุรักษ์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมีข้อมูลต้นไม้ในสวนสาธารณะ 52 แห่ง จำนวน 1,022 ชนิด 113,099 ต้น เช่น ตะเคียนทอง เหลืแงปรีดียาธร เป็นต้น และสำรวจข้อมูลไม้ยืนต้นด้วยระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) โดยมีการสำรวจพิกัดไม้ยืนต้นจำนวน 230 ชนิด 3,617 ต้น (ข้อมูลอ้างอิงจากสวนเบญจกิติ สวนวชิรเบญจทัศ และสวนสันติภาพ) กิจกรรมปลูกรักษาทรัพยากร ดำเนินการปลูกรักษาพันธุกรรมพืชควรค่าแก่การอนุรักษ์ โดยมีการปลูกเพิ่มจำนวน 427 ชนิด 256,612 ต้น เช่น พิกุล มะขาม เป็นต้น โดยเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2567 มูลนิธิ อพ.สธ. ร่วมกับกรุงเทพมหานคร ร่วมกิจกรรมปลูกต้นไม้ “โครงการปลูกรักษาพรรณไม้ทรงคุณค่า เฉลิมพระเกียรติ 69 พรรษา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” พร้อมรับมอบต้นขนุนไพศาลทักษิณ จำนวน 92 ต้น และต้นพิกุล จำนวน 82 ต้น จากมูลนิธิ อพ.สธ. เพื่อปลูกในพื้นที่สวนสาธารณะสังกัดกรุงเทพมหานคร ในส่วนการดูแลรักษาฯ ได้ดำเนินการตัดแต่ง ดูแลรักษาต้นไม้ จำนวน 563 ชนิด 1,666,824 ต้น เช่น จามจุรี โดยยกตัวอย่างการดูแลรักษาและฟื้นฟูด้วยการนำเสียมลมมาใช้ประโยชน์ในพื้นที่สวนเบญจกิตติ เป็นต้น และขยายพันธุ์พืชควรค่าแก่การอนุรักษ์จำนวน 683 ชนิด 2,336,067 ต้น เช่น ชงโค มะขามเทศ เป็นต้น แจกจ่ายทรัพยากรพืช จำนวน 188 ชนิด 393,427 ต้น เช่น กัลปพฤกษ์ ชะแมบทอง เป็นต้น
2.กรอบการใช้ประโยชน์ ประกอบด้วยกิจกรรมศูนย์ข้อมูลทรัพยากร ดำเนินการขับเคลื่อนการจัดทำฐานข้อมูลพืชควรค่าแก่การอนุรักษ์รวมถึงฐานข้อมูลทรัพยากรท้องถิ่นในพื้นที่เขต ซึ่งปัจจุบันทางกรุงเทพมหานครมีข้อมูลทรัพยากรและจะดำเนินการประสานงานกับทางโครงการ อพ.สธ. เพื่อเชื่อมโยงชุดข้อมูลให้สอดคล้องกับแอปพลิเคชันของศูนย์ข้อมูลของ อพ.สธ. ต่อไป
3.กรอบการสร้างจิตสำนึก ประกอบด้วย กิจกรรมสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากร ดำเนินการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์พืชกรุงเทพมหานคร ณ สวนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ บางกอกน้อย จัดแสดงตัวอย่างพรรณไม้แห้งจำนวน 52 ชนิด รวมถึงเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรที่โดดเด่นประจำเขตทั้ง 50 เขต และดำเนินการขับเคลื่อนงานพิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรทั้ง 3 ฐาน ในพื้นที่เขตจำนวน 17 เขต 32 แห่ง โดยเขตจอมทองมีจำนวนพิพิธภัณฑ์มากกว่า 10 แห่ง และกิจกรรมพิเศษสนับสนุนการอนุรักษ์ทรัพยากร โดยสำนักการศึกษาสนับสนุนโรงเรียนสมัครเข้าร่วมสนองพระราชดำริ อพ.สธ. ในงานสวนพฤกษศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครเป็นสมาชิกจำนวน 343 โรงเรียน รอการตอบรับการเป็นสมาชิกฯ 5 โรงเรียน และมีการร่วมกำหนดเป้าหมายให้สมัครครบทั้ง 437 ภายในปี 2567 นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมการจัดอบรมงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน ในปี 2566 ให้กับครู กลุ่มเขตกรุงธนเหนือ กลุ่มเขตกรุงธนใต้ จำนวน 54 คน และครูจากโรงเรียนที่ได้รับป้ายสนองพระราชดำริ และเกียรติบัตรขั้นที่ 1 จำนวน 46 คน และในปี 2567 มีการจัดอบรมครู กลุ่มเขตกรุงเทพกลาง จำนวน 72 คน โดยสำนักสิ่งแวดล้อม และครู กลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ จำนวน 72 คน รวมถึงครูจากโรงเรียนที่ได้รับป้ายสนองพระราชดำริ และเกียรติบัตร ขั้นที่ 1 จำนวน 28 คน สำหรับการขับเคลื่อนงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น ได้มีการจัดอบรมงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น โดยในปี 2566 ได้จัดอบรมเพื่อมอบนโยบายแก่ผู้อำนวยการเขตและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงในปี 2567 มีการจัดอบรมฝึกปฏิบัติการแก่เจ้าหน้าที่สังกัดสำนักงานเขตจำนวน 24 เขต เพื่อเข้าใจแนวทางการดำเนินงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น ซึ่งปัจจุบันสำนักงานเขตได้สมัครครบทั้ง 50 เขต และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการฯ และคณะอนุกรรมการฯ ของแต่ละเขตครบทั้ง 50 เขต เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ ได้มีการหารือเพื่อเสนอแนะให้มีการกำหนดเป้าหมายเพื่อรับป้ายพระราชดำริฯ ต่อไป
ในส่วนการดำเนินการจัดทำป้ายพรรณไม้เพื่อเผยแพร่ความรู้และสร้างจิตสำนึก ขณะนี้มียอดสะสมระหว่างปี 2564-2566 จำนวน 3,400 ป้าย มีการดำเนินงานเปิดให้นักเรียนเยี่ยมชมสถานที่ ทัศนศึกษา สำรวจธรรมชาติในพื้นที่สวนสาธารณะ โดยมีตัวอย่างจากสวนเบญจกิติและอุทยานผีเสื้อและแมลงกรุงเทพมหานคร สำหรับการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรท้องถิ่นซึ่งขับเคลื่อนการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและสนับสนุนการดำเนินงานอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ท้องถิ่นนั้น ได้มีการจัดประชุมคณะอนุกรรมการฯ และร่วมพิจารณาเป้าหมายการดำเนินงานในปี 2567 โดยจะส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม 1 ย่าน/แหล่ง ต่อกลุ่มเขต และ ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชมจากทรัพยากรในท้องถิ่น 1 ผลิตภัณฑ์ต่อสำนักงานเขต โดยกำหนดให้สำนักงานเขตแจ้งผลการดำเนินงานให้คณะอนุกรรมการฯ ทราบภายในวันที่ 20 พฤษภาคม 2567
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีมติให้หน่วยงานที่รับผิดชอบประสานงานเชื่อมโยงข้อมูล แผนการปฏิบัติงานฯ ให้สอดคล้องกับแผนการทำงาน และเป็นไปตามเป้าหมาย รวมถึงเร่งรัดการสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน และการประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงตารางการอบรมของ อพ.สธ. โดยศูนย์แม่ข่าย อพ.สธ. ที่เปิดการอบรมเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น
การประชุมในครั้งนี้มี ดร.ปิยรัษฎ์ ปริญญาพงษ์ เจริญทรัพย์ รองประธานกรรการและเลขานุการคณะกรรมการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ เจ้าหน้าที่ อพ.สธ. พร้อมด้วยผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารและผู้แทนจากสำนักสิ่งแวดล้อม สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล สำนักงบประมาณกรุงเทพมหานคร สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง สำนักพัฒนาสังคม สำนักการศึกษา สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กลุ่มการปฏิบัติงานสำนักงานเขตกลุ่มกรุงเทพ ทั้ง 6 กลุ่มเขต และเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมเข้าประชุม