องค์ความรู้จากการฟังธรรม โครงการพัฒนาจิตใจและสร้างความสุขในการทำงานของเจ้าหน้าที่เทศกิจ ตอนที่ 4

วันศุกร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2564
image
องค์ความรู้จากการฟังธรรม วันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๖๔
โครงการพัฒนาจิตใจและสร้างความสุขในการทำงานของเจ้าหน้าที่เทศกิจ สำนักเทศกิจ
พระธรรมเทศนาเรื่อง : ตปกถา ว่าด้วยความเพียรเผากิเลส
โดยศาสตราจารย์ ดร. พระพรหมบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร

 
       สมคฺคานํ ตโป สุโข แปลว่า การบำเพ็ญเพียรเผากิเลสของคนที่สามัคคีกัน นำสุขมาให้
ขันติ คือ ความอดทน ทนลำบาก ทนตรากตรำ ทนเจ็บใจ เช่น ปวดท้องโดยไม่ร้อง ทนทำงานหนักโดยไม่บ่น
ตบะ คือ ความเพียรเผากิเลส มาจากด้านใน ทำที่ใจ พยายามฆ่าความโกรธในใจ ไม่ให้สิ่งเร้ามากระตุ้น
โดยยึดหลัก ดังนี้
       ๑.
โยนิโสมนสิการ คือ การคิดพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน การคิดที่มีเหตุผล
       ๒.
โกธํ ฆตฺวา สุขํ เสติ คือ ฆ่าความโกรธได้ ย่อมอยู่เป็นสุข

       เพื่อลดความโลภ โกรธ หลง ในจิตใจ เช่น การกักตัวในบ้าน ๑๔ วัน ไม่ควรใช้ขันติ ต้องบำเพ็ญตบะ ด้วยการทำใจให้สงบ ไม่ตามใจกิเลส สวดมนต์ ไหว้พระ ฟังธรรมะ ตัวอย่างของการบำเพ็ญตบะ เช่น คนติดคุกด้วยข้อหาทางการเมือง บำเพ็ญตบะด้วยการแต่งตำรา คือ สอ เสถบุตร แต่งตำราพจนานุกรมอังกฤษ – ไทย จากในคุก อีกคนหนึ่งคือ หลวงวิจิตรวาทการ ติดคุกข้อหาเป็นอาชญากรสงครามร่วมกับญี่ปุ่น บำเพ็ญตบะ ด้วยการแต่งหนังสือ เช่น ห้วงรักเหวลึก และประวัติศาสตร์ไทย

       
ฉะนั้น ตบะแสดงออกด้วยการสังวร คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และต้องควบคุมใจด้วย จึงจะมีความสุข ดังเช่นพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เรื่อง ไกรทอง เรื่องมีอยู่ว่า ชาลวัน (จระเข้ยักษ์) จับตะเภาทองลงไปในถ้ำใต้น้ำของตน บิดาของตะเภาทองประกาศจะให้รางวัลกับผู้ที่นำศพลูกสาวมาให้ ไกรทองเป็นผู้รับอาสาดังกล่าว โดยทำพิธีบริเวณจุดที่ชาลวันนำตัวตะเภาทองไป และท้าทายให้ชาลวันขึ้นมาต่อสู้กัน วันหนึ่งชาลวันฝันว่าโดนตัดศีรษะ จึงไปปรึกษากับปู่จระเข้ ได้รับคำแนะนำให้จำศีลในถ้ำ ๗ วัน แต่ชาลวันไม่สามารถจำศีลได้ครบ ๗ วัน เพราะทนการท้าทายจากไกรทองไม่ได้ จึงออกมาสู้กับไกรทองจนได้รับบาดเจ็บสาหัส ต้องหนีลงมาซ่อนในถ้ำ ฝ่ายไกรทองเห็นว่าตนได้เปรียบจึงตามลงมาสังหารชาลวันได้สำเร็จ เรื่องนี้แสดงให้รู้ว่า หากชาลวันอยู่ในถ้ำตามคำแนะนำ จะไม่ตาย เปรียบกับสังคมไทยในเวลานี้ต้องบำเพ็ญตบะ สวดมนต์ ภาวนา ควบคุมจิตใจ ซึ่งการควบคุมจิตใจมี ๒ วิธี
       ๑.
โยนิโสมนสิการ คือ คิดอย่างฉลาด คิดอย่างสร้างสรรค์
       ๒.
กัลยาณมิตร คือ เป็นเพื่อนที่ดี ให้กำลังใจกัน

       
การบำเพ็ญตบะ เปรียบคือการควบคุมจากภายใน คือให้อยู่บ้าน อย่าออกไปรับเชื้อมาให้คนในบ้าน สอดคล้องกับอัตตานัง รักขันโต ปรัง รักขะติ แปลว่า รักษาตน ชื่อว่ารักษาคนอื่น ห่วงใยคนอื่น เราก็ปลอดภัยไปด้วย
       เวลานี้ทุกคนต้องบำเพ็ญตบะร่วมกันดังที่พระพุทธเจ้าตรัสเล่าไว้ว่า พ่อค้ากลุ่มใหญ่จะไปขายของที่หมู่บ้าน แห่งหนึ่ง ก่อนที่จะถึงหมู่บ้านจะมีผลไม้อยู่ชายป่า หัวหน้าพ่อค้าบอกให้ระวังอย่าขโมยเก็บผลไม้ที่ชายป่าของหมู่บ้านแห่งนี้ จากนั้นได้แบ่งคณะออกเป็น ๓ คณะ
       คณะที่ ๑ เมื่อไปถึงชายป่าของหมู่บ้าน เห็นมะม่วงลูกใหญ่ จึงเก็บกิน ปรากฎว่าตายทั้งคณะ
       คณะที่ ๒ ไปอีกเส้นทางกับคณะที่ ๑ เมื่อไปถึงชายป่าของหมู่บ้าน เห็นผลไม้น่ากิน แต่เพราะนึกถึงคำเตือน ของหัวหน้าพ่อค้า จึงกินผลไม้ไปนิดหน่อย ปรากฏว่ามีอาการปวดท้อง แต่ไม่มีคนตาย
       คณะที่ ๓ หัวหน้าพ่อค้าเป็นผู้นำคณะ และได้เตือนผู้ร่วมคณะเมื่อไปถึงชายป่าของหมู่บ้าน จึงไม่มีผู้ใดกินผลไม้
       ชาวบ้านสงสัยถามว่า ทำไมถึงไม่เก็บผลไม้กิน ?
       หัวหน้าพ่อค้าตอบว่า ผลไม้นี้อยู่ชายป่า มีผลดก ต้นไม่สูง แต่ต้นอื่น ๆ มีการเก็บผลไปบ้างแล้ว แสดงว่า ต้นที่ผลดกมีพิษ จึงไม่มีผู้ใดเก็บกิน
       ฉะนั้น ทุกคนต้องรู้เท่าทันและร่วมกันปฏิบัติจึงจะปลอดภัย เปรียบกับปัจจุบันทุกคนต้องร่วมกันบำเพ็ญตบะ ไม่เพิ่มภาระให้กับหมอ และพยาบาล หากทุกคนสามัคคีกันก็จะปลอดภัย ดังพระบาลีว่า

สมคฺคานํ ตโป สุโข แปลว่า การบำเพ็ญเพียรเผากิเลสของคนที่สามัคคีกัน นำสุขมาให้


ขอบคุณรูปภาพจาก : www.onbnews.today