สืบสานประเพณีลอยกระทงให้คงอยู่ คู่วัฒนธรรมไทย

วันอังคารที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2563
image

ประเพณีลอยกระทง ประจำปี 2563 ตรงกับ วันเสาร์ที่ 31 ตุลาคม 2563
             ประเพณีลอยกระทง ตรงกับวันเพ็ญ (วันขึ้น 15 ค่ำ) เดือน 12 (ตามปฏิทินทางจันทรคติ) ประมาณเดือนพฤศจิกายน ประเพณีนี้กำหนดขึ้นเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์และขอขมาต่อแม่พระคงคา บางหลักฐานเชื่อว่าเป็นการบูชารอยพระพุทธบาทที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมทามหานที และบางหลักฐานก็ว่าเป็นการบูชาพระอุปคุตอรหันต์หรือพระมหาสาวก สำหรับประเทศไทยประเพณีลอยกระทงได้กำหนดจัดในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่ติดกับแม่น้ำ ลำคลอง หรือ แหล่งน้ำต่าง ๆ ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็จะมีเอกลักษณ์ที่น่าสนใจแตกต่างกันไป 
คติที่มาเกี่ยวกับวันลอยกระทงมีอยู่หลายตำนาน ดังนี้
  1. การลอยกระทง เพื่อขอขมาแก่พระแม่คงคา
  2. การลอยกระทง เพื่อบูชาพระผู้เป็นเจ้าตามคติพราหมณ์ คือบูชาพระนารายณ์ซึ่งบรรทมสินธุ์อยู่ในมหาสมุทร
  3. การลอยกระทง เพื่อต้อนรับพระพุทธเจ้า ในวันเสด็จกลับจากเทวโลก เมื่อครั้งเสด็จไปจำพรรษาอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อทรงเทศนาอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดา
  4. การลอยกระทง เพื่อบูชาพระพุทธบาท ของพระพุทธเจ้า ที่หาดทรายริมแม่น้ำนัมมทานที เมื่อคราวเสด็จไปแสดงธรรมโปรดในนาคพิภพ
  5. การลอยกระทง เพื่อบูชาพระจุฬามณีบนสวรรค์ ซึ่งเป็นที่บรรจุพระเกศาของพระพุทธเจ้า
  6. การลอยกระทง เพื่อบูชาท้าวพกาพรหม บนสวรรค์ชั้นพรหมโลก
  7. การลอยกระทง เพื่อบูชาพระอุปคุตตะเถระ ซึ่งบำเพ็ญเพียรบริกรรมคาถาอยู่ในท้องทะเลลึกหรือสะดือทะเล
 
การลอยกระทงเพื่อบูชารอยพระพุทธบาท
          รอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้า ที่ไปปรากฏอยู่ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที มีความเป็นมาเกี่ยวข้องกับพุทธประวัติ คือ ครั้งหนึ่งพญานาคทูลอาราธนาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้เสด็จไปแสดงธรรมโปรดในนาคพิภพ เมื่อพระองค์จะเสด็จกลับ พญานาคทูลขออนุสาวรีย์ไว้กราบไหว้บูชา พระพุทธองค์จึงทรงประดิษฐานรอบพระพุทธบาทไว้ที่หาดทราย ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที เพื่อให้บรรดานาคทั้งหลายได้สักการะบูชา
การลอยกระทงที่มีความเป็นมาเกี่ยวข้องกับพุทธประวัติ ยังมีอีก 2 เรื่อง คือ
1. การลอยกระทงเพื่อบูชาพระจุฬามณีบนสวรรค์ และ
2. การลอยกระทงเพื่อต้อนรับพระพุทธองค์ในวันที่เสด็จกลับจากเทวโลก
 
          แม้ช่วงสองสามวันที่ผ่านมาในเมืองไทยจะมีเรื่องใหญ่ ๆ ที่ดึงดูดความสนใจหลายเรื่อง แต่เมื่อมาถึงวันที่ 2 พ.ย. 2552 ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ทุกทิศทั่วไทย...ก็จะสนใจเรื่อง “ลอยกระทง” ด้วย
          ทั้งนี้ แม้ว่าเรื่องร้าย ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในคืนวันลอยกระทงจะมิใช่เรื่องใหม่ แต่เรื่องเก่าเรื่องนี้ก็เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าทุกปี เกิดการสูญเสียขึ้นทุกเทศกาลลอยกระทง ดังนั้น จึงมีการเตือนซ้ำย้ำกันอีกว่า...อย่าประมาท !!
“จากการรวบรวมสถิติอุบัติภัยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พบว่า วันลอยกระทงมักเกิดอุบัติภัยในรูปแบบต่าง ๆ ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก เช่น อุบัติภัยทางน้ำ ทั้งการจมน้ำ และเรือล่ม เป็นต้น รวมถึงอุบัติภัยจากพลุ และดอกไม้ไฟ” ...เป็นการระบุของ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ซึ่งทาง ปภ. โดยอธิบดี อนุชา โมกขะเวส ก็ได้มีการเตือนภัยที่อาจจะเกิดขึ้น
          คำเตือนโดยสรุปคือ... การพาเด็กไปเที่ยวงานวันลอยกระทงควรพาไปตามสถานที่ที่ปลอดภัย เพื่อป้องกัน เด็กพลัดตกน้ำเสียชีวิต ซึ่งจากสถิติการจมน้ำเสียชีวิตของเด็กในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา พบว่า เทศกาลลอยกระทงเป็นช่วงที่เด็กเสี่ยงต่อการจมน้ำเสียชีวิตมากที่สุด ดังนั้น จึงต้องระมัดระวังกันให้ดี หลีกเลี่ยงการพาเด็กไปบริเวณริมน้ำหรือบนเรือโดยสารที่มีผู้คนเบียดเสียด เพราะเด็กอาจถูกเบียดจนตก น้ำได้ อย่าปล่อยเด็กให้ลอยกระทงเพียงลำพัง รวมถึงกำชับเด็กไม่ให้ลงไปในน้ำเพื่อเก็บเงินในกระทง แม้เด็กจะว่ายน้ำเป็น แต่ก็อาจเป็นตะคริวจมน้ำได้  กับผู้ใหญ่เองก็ต้องระวังเช่นเดียวกับเด็ก ควรเลือกสถานที่ลอยกระทงที่ปลอดภัย มีเจ้าหน้าที่-มีมาตรการดูแลความปลอดภัย ตลิ่งไม่สูงชันเกินไป ไม่ก้มลงหย่อนกระทงต่ำเกินไปเพื่อป้องกันการเสียหลักพลัดตกน้ำ หากมีคนยืนอยู่บริเวณท่าน้ำเป็นจำนวนมากแล้ว ก็ไม่ควรลงไปยืนเพิ่ม เพราะอาจถูกเบียดจนตกน้ำ   หากว่ายน้ำไม่เป็นไม่ควรนั่งเรือออกไปลอยกระทงกลางลำน้ำ และถึงว่ายน้ำเป็นก็ต้องระวังการขึ้น-ลงเรือ รวมถึงหลีกเลี่ยงการยืน บนโป๊ะที่มีคนมากๆเพราะหากโป๊ะรับน้ำหนักไม่ไหวอาจพลิกคว่ำได้
          ภัยจากพลุ-ดอกไม้ไฟ ก็เป็นอีกภัยช่วงลอยกระทงที่ทาง ปภ.มีการเตือน โดยผู้ปกครองไม่ควรปล่อยให้เด็กเล่นดอกไม้ไฟตามลำพังเพราะอาจเกิดอันตรายได้ ห้ามจุดดอกไม้ไฟใส่ฝูงชนหรือโยนใส่กัน หลีกเลี่ยงการจุดพลุใกล้สายไฟ สถานีบริการน้ำมัน ถังเชื้อเพลิงหรือวัตถุไวไฟต่าง ๆ เพราะอาจเกิดการระเบิด-เกิดอัคคีภัยที่รุนแรง และแม้แต่การดูพลุ-ดอกไม้ไฟที่ทางสถานที่จัดงานลอยกระทงจัดแสดง ก็ต้องไม่ประมาท อย่ายื่นหน้าหรือเข้าไปใกล้ดอกไม้ไฟที่จุดแล้ว รวมถึงควรดูอยู่ในจุดที่อยู่ห่างจากบริเวณที่จุดพลุ-ดอกไม้ไฟประมาณ 10 เมตรขึ้นไป
          สำหรับบางพื้นที่ที่มีการปล่อยโคมลอยจุดไฟขึ้นฟ้าในช่วงลอยกระทง ก็ต้องหลีกเลี่ยงการปล่อยโคมลอยบริเวณชุมชนหรือบริเวณที่มีบ้านพักอาศัยหนาแน่น เพราะ โคมอาจตกใส่จนทำให้เกิดเพลิงไหม้ และถ้าอยู่ใกล้ที่ตั้งของสนามบิน ห้ามปล่อยโคมลอยอันจะก่อให้เกิดอันตรายต่อเครื่องบิน ซึ่งกรณีนี้ในพื้นที่ที่จะมีการปล่อยโคมจำนวนมาก ก็จะต้องมีการแจ้งประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องล่วงหน้าก่อน เพื่อป้องกันอุบัติภัยที่อาจเกิดขึ้น
          นอกจากนี้ ปภ.ยังเตือนผู้ที่มีบ้านเรือนอยู่ริมน้ำและผู้ที่ลอย กระทงบริเวณที่มีบ้านเรือนริมน้ำด้วยว่า ต้องระวังกระทงที่มีการจุด ธูปเทียนลอยติดบ้านเรือนที่อยู่ริมน้ำจนเกิดเพลิงไหม้ ซึ่งภัยนี้ก็ควรต้องกลัว
          ทางด้าน สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) โดย นิโรธ เจริญประกอบ เลขาธิการ ก็มีการออกคำเตือนเกี่ยวกับภัยที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงลอยกระทงเช่นกัน ซึ่งส่วนหนึ่งก็คล้าย ๆ กับที่ได้ว่ามาแล้วข้างต้น และนอกจากนี้ยังเตือนถึง ภัยจากลูกโป่งสวรรค์ ซึ่งก็อาจสร้างความสูญเสียในช่วงลอยกระทงได้เช่นกัน การจัดงานลอยกระทงตามสถานที่ต่าง ๆ ก็มักจะมีการใช้ลูกโป่งสวรรค์ตกแต่งสถานที่-เวที รวมถึงอาจมีการจำหน่าย-จ่ายแจกให้เด็ก ๆ ซึ่งในจุดนี้ก็ควรต้องระมัดระวังให้ดี เพราะลูกโป่งสวรรค์ที่ลอยได้นั้นส่วนใหญ่บรรจุไว้ด้วยก๊าซไฮโดรเจนที่มีคุณสมบัติติดไฟง่าย หากต้องการใช้ลูกโป่งสวรรค์ในงานลอยกระทง ควรใช้ลูกโป่งสวรรค์ที่บรรจุก๊าซฮีเลียม ซึ่งเป็นก๊าซเฉื่อยไม่ติดไฟ จะมีความปลอดภัยกว่า “ก๊าซไฮโดรเจนติดไฟง่าย หากลูกโป่งสวรรค์กระทบกับความร้อนหรือประกายไฟจะทำให้ลูกโป่งระเบิด และเกิดไฟลุกไหม้เป็นอันตรายรุนแรงได้ ดังที่เคยปรากฏเป็นข่าวมาแล้ว” ...ทาง สคบ.  เตือน  ทั้งนี้ นอกเหนือจากคำเตือนต่าง ๆ ข้างต้นแล้ว ภัยที่เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มมึนเมา ภัยเมาแล้วขับ ภัยจากการซิ่งรถ ภัยทางเพศ ภัยลักวิ่งชิงปล้น เหล่านี้ก็อาจจะเกิดขึ้นได้ในช่วงลอยกระทง ซึ่งแนวทางที่จะช่วยให้พ้นจากภัยต่าง ๆ ในช่วงลอยกระทง และรวมถึงในช่วงเวลาทั่ว ๆ ไปด้วย ที่สำคัญก็คือ “ต้องไม่ประมาท” นั่นเอง
 “ลอยกระทง” ในแต่ละปีมักมีเรื่องร้าย ๆ ด้วยเป็นประจำ
หลาย ๆ เรื่องร้ายนั้นเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกิด...แต่ก็เกิดขึ้น
ลอยทุกข์-ลอยโศกปีนี้...ขออย่าได้มีโศกนาฏกรรม ?!?!?.
 
          กรมควบคุมโรค เตือนประชาชน ระวังอุบัติเหตุจากการ “จมน้ำ” อุบัติเหตุจากการจุดประทัด ดอกไม้ไฟ พลุ ในวันลอยกระทง
เมื่อวันที่ 8 พ.ย.62 นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ทุกปีจะพบผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำในคืนวันลอยกระทง จากข้อมูลของกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เฉพาะช่วงลอยกระทง 3 วัน (ก่อนวันลอยกระทง วันลอยกระทง และหลังวันลอยกระทง) ในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2557-2561 พบผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำรวม 166 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 29 คน โดยปี 2561 พบผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำ 26 คนในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 5 คน จึงมีแนวทางป้องกันการจมน้ำให้ยึดหลัก 3 อย่า คือ
1.อย่าใกล้: อย่ายืนใกล้ขอบบ่อ
2.อย่าเก็บ: อย่าลงน้ำไปเก็บเงินในกระทง
3. อย่าก้ม: อย่าก้มไปลอยกระทง
โดยผู้ปกครองควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดไม่ให้คลาดสายตา และเพิ่มความระมัดระวังเมื่อนำเด็กเข้าใกล้แหล่งน้ำ
ส่วนอุบัติเหตุจากการจุดประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุ ทำให้ได้รับบาดเจ็บตามอวัยวะต่างๆของร่างกาย มีคำแนะนำเพื่อความปลอดภัย ดังนี้
- ไม่จุดประทัด พลุ ดอกไม้ไฟ ใกล้วัตถุไวไฟหรืออาคารบ้านเรือน ไม่เล่นผาดโผน อาจเสี่ยงเกิดการระเบิดได้
- ผู้ปกครองไม่ควรให้เด็กนำประทัด ดอกไม้ไฟมาจุด
- หากจำเป็นต้องใช้ในงานพิธี ควรอ่านคำแนะนำก่อน และควรจุดให้ห่างจากตัวประมาณ 1 ช่วงแขน
- ห้ามพยายามจุดประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุที่จุดแล้วไม่ติดอย่างเด็ดขาด
- ไม่เก็บประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุไว้ในกระเป๋าเสื้อ กางเกง หรือที่มีอากาศร้อน แดดส่องถึง เพราะอาจเกิดการเสียดสีและระเบิดได้
- ควรเตรียมภาชนะบรรจุน้ำไว้ใกล้ๆ ไว้ใช้กรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน
- ห้ามประกอบหรือดัดแปลงประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุไว้จุดเองเด็ดขาด
- ให้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 อย่างเคร่งครัด
- หากเกิดอุบัติเหตุ การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อนิ้วหรืออวัยวะใดอวัยวะหนึ่งขาดจากแรงระเบิด ให้รีบห้ามเลือดบริเวณที่อวัยวะขาด - โดยใช้ผ้าสะอาดปิดบาดแผล และพันบาดแผลให้แน่นเพื่อป้องกันเลือดออก ไม่ควรใช้เชือกหรือสายรัดเหนือแผลเพราะจะทำให้เส้นประสาทหรือหลอดเลือดเสียหายได้
 
ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/853840
https://news.thaipbs.or.th/content/267368
https://www.thaihealth.or.th/Content/22433-%E0%B8%84%E0%B8%B3%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B9%87%E0%B8%8D%20'%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%97%E0%B8%87'%20.html