กทม.จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ก่อนจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4)

วันอังคารที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2566
image

25 กรกฎาคม 2566 นายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานครเป็นประธานเปิดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นและปรึกษาหารือกับประชาชน ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ประกอบการรายสาขา องค์กรและสมาคมวิชาชีพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) เพื่อสร้างการรับรู้ ร่วมคิด และร่วมแสวงหาแนวทางการพัฒนาเมืองที่ดีร่วมกัน โดยมีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานคร ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ประกอบการรายสาขา องค์กรและสมาคมวิชาชีพ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สื่อมวลชนและประชาชนเข้าร่วมการประชุมกว่า 500 คน      

นายณรงค์ เรืองศรี กล่าวว่า กรุงเทพมหานครได้ประกาศใช้ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2535 และได้มีการปรับปรุงเรื่อยมา ซึ่งผังเมืองรวมที่ใช้ในปัจจุบันเป็นผังปรับปรุงครั้งที่ 3 
ได้ประกาศใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2556 จนถึงวันนี้เป็นเวลา 10 ปีแล้ว ปัจจุบันพบว่ากรุงเทพมหานครมีการเปลี่ยนแปลงไป ทั้งในเรื่องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การขยายตัวของเมืองที่เพิ่มขึ้น การพัฒนาโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ความไม่สอดคล้องของข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินระหว่างกรุงเทพมหานครและปริมณฑลวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปที่มีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การต้องเผชิญกับโรคอุบัติใหม่ เป็นต้น จึงมีความจำเป็นต้องทบทวนและปรับปรุงผังเมืองรวมให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งรองรับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่จะคาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย 

นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร ได้กล่าวรายงานเกี่ยวกับการดำเนินการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) โดยมีแนวคิด
การวางผังด้านต่าง ๆ ประกอบด้วย 

  •  ด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน มีการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินจำแนกเป็นประเภทต่าง ๆ 
    ทั้งแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งพาณิชยกรรม แหล่งอุตสาหกรรมและคลังสินค้า แหล่งอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม 
    แหล่งชนบทและเกษตรกรรม และสถาบัน ราชการ สาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ด้านพื้นที่โล่ง
  •  ด้านพื้นที่โล่ง มีแนวคิดกำหนดให้มีพื้นที่สีเขียวประเภทสวนสาธารณะ ทั้งในระดับเมือง 
    ย่านและระดับชุมชน รวมทั้งพื้นที่สีเขียวนริมถนนและริมแม่น้ำ
  •  ด้านการคมนาคมและการขนส่ง กำหนดให้มีถนนสายประธาน ถนนสายหลัก และถนนสายรอง เพื่อรองรับโครงข่ายที่มีความสมบูรณ์ ตลอดจนการพัฒนาบริเวณพื้นที่เปลี่ยนถ่ายการสัญจร รวมถึงการเชื่อมต่อการคมนาคมและการขนส่งทางน้ำและทางอากาศ โดยมีศูนย์คมนาคม 3 ศูนย์ ได้แก่ บางซื่อ มักกะสัน 
    และวงเวียนใหญ่
  •  ด้านสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และบริการสาธารณะ โดยมีแนวคิดกำหนดที่ตั้งโครงข่ายและขอบเขตพื้นที่การให้บริการระบบสาธารณูปโภค ได้แก่ ไฟ้ฟ้า ประปา ฯลฯ และที่ตั้งของสาธารณูปการขั้นพื้นฐานระดับเมือง เช่น สวนสาธารณะ สถานศึกษา ฯลฯ 
  •  ด้านแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการกำหนดแผนผังของแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและศิลปกรรมในผังเมืองรวมครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของกรุงเทพมหานครด้วย โดยกำหนดให้มีบริเวณพื้นที่อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน พื้นที่เกษตร และพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของชาติและท้องถิ่น
  •  ด้านบริหารจัดการน้ำ ได้มีแนวคิดกำหนดให้มีระบบการป้องกันน้ำท่วมและการระบายน้ำ รวมถึงการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งของกรุงเทพมหานคร 

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มีมาตรการส่งเสริมการพัฒนาและสร้างความเป็นธรรมแก่ภาคเอกชนและประชาชน เช่น มาตรการเพิ่มอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน (FAR Bonus) มาตรการโอนสิทธิการพัฒนา (TDR) และมาตรการวางผังโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ (PUD) เป็นต้น โดยที่ผ่านมาสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง ได้ดำเนินการจัดประชุมมาแล้ว 4 ครั้ง ได้แก่ 

- ครั้งที่ 1 ประชุมกลุ่มจังหวัดที่มีอาณาเขตติดต่อกับกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566

- ครั้งที่ 2 ประชุมหารือแนวทางวิธีการดำเนินการวางและจัดทำผังเมืองรวม ด้านการใช้ประโยชน์ที่ดินและด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2566.

- ครั้งที่ 3 ประชุมหารือแนวทางวิธีการดำเนินการวางและจัดทำผังเมืองรวมด้านการคมนาคมและการขนส่ง และด้านสาธารณูปโภค สาธารณูปการและบริการสาธารณะ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2566

- ครั้งที่ 4 ประชุมหารือแนวทางวิธีการดำเนินการวางและจัดทำผังเมืองรวม ด้านการบริหารจัดการน้ำและด้านที่โล่ง เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2566

สำหรับการประชุมรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ เป็นการรับฟังความคิดเห็นควบคู่กับการหารือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากประชาชนก่อนนำไปจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับใหม่ต่อไป ซึ่งหลังจากที่กรุงเทพมหานครจัดทำร่างผังเมืองรวมเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะดำเนินการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ให้ประชาชนทราบ และจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอีกครั้ง ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการในเดือนกันยายน - ตุลาคม 2566