ผู้สูงอายุไทย เกษียณแล้วไป (อยู่) ไหนดี?

วันอังคารที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2563
image
ผู้สูงอายุไทย เกษียณแล้วไป (อยู่) ไหนดี?
            คำว่า "เกษียณ" ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน มีความหมายว่า "สิ้นไป" ซึ่งใช้เกี่ยวกับการกำหนดอายุ เช่น เกษียณอายุราชการ ก็จะหมายถึงการสิ้นกำหนดเวลารับราชการ หรือการทำงาน โดยส่วนใหญ่แล้วประเทศต่าง ๆ ในแถบเอเชีย รวมถึงประเทศไทย มักถือกำหนดให้บุคคลที่มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ ต้องเกษียณอายุพ้นจากสภาพการทำงาน เพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อนจากการตรากตรำ ทำมาหาเลี้ยงชีพตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมา  เมื่อต้องก้าวสู่วัยแห่งการเกษียณ แน่นอนว่าความคิด ความรู้สึก และความหมายของการเกษียณ สำหรับแต่ละคนย่อมมีความแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับทัศนคติ และความพร้อมของแต่ละบุคคล ถ้าเป็นผู้ที่มีการเตรียมตัวและวางแผนล่วงหน้าไว้เป็นอย่างดี ก็จะไม่กังวลกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในชีวิต และอาจมีความสุขเสียด้วยซ้ำที่จะได้พ้นจากภาระหน้าที่การงานเสียที แต่สำหรับผู้ที่ขาดการเตรียมความพร้อม การเกษียณอาจส่งผลในทางลบมากกว่า ทั้งในด้านสุขภาพร่างกายและจิตใจ ตลอดจนวิถีชีวิตที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วย สาเหตุต่าง ๆ อาทิ การหมดอำนาจและบทบาทในทางสังคม การสูญเสียรายได้ อันเป็นเหตุให้เกิดความไม่มั่นคงทางการเงิน เป็นต้น
            ปัจจุบันไทยมีประชากรอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปกว่า 11 ล้านคน ซึ่งวัยเกษียณเหล่านี้ต้องเตรียมตัวทั้งด้านรายได้ที่ขาดหายไป เงินออม รวมถึงที่อยู่อาศัย โดยจากผลสำรวจชี้ว่า คนไทย 49% ไม่มีความกังวลใด ๆ ในชีวิตหลังเกษียณ  ในแต่ละปีไทยจะมีข้าราชการที่ครบกำหนดเกษียณอายุตามปีงบประมาณจำนวนถึงหลักหมื่นคน โดยข้อมูลข้าราชการพลเรือนสามัญ พบว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2561-2570 จะมีข้าราชการพลเรือนสามัญเกษียณอายุรวมจำนวน 117,652 คน (เฉลี่ยปีละ 11,765 คน) หากโฟกัสในปี พ.ศ. 2561-2563 จะมีผู้เกษียณอายุจำนวน 8,539 คน 10,068 คน และ 11,017 คน ตามลำดับ
            การเปลี่ยนผ่านของบุคลากรเข้าสู่วัยเกษียณดังกล่าว นอกจากจะส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวม เนื่องจากการขาดช่วงของกำลังคนที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ ภาคการผลิต และภาคการเกษตร ยังส่งผลต่อตัวผู้เข้าสู่วัยเกษียณอายุเองด้วยที่ต้องขาดรายได้ในการดำรงชีวิต ดังนั้น ผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณเหล่านี้จึงต้องเตรียมตัวเพื่อรองรับการใช้ชีวิตหลังจากนี้ไว้ด้วยเช่นกัน
            ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติได้คาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2570 ประเทศไทยจะมีวัยแรงงานลดจำนวนลงเหลือ 61% จากข้อมูลของสำนักวิชาการ สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เกี่ยวกับสังคมผู้สูงอายุกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย พบว่า แนวทางการรับมือสังคมผู้สูงวัยในต่างประเทศที่นิยมนำมาใช้และอาจจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทย ประกอบด้วย การขยายอายุเกษียณ ซึ่งเกิดขึ้นแล้วที่สิงคโปร์ ที่เพิ่มอายุเกษียณจาก 65 ปี เป็น 67 ปี เกาหลีเพิ่มจาก 55 ปี เป็น 60 ปี และญี่ปุ่นขยายจาก 62 ปี เป็น 65 ปี  สอดคล้องกับผลวิจัยของ TDRI ที่พบว่า การเก็บรักษาพนักงานในกลุ่มอายุ 50-60 ปีไว้ และปรับทักษะให้ดีขึ้นจะทำให้การชะลอตัวทางเศรษฐกิจลดลง 9% และการนำแรงงานในกลุ่มอายุ 60-69 ปีกลับมาในตลาดแรงงานจะช่วยทำให้สถานการณ์ดีขึ้น 2%  โดยทางสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ได้มีแผนขยายเวลาเกษียณอายุข้าราชการจากเดิม 60 ปี เป็น 63 ปี ในปี พ.ศ. 2567 เพื่อรองรับสังคมสูงวัย และสนับสนุนให้ข้าราชการมีอาชีพและมีงานทำหลังเกษียณ   ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนหลายองค์กรได้มีนโยบายจ้างงานผู้สูงวัยตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไป เพื่อสร้างรายได้และสร้างงานให้กับผู้สูงอายุ ซึ่งรัฐบาลได้ออกกฎหมายสนับสนุนให้บริษัทที่จ้างผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไปเข้าทำงาน ให้สามารถใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ถึง 100% จึงมีความเป็นไปได้ว่าในอนาคตจะมีองค์กรเอกชนสนับสนุนการจ้างงานผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นอีก  ผู้สูงอายุกว่า 34% มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน แม้ว่าเกษียณแล้วจะทำให้ช่องทางรายได้จากการทำงานหายไป แต่ก็ยังมีรายได้อื่น ๆ ที่ได้เสริมจากหลังเกษียณ เช่น เงินบำนาญชราภาพจากประกันสังคม เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ซึ่งรัฐบาลให้กับผู้สูงอายุทุกคนที่ไม่เคยได้รับสิทธิประโยชน์จากหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ กองทุนบำเหน็จบำนาญสำหรับผู้ที่เป็นข้าราชการ  ส่วนผู้ที่ทำงานในบริษัทเอกชนบางแห่งจะมี Provident Fund หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อเป็นกองทุนเงินออมหลังเกษียณอายุ โดยมาจากเงินสะสมของเงินเดือนลูกจ้างในแต่ละเดือน รวมถึงเงินออมในธนาคาร และประกันชีวิตที่เคยทำไว้ด้วย
            อย่างไรก็ตาม ข้อมูลล่าสุดเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 จากกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เผยว่า ไทยมีประชากรอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปกว่า 11 ล้านคน โดยในปี พ.ศ. 2564 จะมีประชากรสูงวัย 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมด หรือ 20% และที่น่าเป็นห่วงคือจำนวนผู้สูงวัยที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน อยู่ที่ 34.3% (ในปี พ.ศ. 2557 เส้นต่ำกว่าความยากจน คือ ผู้มีรายได้ต่ำกว่า 2,647 บาท/เดือน)  อีกทั้งกว่า 55.8% คนสูงวัยยังต้องพึ่งพารายได้จากผู้อื่น ยังต้องทำงานหารายได้เอง 34% ซึ่งแหล่งรายได้หลักการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุ มาจากบุตร 36.7% รายได้จากการทำงานของผู้สูงอายุเอง 33.9% เบี้ยยังชีพจากราชการ 14.8% เงินบำเหน็จบำนาญ 4.9% จากคู่สมรส 4.3% ดอกเบี้ยเงินออมและการขายสินทรัพย์ที่มีอยู่ 3.9% และรายได้จากทางอื่น ๆ อีก 1.5%
            ผลสำรวจชี้คนไทย 49% ไม่มีความกังวลเมื่อเข้าสู่วัยเกษียณ เมื่อเอ่ยถึงอสังหาริมทรัพย์ การใช้ชีวิตในวัยเกษียณก็เป็นอีกเรื่องสำคัญที่หลายคนคำนึงถึง บางรายอาจอาศัยร่วมกับลูกหลานหรือพี่น้องซึ่งเป็นครอบครัวใหญ่ ขณะที่ผู้สูงวัยอีกไม่น้อยที่ไม่ได้แต่งงาน หรือต้องการแยกตัวมาอยู่คนเดียว ก็เริ่มให้ความสนใจรูปแบบที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงวัยโดยเฉพาะ
            สิ่งสำคัญที่จะต้องทำเสียแต่วันนี้ก็คือ การเตรียมตัวเองให้มีความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่า ในอีกหลาย ๆ ปีข้างหน้า หลังจากที่เกษียณไปแล้ว จะยังคงสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต เพราะสมัยนี้ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ และแนวโน้มการให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสุขภาพ ทำให้อายุขัยเฉลี่ยของมนุษย์ มีระยะเวลายาวนานขึ้น และทำให้ "การเกษียณ" เป็นเรื่องของการกำหนดเวลาเพื่อพ้นจากการทำงานเท่านั้น ไม่ใช่ว่าคนอายุ 60 ปี จะต้องเปลี่ยนสถานภาพไปเป็น "ผู้สูงอายุ" เสมอไป อย่างเช่นในอดีต ดังนั้นเพื่อให้การดำรงชีวิตภายหลังเกษียณเป็นไปอย่างราบรื่นและมีความสุข จึงควรใส่ใจกับประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
สุขภาพดีต้องมาก่อน  เพราะคำว่า "ไม่เป็นไร" ใช้ไม่ได้กับเรื่องสุขภาพ จึงควรปฏิบัติตามข้อแนะนำคือ
      1. หมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลงและอาการ ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนต่าง ๆ เช่น อาการปวดหัวเป็นประจำ นอนไม่หลับ น้ำหนักเพิ่ม หรือลดผิดปกติ เพื่อจะได้รีบปรึกษาแพทย์
      2. บริโภคอาหารให้เหมาะสมกับวัย เช่น เลือกทานอาหารที่มีไขมันแต่พอควร หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด เป็นต้น
      3. ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ และให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายของแต่ละคน
      4. ทำจิตใจให้แจ่มใส สนใจบุคคลและสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้มากขึ้น
ฐานะการเงินราบรื่น   เป็นอีกประเด็นสำคัญที่จะส่งผลต่อการดำเนินชีวิตหลังเกษียณว่า จะเป็นไปอย่างมีความสุข ราบรื่น เลี้ยงดูตนเองได้ หรือต้องเป็นภาระให้กับครอบครัวและลูกหลาน ซึ่งฐานะการเงินภายหลังเกษียณจะเป็นอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับ 3 กิจกรรมสำคัญคือ
       1. การออม จะดีมากถ้ามีการวางแผนและได้เก็บออมไว้แต่เนิ่น ๆ ตั้งแต่ยังทำงานอยู่ และมีระยะเวลาการออมที่ยาวนาน เมื่อถึงวันที่ต้องเกษียณ ก็จะมีความพร้อม และไม่กังวลว่าจะอยู่ต่อไปอย่างไร จะพึ่งพาลูกหลานได้แค่ไหน เจ็บป่วยขึ้นมาจะใช้เงินที่ไหนรักษาตัว เพราะเงินออมเพื่อการเกษียณก้อนนั้น ก็จะทำหน้าที่ของมันตามวัตถุประสงค์ของการออมนั่นเอง
       2. การหาเงินเพิ่ม เพราะ "อัตราเงินเฟ้อ" คือ ศัตรูตัวฉกาจต่อการดำรงชีวิตและการออม จึงไม่ควรที่จะประมาท ถึงแม้ว่าจะมีเงินออมอยู่แล้วก็ตาม การหาเงินเพิ่มทำได้โดยตรงด้วยการทำงานอดิเรก ทำงานพิเศษที่สร้างรายได้ และอยู่ในวิสัยที่สภาพร่างกายยังเอื้ออำนวย หรือการทำธุรกิจส่วนตัวเป็นอาชีพใหม่ ซึ่งเหมาะสมกับวัยและความถนัดของตนเอง นอกจากนี้ยังมีวิธีเพิ่มมูลค่าเงินออมด้วยการลงทุน ซึ่งมีอยู่มากมายหลายช่องทางและรูปแบบให้เลือกลงทุน ตามความเหมาะสมกับช่วงอายุ ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และเป้าหมายของการลงทุน
       3. การบริหารค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน คนวัยเกษียณควรคำนึงถึงความมั่นคงทางการเงินเป็นเรื่องสำคัญ เพราะวันข้างหน้าจะต้องเกิดค่าใช้จ่าย ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างน้อยที่สุดก็คือ ค่ารักษาพยาบาล ดังนั้นการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน จึงควรเป็นไปอย่างเข้มงวด มีวินัย และประหยัดมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อที่เวลาถึงคราวจำเป็นต้องใช้เงินจะได้ไม่ลำบาก
 แนวทางสร้างความสุข
       1. อยู่ได้ด้วยตนเอง และพึ่งพาตนเองให้มากที่สุด
       2. อย่าให้ชีวิตไร้คุณค่า เป็นที่พึ่งทางปัญญาให้กับลูกหลาน และทำตนเป็นประโยชน์ต่อสังคม
       3. พึงตระหนักในสัจธรรมที่ว่า ชีวิตย่อมมีการเปลี่ยนแปลง อย่ายึดติด และจงมีชีวิตอยู่กับปัจจุบัน
       4. ศึกษาธรรมะ และหลักคำสอนของศาสนา เพื่อจิตใจที่สุขสงบ
            เหรียญย่อมมี 2 ด้านเสมอ เช่นเดียวกับ "การเกษียณ" ที่บางคนอาจมองว่าเป็นความสูญเสียบางสิ่งบางอย่างไปจากชีวิต และไม่อาจยอมรับได้ แต่ในทางตรงกันข้าม หากมีความพร้อมและลองมองโลกในแง่ดี จะพบว่าถึงเวลาแล้วที่จะได้พักผ่อน และแสวงหาความสุขให้กับชีวิตได้อย่างเต็มที่เสียที
 

ขอขอบคุณบทความและรูปภาพประกอบจาก
  • https://www.ddproperty.com/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%AD%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9E%E0%B8%A2%E0%B9%8C-%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1/2019/10/1837
    23/%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2-%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8
    %93%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B9%89
  • สำนักบริการคอมพิวเตอร์  https://www.ku.ac.th/e-magazine/nov48/know/secret.html