ดึงเจ้าของอาคารและคนเดินถนนส่งเสียงชี้แนะจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยบนทางเท้า

วันพฤหัสบดีที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567
image

ดึงเจ้าของอาคารและคนเดินถนนส่งเสียงชี้แนะจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยบนทางเท้า

(29 ก.พ.67) นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักเทศกิจ และหัวหน้าฝ่ายเทศกิจสำนักงานเขต ครั้งที่ 2/2567 โดยมี นางวันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร นายศุภกฤต บุญขันธ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายสุรเดช อำนวยสาร รองผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารสำนักเทศกิจ หัวหน้าฝ่ายเทศกิจ 50 สำนักงานเขต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องกรุงธน 3 ชั้น 5 อาคาร 2 สำนักเทศกิจ เขตธนบุรี

ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เจ้าหน้าที่เทศกิจเป็นบุคคลที่อยู่ในเครื่องแบบ มีเกียรติมีศักดิ์ศรีในการปฏิบัติหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามกรอบข้อบังคับหลักเกณฑ์ที่กำหนด เป็นที่พึ่งพาของประชาชน มีหลักการบริหารจัดการด้วยความโปร่งใสและเป็นธรรม จากข่าวกรณีเจ้าหน้าที่เทศกิจเขตบึงกุ่ม ถูกผู้ค้าทำร้ายในขณะปฏิบัติหน้าที่ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ค้าที่จอดรถยนต์ขายสินค้าบริเวณถนนนวลจันทร์เคลื่อนย้ายรถยนต์ออกไปนั้น โดยผู้ค้าได้พูดจาด่าทอ ข่มขู่ด้วยการใช้มีด และสาดน้ำใส่ร่างกาย แต่เจ้าหน้าที่เทศกิจท่านนั้น มีความอดทนในการปฏิบัติหน้าที่ มีความยับยั้งชั่งใจ ไม่มีการตอบโต้ใดๆ ซึ่งเจ้าหน้าที่เทศกิจได้แจ้งความไว้เป็นหลักฐานแล้ว เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ขอเป็นกำลังใจให้เจ้าหน้าที่เทศกิจทุกท่านทั้ง 50 สำนักงานเขตในการปฏิบัติหน้าที่ โดยยึดมั่นในแนวทางเดียวกันทำงานเพื่อประชาชนและกรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ในที่ประชุมได้รายงานการจัดระเบียบหาบเร่-แผงลอย ปัจจุบันในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน 86 จุด ผู้ค้า 4,541 ราย ประกาศเป็นพื้นที่ทำการค้าแล้ว 55 จุด ผู้ค้า 3,440 ราย อยู่ระหว่างพิจารณาประกาศ 31 จุด ผู้ค้า 1,101 ราย เจ้าพนักงานจราจรไม่เห็นชอบ 9 จุด ผู้ค้า 692 ราย ส่วนพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน 544 จุด ผู้ค้า 13,210 ราย ที่ผ่านมาได้มีการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า โดยยกเลิกจุด ยุบรวมจุด และย้ายเข้าพื้นที่เอกชน ซึ่งในปี 2567 จะดำเนินการยกเลิกจุดหรือยุบรวมจุด 110 จุด ผู้ค้า 1,338 ราย ในพื้นที่ทำการค้าที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย โดยได้จัดหาพื้นที่รองรับผู้ค้าให้เข้าไปทำการค้าในจุดที่กำหนดไว้ ในปี 2566 ดำเนินการจัดทำ Hawker Center แล้ว 39 จุด ใน 29 เขต รองรับผู้ค้าได้ 2,826 ราย หยุดดำเนินการ 5 จุด คงเหลือ 34 จุด ส่วนในปี 2567 จะจัดหาสถานที่เพื่อจัดทำ Hawker Center เพิ่มเติมอีก 28 จุด ใน 26 เขต รองรับผู้ค้าได้ 1,500 ราย

จากนั้นได้รายงานการจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นการปรับปรุงร่างประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขายหรือจำหน่ายสินค้าบนถนนหรือสถานสาธารณะ พ.ศ.2566 ใน 6 กลุ่มเขต ซึ่งได้จัดประชุมครั้งแรกที่กลุ่มเขตกรุงธนเหนือ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ห้องประชุมสำนักงานเขตบางกอกน้อย ประเด็นสำคัญในการประชุม อาทิ คุณสมบัติของผู้ค้าต้องมีรายได้ไม่เกิน 180,000 บาทต่อปี โควตาผู้ค้าเดิม-ผู้ค้าใหม่ การนำหลักเกณฑ์มาบังคับใช้กับผู้ค้าที่ทำผิดเงื่อนไข พื้นที่อัตลักษณ์ ทั้งนี้กรุงเทพมหานคร ได้ขยายระยะเวลาเปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงร่างประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขายหรือจำหน่ายสินค้าบนถนนหรือสถานสาธารณะ พ.ศ.2566 ทางออนไลน์ ที่เว็บไซต์ https://survey123.arcgis.com/.../bd81dbe912144969937bc8cb... จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2567 จากเดิมเปิดรับความเห็นถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ส่วนการประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งต่อไป กำหนดจัดการประชุมที่กลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก ในวันที่ 5 มีนาคม 2567 เวลา 13.00 น. ณ ศาลาประชาคมเมืองมีนถิ่นทอง สำนักงานเขตมีนบุรี กลุ่มเขตกรุงเทพกลาง ในวันที่ 6 มีนาคม 2567 เวลา 09.00 น. ณ ห้องมินิเธียเตอร์ ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง กลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ ในวันที่ 8 มีนาคม 2567 เวลา 10.00 น. ณ สำนักงานเขตดอนเมือง กลุ่มเขตกรุงเทพใต้ ในวันที่ 11 มีนาคม 2567 เวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุมสำนักงานเขตยานนาวา และกลุ่มเขตกรุงธนใต้ ในวันที่ 16 มีนาคม 2567 เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุมสำนักงานเขตบางแค โดยจะมีการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้อง อาทิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการเขตและผู้บริหารเขต ผู้แทนสถาบันการศึกษา คณะกรรมการจัดระเบียบหาบเร่-แผงลอย ผู้ค้าจุดผ่อนผันและนอกจุดผ่อนผัน เจ้าของอาคาร และประชาชน มาประชุมร่วมกัน เพื่อให้การรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนเป็นไปด้วยความครบถ้วน โปร่งใส และเกิดประสิทธิภาพอย่างแท้จริง

“ตามที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สั่งการในที่ประชุมคณะกรรมการรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2567 ซึ่งมีประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการจัดระเบียบผู้ค้าหาบเร่แผงลอย โดยให้ทุกสำนักงานเขตที่มีพื้นที่ทำการค้าหรือจุดผ่อนผัน ในจำนวน 86 จุด ทำการประเมินความเหมาะสมของพื้นที่ทำการค้า ตามแบบประเมินที่สำนักเทศกิจได้จัดทำขึ้น นอกจากนี้ในเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขายหรือจำหน่ายสินค้าบนถนนหรือสถานสาธารณะ พ.ศ.2563 ที่กำหนดให้สำนักงานเขต ทบทวนความเหมาะสมของพื้นที่ทำการค้าทุก 1 ปีนั้น ขอให้ทุกสำนักงานเขตมีพื้นที่ทำการค้าหรือจุดผ่อนผัน ในจำนวน 86 จุด ดำเนินการด้วยเช่นเดียวกัน ในส่วนของการขยายระยะเวลาเปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงร่างประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขายหรือจำหน่ายสินค้าบนถนนหรือสถานสาธารณะ พ.ศ.2566 จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2567 ขอให้ทุกสำนักงานเขตนำป้ายประชาสัมพันธ์พร้อมคิวอาร์โค้ดไปติดประกาศในพื้นที่ทำการค้า รวมถึงอาคารที่มีการทำการค้าอยู่ด้านหน้า นอกจากผู้ค้าและผู้เกี่ยวข้องแล้ว ยังเปิดโอกาสให้เจ้าของอาคารและประชาชน ได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นในหลักเกณฑ์ดังกล่าวด้วย” รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ กล่าวในตอนท้าย