ลงนามบันทึกข้อตกกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อแก้ไขปัญหาพนักงานหรือคนรับ-ส่งอาหารและสินค้า (Rider) ไม่ขับขี่บนทางเท้าณ ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า)

วันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566
image

(3 พ.ย.66) เวลา 12.00 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกรุงเทพมหานครกับบริษัทรับส่งอาหารและสินค้า 13 บริษัท เพื่อแก้ไขปัญหาพนักงานหรือคนรับส่งอาหารและสินค้า (Rider) นำจักรยานยนต์มาขับขี่บนทางเท้า หรือฝ่าฝืนสัญญาณจราจร ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย โดยมี พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายสิทธิชัย อรัณยกานนท์ ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ นายอนุชิต พิพิธกุล รองผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ผู้บริหาร 13 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ลาลามูฟ อีซี่แวน (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ไลน์แมน (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ดีเอชแอล อีคอมเมิร์ซ โซลูชั่นส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เดลิเวอรี่ ฮีโร่ โลจิสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส จำกัด บริษัท โกลบอล เจท เอ็กซ์เพรส (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด บริษัท เพอร์เพิลเวนเจอร์ส จำกัด บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ลาซาด้า จำกัด ร่วมพิธี ณ ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า)

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า จริงๆ แล้ว Rider ก็เป็นส่วนสำคัญของเมือง ไม่ใช่แค่เรื่องรณรงค์ไม่ขับขี่บนทางเท้า แต่รวมถึงเรื่องเศรษฐกิจ อย่างเช่น เจ้าหน้าที่กวาดถนนของกทม. หลายคนก็ทำ Rider เป็นอาชีพเสริมในช่วงเวลาที่ว่าง หัวใจของ Rider มีส่วนสัมพันธ์กับเมืองขาดกันไม่ได้ ต้องบอกว่าไรเดอร์ก็ช่วยในเรื่องการแก้ปัญหาจราจร ทุกคนที่จะออกมาซื้อกินข้าวก็เรียก Rider ซึ่งเป็นระบบที่ดึงอาหารมาที่บ้าน ทำให้ทุกอย่างสะดวกขึ้น เรื่องทางเท้าก็เป็นเรื่องหนึ่ง ต่อไปคงเป็นเรื่องไม่ใหญ่พอเราเริ่มปลูกจิตสำนึกการฝ่าฝืนก็น่าจะลดลง ในอนาคตคงต้องมีความร่วมมือกันหลายเรื่อง อาทิ เรื่องการรักษาระเบียบวินัยจราจร รวมทั้งเรื่องที่กทม. ต้องดูแลเพิ่มเติม เช่น การหาที่จอดรถให้ Rider เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร

“ความร่วมมือกับ Rider เป็นส่วนสำคัญของเมือง ไม่แพ้วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง Rider คือเส้นเลือดฝอยตัวจริงที่เข้าถึงชุมชน เพราะเป็นผู้ที่กระจายของลงสู่ชุมชนและสู่ประชาชน” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครได้เชิญผู้บริหารของบริษัทส่งสินค้า 13 บริษัท ประชุมร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาการขับขี่รถบนทางเท้าของกลุ่ม Rider ซึ่งทุกบริษัทยินดีให้ความร่วมมือในการที่จะดูแลสื่อสารสร้างความเข้าใจกับพนักงานหรือ Rider ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับบริษัท จึงเป็นโอกาสที่ดีที่กรุงเทพมหานคร และผู้แทนทั้ง 13 บริษัท ได้ลงนามในบันทึกความตกลง (MOU) เพื่อแก้ไขปัญหาพนักงาน หรือคนรับ-ส่งอาหารและสินค้า (Rider) นำรถจักรยานยนต์มาขับขี่บนทางเท้า และจะได้ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อแก้ไขปัญหาการขับขี่รถบนทางเท้าของกลุ่ม Rider และเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ใช้ทางเท้าในการสัญจรหรือเดินทางให้ได้รับประโยชน์สูงสุด เพื่อการพัฒนากรุงเทพมหานครให้เป็นมหานครสำหรับทุกคนในโอกาสต่อไป

สำหรับสถิติที่กรุงเทพมหานครจับกุมผู้นำรถขึ้นไปขับขี่บนทางเท้าช่วง 5 ปี ที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน (เดือนกรกฎาคม 2561 ถึงเดือนตุลาคม 2566) จับกุม 55,231 ราย ตักเตือน 4,581 ราย ปรับ 48,787 ราย เป็นเงิน 61,255,711 บาท (หกสิบเอ็ดล้านสองแสนห้าหมื่นห้าพันเจ็ดร้อยสิบเอ็ดบาทถ้วน) และส่งดำเนินคดี 1,863 ราย ซึ่งเรื่องนี้ กรุงเทพมหานครและสังคมมีความห่วงใยผู้ใช้ทางเท้าอย่างยิ่ง เพราะปรากฏว่ามีเหตุผู้ขับขี่รถบนทางเท้าทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกาย และเฉี่ยวชนผู้ใช้ทางเท้าได้รับบาดเจ็บอยู่บ่อยครั้ง โดยผู้นำรถไปขับขี่บนทางเท้าจะมีทั้งประชาชนทั่วไป ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง ผู้ประกอบอาชีพรับส่งเอกสาร อาหารหรือสินค้า (Rider) ซึ่งที่ผ่านมา ธุรกิจ Rider ได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนที่ต้องการความสะดวกและรวดเร็วโดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปซื้อสินค้าที่ต้นทางเอง เพื่อสนองตอบความต้องการของลูกค้าที่ต้องการความรวดเร็วทันใจ ผู้ขับขี่หรือพนักงานรับส่งสินค้า จึงหลบเลี่ยงการจราจรบนถนนที่ติดขัดขึ้นไปขับขี่บนทางเท้า