เดินหน้าจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า ยุบรวมจุดย้ายผู้ค้าเข้าตลาดเอกชนควบคู่ Hawker Centers

วันอังคารที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2566
image

เดินหน้าจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า ยุบรวมจุดย้ายผู้ค้าเข้าตลาดเอกชนควบคู่ Hawker Centers

(28 มี.ค.66) นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร สำนักเทศกิจ และหัวหน้าฝ่ายเทศกิจสำนักงานเขต ครั้งที่ 1/2566 โดยมี นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ นายสุรเดช อำนวยสาร รองผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ ผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานครสูง พร้อมด้วยคณะผู้บริหารสำนักเทศกิจ และหัวหน้าฝ่ายเทศกิจ 50 สำนักงานเขต สำนักงบประมาณกรุงเทพมหานคร สำนักงานกฎหมายและคดี สำนักงานประชาสัมพันธ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องกรุงธน 3 ชั้น 5 อาคาร 2 สำนักเทศกิจ เขตธนบุรี

ในที่ประชุมได้รายงานการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จากการสำรวจเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2565 มีพื้นที่ทำการค้า 697 จุด ผู้ค้า 15,320 ราย ต่อมาวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2566 มีพื้นที่ทำการค้า 626 จุด ผู้ค้า 14,374 ราย ปัจจุบันวันที่ 24 มีนาคม 2566 มีพื้นที่ทำการค้า 585 จุด ผู้ค้า 13,406 ราย โดยย้ายผู้ค้านอกจุดผ่อนผันเข้าไปขายในพื้นที่เอกชน และยุบควบรวมจุด ยกเลิกพื้นที่ทำการค้า 141 จุด ประกอบด้วย กลุ่มเขตกรุงเทพกลาง 51 จุด ได้แก่ ป้อมปราบศัตรูพ่าย 10 จุด ดินแดง 13 จุด ห้วยขวาง 7 จุด ราชเทวี 20 จุด พญาไท 1 จุด กลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ 5 จุด ได้แก่ สายไหม 1 จุด ลาดพร้าว 2 จุด บางซื่อ 1 จุด หลักสี่ 1 จุด กลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก 27 จุด ได้แก่ บางกะปิ 12 จุด มีนบุรี 3 จุด คลองสามวา 4 จุด บึงกุ่ม 4 จุด ประเวศ 1 จุด ลาดกระบัง 3 จุด กลุ่มเขตกรุงเทพใต้ 47 จุด ได้แก่ ปทุมวัน 2 จุด สัมพันธวงศ์ 6 จุด สาทร 7 จุด วัฒนา 9 จุด บางคอแหลม 10 จุด บางนา 2 จุด บางรัก 7 จุด สวนหลวง 1 จุด คลองเตย 3 จุด กลุ่มเขตกรุงธนเหนือ 5 จุด ได้แก่ ทวีวัฒนา 1 จุด ตลิ่งชัน 2 จุด บางกอกน้อย 1 จุด บางกอกใหญ่ 1 จุด กลุ่มเขตกรุงธนใต้ 5 จุด ได้แก่ ทุ่งครุ 1 จุด บางบอน 1 จุด หนองแขม 1 จุด ราษฎร์บูรณะ 1 จุด

สำหรับการลงทะเบียนผู้ค้า ดังนี้ 1.พื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน 55 จุด ผู้ค้า 5,870 ราย ลงทะเบียนแล้ว 53 จุด 2.พื้นที่ทำการค้าอยู่ระหว่างประกาศเป็นจุดผ่อนผัน 31 จุด และจุดทำการค้าที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บชน.) ไม่เห็นชอบ 9 จุด ลงทะเบียนแล้วทุกจุด 3.พื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน 697 จุด ลงทะเบียนแล้ว ส่วนความคืบหน้าในการจัดทำ Hawker Centers ในพื้นที่ 26 เขต จำนวน 35 จุด รองรับผู้ค้าได้ 2,559 ราย ประกอบด้วย กลุ่มเขตกรุงเทพกลาง 7 จุด ได้แก่ พระนคร 1 จุด ดินแดง 4 จุด ห้วยขวาง 1 จุด พญาไท 1 จุด กลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ 8 จุด ได้แก่ บางซื่อ 1 จุด จตุจักร 2 จุด ดอนเมือง 1 จุด บางเขน 2 จุด ลาดพร้าว 1 จุด กลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก 3 จุด ได้แก่ มีนบุรี 1 จุด คลองสามวา 1 จุด คันนายาว 1 จุด กลุ่มเขตกรุงเทพใต้ 10 จุด ได้แก่ ปทุมวัน 2 จุด คลองเตย 1 จุด สวนหลวง 1 จุด สาทร 1 จุด บางนา 1 จุด บางรัก 4 จุด กลุ่มเขตกรุงธนเหนือ 4 จุด ได้แก่ ทวีวัฒนา 1 จุด จอมทอง 1 จุด บางกอกน้อย 1 จุด คลองสาน 1 จุด กลุ่มเขตกรุงธนใต้ 4 จุด ได้แก่ ทุ่งครุ 1 จุด บางบอน 1 จุด หนองแขม 1 จุด ราษฎร์บูรณะ 1 จุด

ต่อมาในที่ประชุมได้ชี้แจงแนวทางในการปฏิบัติการจัดระเบียบหาบเร่-แผงลอย ดังนี้ 1.ในทุกจุดไม่ให้มีการเพิ่มจำนวนผู้ค้า 2.ในพื้นที่จุดผ่อนผัน จัดระเบียบให้เรียบร้อย อาจมีการขอความร่วมมือจากเอกชนในการทำแผ่นกั้นเพื่อความเรียบร้อย 3.ยังไม่มีการเพิ่มจุดผ่อนผัน 4.ในพื้นที่นอกจุดผ่อนผัน ห้ามเพิ่มจำนวน ห้ามกีดขวางทางเดิน ไม่ให้สกปรกรกรุงรังโดยเด็ดขาด ในพื้นที่ที่กีดขวางทางเดินให้ดำเนินการชี้แจงให้ขยับเข้าไปขายในจุดที่พื้นที่เอกชนหรือในซอยย่อยที่ไม่เกะกะ กำหนดเส้นทางหลักที่เป็นเส้นทางเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ของเมือง ในพื้นที่ซอยย่อยที่ย้ายเข้าไปแล้ว ต้องดูแลไม่ให้กีดขวางทางเดิน 5.ให้มีกรรมการชุดย่อยรายเขต เข้าช่วยดูแลรายละเอียดในแต่ละพื้นที่ของเขต 6.ให้มีกรรมการชุดใหญ่ ในการกำหนดเส้นทางหลัก แนวทางปฏิบัติที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน 7.พยายามหาพื้นที่ของเอกชน และภาครัฐในการจัดทำ Hawker Centers ให้เป็นรูปธรรม 8.เจรจากับเอกชน เพื่อหาพื้นที่ช่วยในการจัดระเบียบ

ในส่วนของแนวทางการดำเนินการผู้ค้าในจุดที่ได้รับอนุญาต ดังนี้ 1.ทำการค้าด้วยตนเอง 2.ตั้งวางอยู่ภายในขอบเขตที่กำหนด 3.ร่มแผงค้า ร่มอุปกรณ์การค้า มีขนาดลักษณะตามที่กำหนด 4.ต้องไม่วางกองสินค้า แผงค้า รถเข็น ลังหรืออุปกรณ์ใส่สินค้าบนถนน 5.ไม่ขายสินค้าบนรถหรือบนถนน รวมทั้งไม่นำรถยนต์ รถจักรยานยนต์พ่วงข้างขึ้นไปจอดขายสินค้าบนทางเท้า 6.ดูแลรักษาความสะอาด ไม่เททิ้งขยะ น้ำล้างภาชนะลงในท่อระบายน้ำ 7.ไม่ตั้งวางแผงค้าในบริเวณที่ห้าม ในระยะ 10 เมตร จากป้ายและศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทาง จุดที่หยุดหรือจอดรถโดยสารสาธารณะ ในระยะ 10 เมตร จากทางขึ้นลงละพานลอยคนเดินข้าม บริเวณใต้สะพานลอยคนเดินข้าม ทางขึ้นลงสถานีรถไฟฟ้า บริเวณไต้สถานีรถไฟฟ้า ช่องทางเข้าลิฟต์สำหรับผู้พิการ ในระยะ 3 เมตร ทั้ง 2 ด้าน ของทางเท้าบริเวณข้ามถนนที่มีทางม้าลาย ในระยะ 10 เมตร จากทางร่วมทางแยก ในระยะ 5 เมตร จากช่องทางเข้าออกอาคารที่ประชาชนใช้สอย ในระยะ 3 เมตร จากห้องสุขาสาธารณะ ในระยะ 3 เมตร จากจุดจ่ายน้ำดับเพลิง (ประปาหัวแดง) ในระยะ 1 เมตร จากบริเวณโดยรอบตู้โทรศัพท์ ตู้ไปรษณีย์

นอกจากนี้ในที่ประชุมได้รายงานผลการดำเนินการตามโครงการกวดขันรถยนต์ รถจักรยานยนต์ จอดหรือขับขี่บนทางเท้า ยอดรวมระหว่างเดือนกรกฎาคม 2561 ถึงวันที่ 22 มีนาคม 2566 จับกุม 46,738 ราย ปรับ 42,453 ราย ค่าปรับ 50,875,000 บาท ส่วนผลการดำเนินงานจัดการซากยานยนต์จอดทิ้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ปี พ.ศ.2562-2566 ที่ผ่านมา ตรวจพบซากยานยนต์ จำนวน 1,299 คัน เจ้าของเคลื่อนย้าย จำนวน 1,091 คัน สำนักงานเขตเคลื่อนย้าย จำนวน 161 คัน และรอเคลื่อนย้าย จำนวน 47 คัน ทั้งนี้ได้มีการเปรียบเทียบปรับไปแล้ว จำนวน 28 คัน ค่าปรับ 48,500 บาท และขายทอดตลาด จำนวน 11 คัน ยอดรวม 102,900 บาท

พร้อมกันนี้สำนักเทศกิจได้เตรียมความพร้อมในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และแผนการปฏิบัติหน้าที่ดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2566 ระหว่างวันที่ 11-17 เมษายน 2566 การจัดตั้งศูนย์บริการประชาชน จุดตรวจความมั่นคงดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกการจราจรดูแลรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยพื้นที่ จัดเจ้าหน้าที่ประจำกองอำนวยการร่วม เตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่พร้อมยานพาหนะ วัสดุอุปกรณ์ จัดระบบติดต่อสื่อสารระหว่างหน่วยงานกรุงเทพมหานครและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง