“แทนคำขอบคุณ” กทม. มอบเกียรติบัตรเครือข่ายรถบรรทุก “บัญชีสีเขียว” 7,000 คัน ร่วมขับเคลื่อนมาตรการเขตมลพิษต่ำ ลด PM2.5 ที่ต้นตอ

วันอังคารที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2567
image

วันนี้ (17 ธ.ค. 67) เวลา 09.00 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานพิธีมอบเกียรติบัตรให้แก่ผู้ประกอบการที่แสดงเจตจำนงร่วมเป็นเครือข่ายบัญชีสีเขียว (Green List) เพื่อขับเคลื่อนมาตรการเขตมลพิษต่ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยการนำรถเข้าสู่กระบวนการบำรุงรักษา ได้แก่ การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องและเปลี่ยนไส้กรองอากาศ และลงทะเบียนในบัญชีสีเขียว ซึ่งในปี 2567 นี้ กรุงเทพมหานครเปิดลงทะเบียนตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ 16 ธันวาคม 2567 มีผู้ประกอบการกว่า 500 ราย และจำนวนรถ 6 ล้อขึ้นไป กว่า 7,000 คัน ร่วมลงทะเบียนเป็นเครือข่ายแล้ว ซึ่งจะส่วนสำคัญช่วยลดต้นตอของการกำเนิดมลพิษทางอากาศและลดอันตรายต่อสุขภาพประชาชน

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ เปิดเผยว่า ดีใจที่มีกลุ่มผู้ประกอบการนำรถบรรทุกมาลงทะเบียนบัญชีสีเขียว (Green List) ซึ่งเป็นรถที่ผ่านการเปลี่ยนน้ำมันเครื่องเปลี่ยนไส้กรอง และไม่ปล่อย PM2.5 ซึ่งจากการเปิดลงทะเบียนประมาณ 1 เดือน มีรถลงทะเบียนแล้วประมาณ 7,000 คัน ฝุ่นในพื้นที่กรุงเทพฯ ต้นตอหลักมาจากควันรถยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์ดีเซล รถบรรทุก ซึ่งเมื่อเปลี่ยนไส้กรอง เปลี่ยนน้ำมันเครื่อง จะช่วยลดฝุ่น PM2.5 ได้ถึง 54% จะทำให้อากาศดีขึ้น สำหรับประชาชนทั่วไปขณะนี้มีโปรโมชันลดค่าบริการเปลี่ยนไส้กรองเปลี่ยนน้ำมันเครื่องในโครงการ #รถคันนี้ลดฝุ่น ซึ่งในปีนี้มีการตั้งเป้าไว้ 500,000 คัน จากที่เมื่อปีทึ่แล้วมีรถเข้าร่วมโครงการประมาณ 200,000 คัน ถือเป็นการมีส่วนร่วมในการทำให้อากาศในกรุงเทพฯ ดีขึ้น การดูแลเครื่องยนต์ของตัวเองให้ดีขึ้นเป็นหัวใจ ฝุ่นไม่ได้มาจากธรรมชาติ มาจากเราทุกคนสร้าง ถ้าช่วยเหลือกันจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นได้

ส่วนเรื่องฝุ่นข้ามแดนรัฐบาลมีโครงการหลายอัน จริงๆ แล้วฝุ่นเป็นปัญหาเศรษฐกิจ เกษตรกรเลือกวิธีเผาต้องมีแรงจูงใจให้ลดการเผา ซึ่งกรุงเทพมหานครได้เลือกการซื้อเครื่องอัดฟางให้ชาวนาในเขตหนองจอก มีนบุรีใช้ฟรี เพื่อนำไปขายแทนการเผา ที่จะหนักจริง ๆ น่าจะช่วงมกราคม ซึ่งมีการมอนิเตอร์ฮอทสปอตตลอดถ้ามีขึ้นจะส่งเจ้าหน้าที่ลงไปดู ปัญหาฝุ่นต่างจากปัญหาน้ำ น้ำท่วมสามารถเพิ่มอัตราการระบายได้ เกิดจากธรรมชาติแต่คนทำการระบาย ส่วนฝุ่นคนทำแต่ระบายโดยธรรมชาติ ถ้าอากาศปิดจริง ๆ ยากมากในการเอาฝุ่นออก ต้องร่วมมือกันไม่สร้างฝุ่นจะแก้ปัญหาได้มากที่สุด

ด้านเรื่องของฝนหลวงไม่ใช่การทำให้ฝนตก แต่เป็นหลักการทำให้อากาศเย็นเจาะรูให้ฝุ่นลอยขึ้นไป มีการทำในเขตพื้นที่นอกกรุงเทพฯ ได้มีการเจรจาว่าให้มาทำในพื้นที่กรุงเทพฯ ด้วยได้ไหม ซึ่งได้มีการเจรจากับวิทยุการบินเรื่องตารางการบิน รวมถึงกองทัพอากาศเพื่อให้ได้เครื่องบินที่ใหญ่ขึ้น ปัจจุบันปล่อยน้ำแข็งแห้งได้ 800 กิโลกรัม ปตท. ก็จะให้น้ำแข็งแห้ง 50 ตัน ในการดำเนินการเรื่องนี้ด้วย ซึ่งในวันไหนที่มีอากาศปิด หากมีการเจาะช่องให้อากาศเปิดแล้วฝุ่นระบายขึ้นไปได้ ก็จะช่วยให้อากาศดีขึ้น อันนี้เป็นแนวทฤษฎีต้องดูในแนวปฏิบัติว่าได้ผลมากน้อยแค่ไหน

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวต่อว่า ถ้าดูจากกล้อง CCTV ที่จับรถบรรทุกเข้าพื้นที่กรุงเทพฯ มีประมาณ 10,000 คันต่อวัน และมีการลงทะเบียนบัญชีสีเขียว (Green List) แล้วประมาณ 7,000 คัน ถือว่าเยอะมาก เป็นมิติใหม่ที่ดี ซึ่งรถบรรทุกส่วนใหญ่ที่เข้าพื้นที่กรุงเทพฯ มีทั้งที่เกี่ยวกับก่อสร้าง โลจิสติก ขนส่ง เช่น ขนปูน กระจก อาหาร เป็นต้น โดยได้มีการเน้นย้ำต้นทางและปลายทางของกรุงเทพฯ ไม่ให้นำรถที่ไม่ได้ลงทะเบียนไว้มาวิ่งในช่วงเวลาที่กำหนด ฝุ่นไม่ใช่ปัญหาของคนใดคนหนึ่ง ทุกคนมีส่วนร่วมในการก่อให้เกิดฝุ่น ถ้าทุกคนร่วมมือกันก็จะดีขึ้นได้ สำหรับกรณีการห้ามเข้าเขตพื้นที่โซนนิ่ง คือ กรณีมีการพยากรณ์ฝุ่นเป็นสีแดง 5 เขต ต่อเนื่อง 2 วัน ห้ามเข้าเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน คือ วงแหวนรัชดาภิเษก หากเป็นสีแดง 10 เขต จะไม่ให้เข้าตั้งแต่วงแหวนรอบนอก คือ วงแหวนกาญจนาภิเษก คิดว่าน่าจะเป็นช่วงมกราคม – กุมภาพันธ์ ถ้าอยากให้รถบรรทุกวิ่งเข้าพื้นที่ได้ ก็ขอให้มาลงทะเบียนบัญชีสีเขียว (Green List) โดยกรุงเทพมหานครใช้กล้อง AI ในการตรวจจับไม่ได้ตั้งด่าน หากนำรถที่ไม่ได้ลงทะเบียนไว้เข้าพื้นที่ก็จะโดนค่าปรับ

นอกจากนี้กรุงเทพมหานครได้ทำห้องเรียนปลอดฝุ่นในทุกโรงเรียน เด็กนักเรียนมีความตื่นตัวมากมีการชักธงตามสีค่าฝุ่นในทุกวัน มีการดูเรื่องเครื่องกรองฝุ่นในห้องเด็กเล็ก ซึ่งการดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ต้องปรับปรุงไปเรื่อย ๆ แต่สถานการณ์โดยรวมน่าจะดีขึ้น

สำหรับมาตรการเขตมลพิษต่ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (Low Emission Zone) ตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง การห้ามรถตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไปเข้าพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษกภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ใช้อำนาจตามมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 37 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 เมื่อ "เกิดหรือใกล้จะเกิดสาธารณภัย" ขึ้นในพื้นที่ใดและการอยู่อาศัยหรือดำเนินกิจการใด ๆ ในพื้นที่นั้นจะเป็นอันตรายอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพประชาชน กรุงเทพมหานครมีเป้าหมายเป็นรถบรรทุกดีเซลจำนวนกว่า 106,000 คัน และมีวัตถุประสงค์ในการห้ามรถบรรทุกเข้ากรุงเทพฯ ชั้นในในช่วงที่ฝุ่นอยู่ในช่วงอันตราย เพื่อลดปัจจัยต้นตอสำคัญของมลพิษและลดความอันตรายต่อสุขภาพประชาชนในพื้นที่ 

ซึ่งหลักเกณฑ์การออกประกาศฯ พิจารณาจากข้อมูลบ่งชี้ คือ ค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM2.5 อยู่ในระดับสีแดง 5 เขต มีการพยากรณ์ล่วงหน้า 2 วัน ค่าฝุ่นละออง PM2.5 ระดับสีแดง 5 เขต หรือ ระดับสีส้ม 15 เขต มีอัตราการระบายอากาศ (VR) น้อยกว่า 3,000 ตารางเมตรต่อวินาที หากเข้าเกณฑ์ดังกล่าว กรุงเทพมหานครจะพิจารณาออกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง การห้ามรถตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไปเข้าพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษกภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด (ประกาศล่วงหน้าอย่างน้อย 24 ชั่วโมง) รถบรรทุกจะไม่สามารถเข้าพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษกได้ เป็นระยะเวลา 3 วัน มีผลใช้บังคับนับแต่วันถัดจากวันประกาศ โดยพื้นที่ในวงแหวนรัชดาภิเษก ด้านในแนวถนน มีจำนวน 9 เขต ได้แก่ เขตดุสิต เขตพญาไท เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตสัมพันธวงศ์ เขตคลองสาน เขตสาทร เขตปทุมวัน และเขตบางรัก และแนวถนนผ่าน 13 เขต (31 แขวง) 

ได้แก่ เขตบางซื่อ (วงศ์สว่าง) เขตจตุจักร (จตุจักร / ลาดยาว / จันทรเกษม / จอมพล) เขตห้วยขวาง (ห้วยขวาง / สามเสนนอก / บางกะปิ) เขตดินแดง (ดินแดง / รัชดาภิเษก) เขตราชเทวี (มักกะสัน) เขตวัฒนา (คลองเตยเหนือ) เขตคลองเตย (คลองเตย) เขตยานนาวา (ช่องนนทรี / บางโพงพาง) เขตบางคอแหลม (บางคอแหลม / บางโคล่) เขตธนบุรี (ดาวคะนอง / สำเหร่ / บุคคโล / ตลาดพลู) เขตบางกอกใหญ่ (วัดท่าพระ) เขตบางกอกน้อย (บางขุนนนท์ / อรุณอมรินทร์ / บางขุนศรี / บ้านช่างหล่อ / ศิริราช) และเขตบางพลัด (บางพลัด / บางบำหรุ / บางอ้อ /บางยี่ขัน) อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลายและมีแนวโน้มฝุ่นเพิ่มมากขึ้น เป็นค่าฝุ่น PM2.5 อยู่ในระดับสีแดง 10 เขต หรือสีส้ม 25 เขต ประกอบกับการพยากรณ์สถานการณ์ฝุ่นล่วงหน้า 2 วัน อัตราการระบายอากาศน้อยกว่า 3,000 ตารางเมตรต่อวินาที และทิศทางลมมาจากตะวันออก จะมีการประกาศขยายพื้นที่ไปยังวงแหวนกาญจนาภิเษกเพื่อควบคุมปริมาณฝุ่น 

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการยังสามารถนำรถ 6 ล้อ ขึ้นไป ที่ได้เข้ากระบวนการบำรุงรักษา ได้แก่ เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องและเปลี่ยนไส้กรองอากาศ ร่วมลงทะเบียน “บัญชีสีเขียว” แบบออนไลน์ได้อย่างต่อเนื่องที่ https://bit.ly/47RK0Yy สำหรับรถบรรทุก 6 ล้อขึ้นไปที่ได้รับการยกเว้น (EV, NGV, EURO 5 และ 6) สามารถลงทะเบียนบัญชีสีเขียวได้เช่นกัน เพื่อความสะดวกต่อการกวดขันและตรวจสอบ ตลอดจนเพื่อความสะดวกในการเข้าพื้นที่ Low Emission Zone สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม โทร. 0 2203 2951

โดยในวันนี้มี นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม นางสาววรนุช สวยค้าข้าว รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักสิ่งแวดล้อม ผู้แทน บริษัท พงษ์ศิริ โลจิสติกส์ จำกัด บริษัท ไนโตรเคมีอุตสาหกรรม จำกัด บริษัท บีอาร์เอฟ โลจิสติคส์ จำกัด บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ โลจิสติก จำกัด บริษัท ศรีเสรีขนส่ง จำกัด บริษัท แปซิฟิค โลจิสติกส์ โปร จำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ็นเจเค โลจิสติกส์ บริษัท นครสวรรค์ตั้งประเสริฐ จำกัด บริษัท ท่าทรายธีระ จำกัด บริษัท ศรีธนพัฒน์ขนส่ง จำกัด บริษัท ทวีพงษ์ขนส่ง จำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศรีพงษ์ทรานสปอร์ต ห้างหุ้นส่วนจำกัด พรแม่สาห์ บริษัท กิตติรัตน์ขนส่ง จำกัด บริษัท จีเทค คอนสตรัคชั่น เซอร์วิส จำกัด บจก.จี เอ็น เอ ขนส่ง บริษัท ไทยสมายล์ บัส จำกัด บริษัท เอส ที ไอ ที จำกัด บริษัท เค.เอ็น.อาร์. ทรานสปอร์ต จำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัดนันทิญา ร่วมเป็นเกียรติและเข้ารับเกียรติบัตร ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า