รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ ย้ำเทศกิจจัดระเบียบผู้ค้าจริงจังและต่อเนื่อง ภาพ After ควรแตกต่างจากภาพ Before ผู้ค้าต้องหายไป

วันพุธที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2566
image

รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ ย้ำเทศกิจจัดระเบียบผู้ค้าจริงจังและต่อเนื่อง ภาพ After ควรแตกต่างจากภาพ Before ผู้ค้าต้องหายไป

 

(20 ธ.ค. 66) นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักเทศกิจ และหัวหน้าฝ่ายเทศกิจสำนักงานเขต ครั้งที่ 6/2566 โดยมี นายศุภกฤต บุญขันธ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยนายสุรเดช อำนวยสาร รองผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ คณะผู้บริหารสำนักเทศกิจ และหัวหน้าฝ่ายเทศกิจ 50 สำนักงานเขต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องกรุงธน 3 ชั้น 5 อาคาร 2 สำนักเทศกิจ เขตธนบุรี

“การจัดระเบียบผู้ค้าหาบเร่-แผงลอย เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ในการยกเลิกจุด ยุบรวมจุด ย้ายผู้ค้าเข้าไปในพื้นที่รองรับ ซึ่งอาจจะเป็นตลาดนัดเอกชน หรือ Hawker Center ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครได้รับการร้องเรียนจากประชาชนผ่านทางแอปพลิเคชัน Traffy Fondue เกี่ยวกับปัญหาความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ทางเท้า จากการที่ฝ่ายเทศกิจได้รายงานการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ภาพ Before และภาพ After ของการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า ควรจะมีข้อแตกต่างที่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน เมื่อเปรียบเทียบดูแล้วภาพ After ควรจะเป็นระเบียบเรียบร้อยมากยิ่งขึ้น ความไม่เป็นระเบียบตรงนั้นต้องหายไป ผู้ค้าควรจะย้ายเข้าไปทำการค้าในจุดที่เขตกำหนด แต่ยังมีบางเขตที่รายงานเข้ามาด้วยภาพ After และภาพ Before ที่ดูแล้วยังไม่แตกต่างกันเลย นอกจากนี้พื้นที่เขตชานเมืองกับพื้นที่เขตในเมือง ลักษณะทางกายภาพย่อมแตกต่างกัน แต่ภารกิจที่ได้รับมอบหมายในการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า ย่อมเดินไปตามหลักการและทิศทางเดียวกัน จุดทำการค้าในบางเขตมีผู้ค้าแค่ 2-3 ราย ขณะเดียวกันจุดทำการบางเขตมีผู้ค้า 100 กว่าราย ซึ่งจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย ไม่ควรใช้ระยะเวลายาวนานในการจัดระเบียบพื้นที่เท่ากับจุดที่มีผู้ค้าเป็นจำนวนมาก” รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ กล่าวในการประชุม

ทั้งนี้ในที่ประชุมได้รายงานการจัดระเบียบหาบเร่-แผงลอย ปัจจุบันในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีพื้นที่ทำการค้า 95 จุด ผู้ค้า 5,233 ราย ประกาศเป็นพื้นที่ทำการค้าแล้ว 55 จุด ผู้ค้า 3,440 ราย อยู่ระหว่างพิจารณาประกาศ 31 จุด ผู้ค้า 1,101 ราย เจ้าพนักงานจราจรไม่เห็นชอบ 9 จุด ผู้ค้า 692 ราย ส่วนพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน 544 จุด ผู้ค้า 13,210 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 10 ตุลาคม 2566) ที่ผ่านมาได้มีการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า โดยยกเลิกจุด ยุบรวมจุด และย้ายเข้าพื้นที่เอกชน ซึ่งในปี 2567 จะดำเนินการยกเลิกยุบรวมจุด 110 จุด บริเวณจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย พร้อมทั้งจัดหาพื้นที่รองรับผู้ค้าในจุดที่เขตกำหนดไว้ หรือจุดที่เขตจัดทำเป็น Hawker Center ปัจจุบันดำเนินการแล้ว 39 จุด ใน 29 เขต รองรับผู้ค้าได้ 2,826 ราย หยุดดำเนินการ 5 จุด คงเหลือ 34 จุด ซึ่งในปี 2567 จะจัดหาสถานที่เพื่อจัดทำ Hawker Center เพิ่มเติมอีก 28 จุด ใน 26 เขต รองรับผู้ค้าได้ 1,500 ราย

อย่างไรก็ตาม กรุงเทพมหานครได้มีการพัฒนาพื้นที่บริเวณข้างศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ริมคลองหลอดวัดราชนัดดา เพื่อจัดทำ Hawker Center ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เน้นจุดที่มีความต้องการของผู้บริโภค อยู่ใกล้กับพื้นที่ทำการค้าเดิม มีจุดล้างทำความสะอาดภาชนะ จุดคัดแยกขยะและกำจัดขยะรวม คำนึงถึงช่วงเวลาทำการค้าและความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อ สำหรับบริเวณดังกล่าว แบ่งเป็นพื้นที่ร้านค้าขนาด 2 x 2 เมตร ตั้งวางโต๊ะและเก้าอี้ได้ 20 โต๊ะ สามารถรองรับผู้ค้าได้ 60 ร้าน ประกอบด้วย ร้านอาหารที่มีเตาประกอบอาหาร ร้านอาหารพร้อมรับประทาน ร้านอาหารสดและอาหารแห้ง ร้านน้ำและขนม ร้านผักผลไม้ ร้านเบ็ดเตล็ด โดยจัดทำโครงสร้างหลังคา พื้นที่สำหรับล้างอุปกรณ์รวมและอ่างล้างจานชนิด 3 หลุม พร้อมถังดักไขมันบำบัดน้ำเสีย และตู้ควบคุมการจ่ายน้ำแบบหยอดเหรียญ คาดว่าจะแล้วเสร็จเปิดพื้นที่ทำการค้าเต็มรูปแบบในเดือนเมษายน 2567

จากนั้นได้รายงานผลการดำเนินการโครงการกวดขันรถยนต์ รถจักรยานยนต์ จอดหรือขับขี่บนทางเท้า ผลการดำเนินการระหว่างวันที่ 9 กรกฎาคม 2561 ถึงวันที่ 18 ธันวาคม 2566 สำนักงานเขตจับกุม 55,553 ราย ว่ากล่าวตักเตือน 4,640 ราย ดำเนินคดี 50,911 ราย เปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 62,257,714 บาท ผลการดำเนินการระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ถึงวันที่ 18 ธันวาคม 2566 สำนักงานเขตจับกุม 30 ราย ว่ากล่าวตักเตือน 30 ราย ดำเนินคดี 0 ราย เปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 0 บาท สำหรับผลการดำเนินงานการติดตั้งกล้อง CCTV โดยใช้ระบบ BMA AI CAMERA ในการตรวจจับผู้กระทำผิดฝ่าฝืนขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้า ตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2566 ถึงวันที่ 18 ธันวาคม 2566 มีผู้ฝ่าฝืนขับขี่บนทางเท้า 50,349 ราย ผู้ฝ่าฝืนจากกล้อง 8 ตัวที่เปิดระบบ 9,373 ราย ส่งหนังสือเชิญมาให้ถ้อยคำ 6,333 ราย อยู่ระหว่างจัดส่ง 3,040 ราย เปรียบเทียบปรับ 283 ราย เป็นเงิน 225,500 บาท