วันพุธที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2563
โรคอัลไซเมอร์: 5 อาการบ่งชี้ที่คุณสังเกตได้
โรคอัลไซเมอร์: 5 อาการบ่งชี้ที่คุณสังเกตได้
โรคอัลไซเมอร์ มักใช้เวลาหลายปีก่อนที่ผู้ป่วยจะแสดงอาการให้เห็นอย่างชัดเจน ในช่วงเวลานั้นผู้ป่วยอาจมีสัญญาณบ่งชี้ที่คุณสามารถสังเกตเห็นได้
ผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer's Society) ในสหราชอาณาจักร กล่าวว่า สัญญาณเหล่านี้อาจไม่สามารถเห็นได้ชัดเจน เพราะมักมีความคล้ายคลึงกับอาการของโรคอื่น ๆ แต่การตรวจพบโรคอัลไซเมอร์ได้เร็ว จะสามารถช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้นานขึ้น โรคอัลไซเมอร์ เป็นสาเหตุของโรคสมองเสื่อมที่พบได้บ่อยที่สุด ซึ่งเฉพาะในประเทศไทยมีผู้ป่วยถึงกว่า 6 แสนคนในปี 2558 ตามข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข
มากกว่าแค่ขี้ลืม
อาการหลงลืมเป็นเรื่องปกติโดยเฉพาะเมื่อคุณมีอายุมากขึ้น แต่นั่นไม่ใช่สัญญาณของโรคอัลไซเมอร์ หรือโรคสมองเสื่อมชนิดอื่น ๆ เสมอไป การสูญเสียความทรงจำต่างหากที่เป็นเรื่องน่ากังวลและเป็นหนึ่งในสัญญาณแรกเริ่มของโรคอัลไซเมอร์ เมื่อความทรงจำระยะสั้นได้รับผลกระทบจากโรคนี้ มันจะส่งผลให้คนคนนั้นลืมว่าเพิ่งทำอะไรมาเมื่อ 10 นาทีที่ผ่านมา หรือหลงลืมบทสนทนาที่เพิ่งผ่านพ้นไป ปัญหาเกี่ยวกับความทรงจำยังสามารถทำให้ผู้ป่วยพูดเรื่องเดิมซ้ำ ๆ และมีปัญหาในการนึกถึงเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น รวมถึงทำกิจกรรมประจำวันที่คุ้นเคย เช่น การทำอาหาร หรือใช้บัตรเครดิตซื้อของได้ยากลำบากขึ้น
เมื่อการชงกาแฟเป็นเรื่องยากขึ้น
กิจกรรมธรรมดา ๆ อย่างการชงกาแฟ หรือ เล่นโทรศัพท์มือถือ ที่อาจดูเหมือนไม่ซับซ้อนหรือต้องใช้ความคิด สามารถกลายเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนักสำหรับผู้มีอาการโรคอัลไซเมอร์ในช่วงแรก การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มักจะเริ่มต้นจากเรื่องเล็ก ๆ ก่อนที่มันจะพัฒนาขึ้นจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยหรือคนรอบข้าง อาจสังเกตสัญญาณเหล่านี้ได้ เมื่อเห็นว่าพวกเขาลำบากในการใช้โทรศัพท์มือถือ ลืมกินยาบ่อย ๆ รวมทั้งมีปัญหาในการพูดและใช้ภาษา เช่น เลือกใช้คำที่เหมาะสมได้ยากขึ้น นอกจากนี้ ความเรียบร้อยในการแต่งกายและภาพลักษณ์ของพวกเขาอาจเปลี่ยนไป เมื่อกิจวัตรในการอาบน้ำแต่งตัวทุกเช้าเป็นกลายเรื่องที่ลำบากขึ้น
ทำไมฉันถึงอยู่ที่นี่
อาการสับสนว่าคุณอยู่ที่ไหน หรือทำไมคุณถึงอยู่ที่นั่น เป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ พวกเขามักจะหลงทางบ่อยขึ้น โดยเฉพาะในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย และอาจจะรู้สึกสับสนในบ้านของตัวเองอีกด้วย เช่น จำไม่ได้ว่าอยู่ที่ไหนของบ้านหลังจากเดินขึ้นบันได การสับสนเช่นนี้ อาจนับรวมถึง การไม่รู้ว่าวันวันนี้เป็นวันอะไรและเดือนไหนของปี
อารมณ์เปลี่ยนแปลง
คนที่ประสบกับอาการข้างต้นนี้ มักจะมีสัญญาณในการเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์และพฤติกรรมร่วมด้วย พวกเขาอาจจะรู้สึกไม่พอใจและรำคาญได้ง่ายขึ้น รวมทั้งอาจจะหงุดหงิดหรือเสียความมั่นใจในตัวเอง
นอกจากนี้มันอาจนำไปสู่การสูญเสียความสนใจในกิจกรรมประจำวัน ความรู้สึกไม่พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนแผนต่าง ๆ และไม่ต้องการที่จะลองอะไรใหม่ ๆ
ผู้ป่วยส่วนใหญ่ทราบว่ามีบางอย่างผิดปกติ
น.ส. แคธริน สมิธ จากสมาคมโรคอัลไซเมอร์ในสหราชอาณาจักร กล่าวว่าโรคสมองเสื่อม "ไม่ใช่เรื่องปกติของการมีอายุมากขึ้น มันเป็นโรคที่เกิดขึ้นกับสมอง" นอกจากนี้โรคอัลไซเมอร์ไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุเท่านั้น ในสหราชอาณาจักรมีผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมที่อายุต่ำกว่า 65 ปีมากกว่า 4 หมื่นคน เธอกล่าวว่าประสบการณ์ของแต่ละผู้ป่วยแต่ละคนนั้นแตกต่างกันออกไป เช่นเดียวกับอาการของโรคสมองเสื่อมแต่ละชนิดซึ่งไม่เหมือนกัน แต่ผู้ป่วยส่วนมากจะรับรู้ได้ว่ามีบางอย่างผิดปกติ น.ส. สมิธ กล่าวว่า พวกเขาจำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อจะได้รับการช่วยเหลือที่จำเป็น เพราะผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพได้เป็นเวลาหลายปี และ "การวินิจฉัยโรคไม่ได้ทำให้คุณเปลี่ยนไปในทันที" เธอเข้าใจว่าผู้ป่วยอาจรู้สึกไม่สะดวกใจกับการตอบสนองของคนรอบข้าง ทำให้หลายคนไม่อยากได้รับการวินิจฉัย ซึ่งยิ่งทำให้พวกเขาต้องรู้สึกโดดเดี่ยว สำนักงานหลักประกันสุขภาพของอังกฤษ แนะนำว่าควรพาคนรอบข้างไปพบแพทย์เมื่อสังเกตว่ามีอาการผิดปกติ โดยแพทย์จะสามารถทดสอบด้วยการตรวจเลือดเบื้องต้นก่อนจะส่งต่อให้ผู้เชี่ยวชาญได้วินิจฉัยต่อไป
6 วิธีดูแลสมองก่อนจะความจำเสื่อม
จากเทคโนโลยีในปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์พบว่าโรคอัลไซเมอร์เกิดได้จากปัจจัยหลายอย่างรวมกัน ทั้งจากพันธุกรรม จากความผิดปกติทางชีววิทยาในสมอง ที่ส่งผลให้การทำงานของโครงสร้างเครือข่ายเซลล์ประสาทที่ติดต่อระหว่างกันไม่สามารถเกิดขึ้นได้ตามปกติอีกต่อไป ผู้ป่วยจะเกิดความบกพร่องทางสมองในส่วนของสติปัญญา เช่น ความคิด ความจำ และการตัดสินใจ ในขณะที่สมองส่วนที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวยังใช้การได้ดี โดยความเสี่ยงจะมากขึ้นเรื่อย ๆ ทันทีที่อายุเข้าสู่วัย 65 ปีเป็นต้นไป
อาการของอัลไซเมอร์อาจเริ่มจากการสูญเสียความทรงจำระยะสั้น จนไม่สามารถจำอะไรใหม่ ๆ ได้ นานวันเข้าอาจจำเหตุการณ์ในอดีตไม่ได้ไปด้วย หรือแม้แต่จำไม่ได้ว่าสิ่งที่อยู่ตรงหน้าคืออะไร เหมือนอย่างที่เราได้ยินข่าวอยู่บ่อย ๆ ว่า ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ออกจากบ้านแล้วหายตัวไปเพราะหาทางกลับบ้านไม่ถูก ความน่ากลัวของอัลไซเมอร์อาจเพิ่มทวีคูณไปกระทั่งเห็นภาพหลอน หูแว่ว ก้าวร้าว ในท้ายที่สุดสมองจะถูกทำลายจนไม่สามารถควบคุมการทำงานต่าง ๆ ของร่างกายให้ดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติและเสียชีวิตในที่สุด ซึ่งทั้งหมดนั้นอาจกินเวลา 3 – 20 ปี โดยมีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 8 ปีนับตั้งแต่เริ่มมีอาการ
สำหรับใครที่ไม่อยากข้องเกี่ยวโรคอัลไซเมอร์ในตอนแก่ละก็ แม้ปัจจุบันจะยังไม่มีวิธีการรักษาโรคอัลไซเมอร์ให้หายขาดได้ก็ตาม แต่อย่าเพิ่งหมดหวัง เพราะคุณเองสามารถชะลอความเสื่อมของสมองได้ตั้งแต่วันนี้ด้วยวิธีการง่าย ๆ เพียง 6 วิธี
1.หมั่นเรียนรู้สิ่งใหม่อยู่เสมอ ควบคู่ไปกับการออกกำลังสมอง เช่น เล่นเกมลับสมองฝึกความจำ ฝึกคำนวณตัวเลข รวมถึงการเล่นดนตรีประเภทต่าง ๆ ก็ช่วยได้
2.ออกกำลังกาย มีประโยชน์เรื่องการคลายเครียดและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือด โดยการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอหรือการบำรุงหัวใจ เพียงวันละ 20 – 30 นาที อย่างน้อย 4 วันต่อสัปดาห์
3.รับประทานอาหารบำรุงสมอง โดยเฉพาะอาหารที่อุดมด้วยธาตุเหล็ก วิตามินบี 12 เอ ซี อี และซีลีเนียม รวมถึงผลิตภัณฑ์จากใบแปะก๊วย
4.การเข้าสังคม เราไม่ได้พูดถึงงานสังคมหรูหราฟุ่มเฟือยใด ๆ แต่สิ่งที่กำลังกล่าวถึงคือ การพบปะผู้คน พูดคุย โต้ตอบบทสนทนาอย่างสม่ำเสมอ ไม่เก็บตัวเงียบอยู่คนเดียว สามารถช่วยยืดอายุสมองได้
5.หมั่นตรวจสอบความดันโลหิตอยู่เสมอ เพราะส่งผลกระทบถึงสมองโดยตรง และให้ลด ละ เลิกกิจกรรมต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อความดันโลหิตได้ เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ และการใช้สารเสพติด
6.นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ควรเข้านอนเกินสี่ทุ่มถึงห้าทุ่ม และควรนอนให้ได้อย่างน้อย 7 ชั่วโมงต่อวันในสถานที่เงียบสงบ เพื่อให้การนอนมีคุณภาพมากที่สุด
ข้อมูลและรูปภาพจาก
- กระทรวงสาธารณสุข
- เว็บไซต์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) www.thaihealth.or.th
- https://generali.co.th/wellness-content/happy-life/
- https://www.bbc.com/thai/international-44081483