ผู้ว่าฯ สัญจร สำนักเทศกิจ มุ่งจัดการปัญหาหาบเร่-แผงลอยด้วยความสมดุล

วันพฤหัสบดีที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2565
image

ผู้ว่าฯ สัญจร สำนักเทศกิจ มุ่งจัดการปัญหาหาบเร่-แผงลอยด้วยความสมดุล

“วันนี้เป็นกิจกรรมผู้ว่าฯ สัญจร ที่สำนักเทศกิจ (สนท.) ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีเทศกิจประมาณ 3,000 คน สังกัดสำนักเทศกิจกว่า 400 คน และสำนักงานเขตประมาณ 2,600 คน จริง ๆ แล้ว เทศกิจมีภาระหน้าที่สำคัญเยอะและหนักในการตอบสนองโจทย์คนเมือง อาทิ ดูแลเรื่องหาบเร่-แผงลอย การทิ้งขยะลงคูคลอง ความปลอดภัยของนักเรียนตามโรงเรียนต่าง ๆ ในช่วงเช้าและเย็น การจับปรับควันดำ/มลพิษ การจอดซากรถยนต์ในพื้นที่สาธารณะ การตั้งวางของจองที่จอดรถ การจอด/ขับขี่รถบนทางเท้า รวมถึงการตรวจสอบสถานบริการต่าง ๆ ยามค่ำคืน ถือเป็นสำนักที่เหนื่อยอันดับต้น ๆ เพราะครอบคลุมภารกิจหลายด้าน วันนี้ก็มาให้กำลังใจและก็เดินไปด้วยกัน” นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกับคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยนายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ นายสุริยชัย รวิวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ นายทรงศร กัลยา ณ สุนทร รองผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ คณะผู้บริหารสำนักเทศกิจ และผู้เกี่ยวข้อง ในกิจกรรมผู้ว่าฯ สัญจร สำนักเทศกิจ (สนท.) วันนี้ (29 ธ.ค. 65)

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัญหาที่เราเจอเยอะคือเรื่องหาบเร่-แผงลอย เมื่อวานได้พบกับท่านนายกรัฐมนตรี ท่านได้กำชับเรื่องนี้ว่า ให้ดูแลให้เป็นระเบียบเรียบร้อยและให้เข้มงวด รวมทั้งดูแลผู้มีรายได้น้อยควบคู่กันไป

สำหรับช่วงที่ผ่านมา ในช่วงของการแพร่ระบาดโควิด-19 หาบเร่-แผงลอยมีจำนวนลดลง เนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยว และมีการ Work from Home พอสถานการณ์ดีขึ้น เริ่มมีการเปิดเมือง นักท่องเที่ยวเริ่มกลับมา เศรษฐกิจกลับคืนมา จะเห็นว่าหาบเร่-แผงลอยก็กลับมาเพิ่มจำนวนอีกครั้ง

อย่างไรก็ตามนโยบายของเราให้ความสำคัญกับคนเดินทางเท้าเป็นอันดับต้น เรามีพื้นที่ที่เป็นจุดผ่อนผันอยู่แล้ว 95 จุด ได้กำชับว่าต้องดูแลให้เข้มข้น ส่วนพื้นที่นอกจุดผ่อนผันก็มีการกำกับดูแลไม่ให้มีความสกปรกรกรุงรัง โดยได้นำเทคโนโลยี CCTV มาช่วย นำไปติดตั้งจุดที่มีปัญหาหรือจุดที่หาบเร่-แผงลอยรุกล้ำ แทนการนำบุคลากรมายืนกำกับดูแล เพราะทำให้เปลืองบุคลากรจำนวนมาก เมื่อเห็นการละเมิดผ่านจอมอนิเตอร์ ก็ส่งเจ้าหน้าที่ลงไปจัดการในพื้นที่ภายใน 20 นาที ซึ่งการนำเทคโนโลยีมาใช้นี้ เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้เราดูแลหาบเร่แผงลอยได้ดีขึ้น และต่อไปก็จะขยายการติดตั้ง CCTV ให้ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้นด้วย นอกจากนี้ ในเขตที่ผ่อนผันแล้ว ทุกร้านจะมี QR Code บันทึกข้อมูลผู้ค้า เพื่อให้กทม.สามารถกำกับดูแลผ่าน QR Code ได้

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวต่อไปว่า เรามีการจัดระเบียบหาบเร่-แผงลอยแล้วหลายพื้นที่ อาทิ บริเวณทางเท้าถนนข้าวสาร หน้าอาคารโรเล็กซ์ (ถนนวิทยุ) หน้าห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีบางนา ฯลฯ โดยหาความร่วมมือจากเอกชนในพื้นที่ ปรับรูปแบบให้ดีมีฉากกั้น มีร่ม/เต็นท์ในรูปแบบเดียวกัน เพื่อให้มีระเบียบเรียบร้อยและเป็นเอกภาพมากขึ้น มีการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมรองรับพื้นที่การค้าหาบเร่-แผงลอย เช่น บริเวณซอยสังคโลก และตอนนี้ก็โฟกัสถนนสายหลัก 9 เส้น เพื่อนำร่องเพิ่มประสิทธิภาพการจัดระเบียบให้เข้มข้น ได้แก่ โบ๊เบ๊ สะพานควาย-จตุจักร ห้าแยกลาดพร้าว รัชดา-ห้วยขวาง วัดมังกร ราชประสงค์-เพชรบุรี เพลินจิต-ทองหล่อ สาทร-สีลม-พระราม 4 และแยกคลองเตย

ต้องเรียนว่า ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของปากท้องประชาชนเหมือนกัน เพราะหลาย ๆ คนก็เป็นคนที่ลำบากจริง ๆ ซึ่งการอยู่ในเมือง เขาไม่มีทรัพยากรอื่น บางคนอาจจะต้องอาศัยการทำมาหากินบนพื้นที่สาธารณะเพื่อดูแลครอบครัว ดูแลลูก เราจึงต้องทำควบคู่ไป ความจริงแล้วมันไม่ยากถ้าเราจะกวาดทุกคน แต่สุดท้ายแล้วก็จะไปกระทบชีวิตคนที่รายได้น้อยที่ยังต้องอยู่ในเมืองนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเราเช่นกัน ฉะนั้น ก็ต้องทำใน 2 มิติ คือความเข้าใจจิตใจเพื่อนร่วมเมือง และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของเมือง โดยให้ความสำคัญในเรื่องความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของเมือง รวมถึงคนเดินเท้า มาเป็นอันดับ 1

“ก็ต้องขอความร่วมมือ เราเข้าใจว่าสภาพเศรษฐกิจทำให้ลำบากสำหรับประชาชนบางกลุ่ม พวกเราเองก็เข้าใจคนที่ลำบาก แต่ความเป็นระเบียบเรียบร้อยก็ต้องมาด้วยกัน ต้องไม่ให้กระทบกับการจราจร รวมถึงประชาชนคนเดินเท้าส่วนใหญ่ การมาขายของบนที่สาธารณะไม่ใช่สิทธิ เพราะที่สาธารณะเป็นของประชาชนทุกคน ดังนั้น ต้องอยู่ด้วยกันและหาจุดที่สมดุล โดยให้ความเป็นระเบียบเรียบร้อยมาอันดับแรก ส่วนการดูแลพี่น้องที่ยากลำบาก ถ้าพอดูแลได้โดยไม่กระทบสิทธิคนอื่น เราก็พยายามจะให้อยู่ด้วยกันได้” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

● กทม. เอาจริง! ปัญหาหัวคิวแท็กซี่/สามล้อ

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า อนาคตที่ห่วงคือการขายของบนถนน โดยใช้รถพ่วงข้าง หรือจอด Food Truck นอกพื้นที่ที่กำหนด ซึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องดูแล เพราะตามกฎหมายห้ามขายของบนถนน ส่วนปัญหาที่ต่อเนื่อง คือปัญหารถแท็กซี่/สามล้อจอด โดยมีคนเก็บหัวคิวเพื่อให้จอดได้ เอาเปรียบนักท่องเที่ยว คิดราคาแพง ไม่กดมิเตอร์ เป็นปัญหาที่มีความรุนแรง ซึ่งได้มีการหารือร่วมกับตำรวจแล้ว วันนี้ก็จะปูพรมแถวหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ แพลทินัม ฝั่งตรงข้ามบิ๊กซี อนาคตสุขุมวิทตลอดสาย เพราะมีแท็กซี่/สามล้อจอดช่วงกลางคืนเยอะ ก็จะกำกับดูแลร่วมกับตำรวจ เพื่อไม่ให้มีการเก็บหัวคิววิน และให้นักท่องเที่ยวได้รับการดูแลที่ดีขึ้น

● ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ยืนยัน เทศกิจปลอดส่วย

ด้านปัญหาส่วยนั้น จริง ๆ แล้วเป็นค่าปรับและค่าธรรมเนียม หากอยู่ในเขตผ่อนผันจะเป็นค่าธรรมเนียมรายปี ส่วนการจับปรับ ก็ปรับตามกฎหมาย ตามหลักก็จะได้รางวัลนำจับ 50% ที่เหลือส่งเข้าภาครัฐ ซึ่งนี่คือสิ่งที่เป็นไปตามกฎหมาย ส่วนส่วยที่จัดเก็บนอกเหนือจากนี้ เรายืนยันว่าเราไม่มีนโยบายนี้ ถ้ามีการกระทำผิด เรายืนยันว่าเราไม่เอาไว้ ไล่ออกอย่างเดียว และไม่มีการต้องส่งให้ผู้บริหาร เราไม่รับ ไม่ยุ่งตรงนี้ ประชาชนลำบากอยู่แล้ว จะไปรีดไถได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ต้องทำตามระเบียบ ซึ่งเรื่องส่วยนั้น ยืนยันว่าเราไม่มีนโยบายด้านนี้ทั้งสิ้น

“เรื่องทุจริตเปรียบเสมือนเชื้อเล็ก ๆ ที่อาจกลายเป็นบาดทะยักได้ ถ้าเราละเลยกับการรีดไถหรือส่วยแม้เพียงเล็กน้อย สุดท้ายมันก็จะลามเป็นการทุจริตระดับใหญ่ได้ เพราะฉะนั้น หากประชาชนมีการโดนรีดไถ ก็ให้แจ้งมาทาง Traffy Fondue ซึ่งเรามีช่องทางในการแจ้งทุจริต ถ้ามีข้อมูลให้แจ้งมา เราเอาจริงเอาจังเรื่องนี้อย่างแน่นอน” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ย้ำ

● นำเทคโนโลยีมาใช้ เน้นโปร่งใส มีประสิทธิภาพ สู่เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน

ด้านการปรับรูปแบบการทำงานของเทศกิจ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ต่อไปจะนำเทคโนโลยีมาใช้ให้มากขึ้น เช่น การนำ CCTV มาช่วยในการควบคุมดูแล การทำ QR Code ฐานข้อมูล การพัฒนาศักยภาพเทศกิจด้านต่าง ๆ เช่น ภาษาต่างประเทศ การร่วมมือกับหน่วยงานอื่น และอนาคตจะมีการโอนถ่ายงานเรื่องการจับปรับรถที่จอดผิดกฎหมายให้กทม.ดูแล ดังนั้น หลักการคือจะต้องโปร่งใส มีประสิทธิภาพ เทศกิจมีความรู้หลากหลาย มีเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อนำไปสู่เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคนต่อไป

● ตัวแทนสำนักเทศกิจ ทานมื้อเที่ยงกับผู้ว่าฯ ชัชชาติ

จากนั้น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รับประทานอาหารกลางวันร่วมกับข้าราชการและบุคลากรซึ่งเป็นตัวแทนของสำนักเทศกิจ จำนวน 5 คน ประกอบด้วย นายปฏิญญา แสงนิล นิติกรชำนาญการพิเศษ กองนิติการและบังคับคดี สำนักเทศกิจ นางสาวณัฐทิพย์ ชยาทรกุล นักจัดการงานทั่วไปปฏิบัติการ ฝ่ายบริหารงานทั่วไป สำนักงานเลขานุการ สำนักเทศกิจ นายวิศรุต โต๊ะพาน เจ้าพนักงานสื่อสารปฏิบัติงาน ฝ่ายการสื่อสาร สำนักงานเลขานุการ สำนักเทศกิจ นางธนภรณ์ อัศววงศ์เจริญ พนักงานเทศกิจ ส 1 ส่วนตรวจและบังคับการ 1 สำนักงานตรวจและบังคับการ สำนักเทศกิจ และนางสาวศิริวรรณ นิลสุวรรณ พนักงานเทศกิจ ส 2 ส่วนตรวจและบังคับการ 2 สำนักงานตรวจและบังคับการ สำนักเทศกิจ โดยได้มีการพูดคุยสอบถามเรื่องการทำงาน การเงิน รายได้ ชีวิตส่วนตัว และเรื่องทั่วไป รวมทั้งให้กำลังใจในการทำงาน

สำหรับเมนูอาหารวันนี้ ได้แก่ ก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋น/เนื้อตุ๋น หมูสะเต๊ะ/เนื้อสะเต๊ะ ขนมบัวลอยเผือกมะพร้าวอ่อน ขนมพัฟสติ๊ก มะละกอสุก ฝรั่ง และผลไม้ตามฤดูกาล ทั้งนี้ การรับประทานอาหารร่วมกับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานเป็นหนึ่งในกิจกรรมผู้ว่าฯ สัญจร เพื่อพบปะพูดคุย รับฟังปัญหา และสอบถามถึงอุปสรรคในการทำงานเพื่อนำไปสู่การแก้ไข โดยเริ่มกิจกรรมรับประทานอาหารร่วมกันครั้งแรกเมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 ก.ค. 65 จากกิจกรรมผู้ว่าฯ กทม. สัญจร ที่สำนักงานเขตจตุจักร