ความหวังของคนไทย ก้าวผ่านวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด

วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2564
image
ฉีดวัคซีน “โควิด-19” 2 เข็มคนละตัว อันตรายหรือได้ประโยชน์?

 ตามข่าวเรื่องวัคซีนโควิด-19 กันมาสักระยะจนเริ่มทราบข้อดีข้อเสียของวัคซีนแต่ละตัวกันไปบ้างแล้ว แต่มีอีกหนึ่งข้อสงสัยที่หลายคนอยากทราบ หากฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้ว อยากจะเปลี่ยนวัคซีนเข็มที่สองเป็นอีกตัวหนึ่ง จะสามารถทำได้หรือไม่ แต่ส่งผลอย่างไรต่อร่างกายบ้าง
ฉีดวัคซีน โควิด-19” 2 เข็มคนละตัว ได้หรือไม่?
ข้อมูลจากแพทย์ศิริราช จุฬาลงกรณ์ และรามคำแหง รวมถึงข้อมูลจากโรงพยาบาลนครธน ระบุตรงกันว่า ทางทฤษฎีสามารถทำได้ แต่สำหรับในประเทศไทยยังไม่แนะนำ เพราะปัจจุบันยังมีข้อมูลความปลอดภัย รวมถึงประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อไวรัสสำหรับการฉีดวัคซีนสองตัวที่ต่างกันมากเพียงพอ นอกจากนี้สำหรับในประเทศไทย เมื่อเริ่มฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้ว จะทำการจองเข็มที่ 2 โดยอัตโนมัติ การขอเปลี่ยนเป็นวัคซีนอีกตัวหนึ่ง อาจทำให้การดำเนินการช้าลงได้
อย่างไรก็ตาม หากในบางรายที่แพทย์ลงความเห็นว่ามีความจำเป็นควรฉีดวัคซีนคนละตัว ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน
ทางด้านของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อของสหรัฐ (CDC) อัปเดตข้อมูลล่าสุด (13 พ.ค.) ยังแนะนำว่า วัคซีนที่ดีที่สุด คือวัคซีนที่สามารถฉีดได้เลยตอนนี้โดยไม่ต้องรอ ไม่ว่าจะเป็นแบบใดยี่ห้อใด เพราะวัคซีนที่มีอยู่ตอนนี้ได้รับการรับรองแล้วว่าปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และช่วยลดความรุนแรงของโรคหากติดเชื้อได้จริง
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากเฟซบุ๊กเพจ Virology and Cell Technology Lab - BIOTEC ระบุว่า หลักการใช้วัคซีนต่างชนิดกันไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงการพัฒนาวัคซีน เราเรียกหลักการนี้ว่า Heterologous prime-boost โดยทางประเทศจีนได้มีการทดลองกับวัคซีน 4 รูปแบบที่มีการวิจัยและพัฒนาในประเทศจีน คือ BBIBPCorV ซึ่งเป็นเชื้อตายของ Sinopharm, Ad5-nCoV ซึ่งเป็นอะดีโนไวรัสของ Cansino, ZF2001 ซึ่งเป็น recombinant RBD spike ของ Anhui Zhifei และ ARcoVax ซึ่งเป็น mRNA น้องใหม่มาแรงของ รัฐบาลจีนร่วมกับ Walvax Biotech โดยทำการฉีดวัคซีนแต่ละชนิดแบบสลับกันในหนูทดลอง แล้ว ศึกษาการกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อไวรัสโรค COVID-19 ทั้งในรูปแบบของแอนติบอดีล้างฤทธิ์ (Nab) และ การตอบสนองแบบพึ่งเซลล์ (T cell response) เปรียบเทียบกับใช้วัคซีนชนิดเดียวกัน 2 เข็ม ผลปรากฏว่า ถ้าเปรียบเทียบกันระหว่าง Sinopharm, Cansino และ Anhui แบบ 2 เข็ม ตัวที่ได้ค่า Nab สูงสุดคือ Anhui ขณะที่ อีกสองชนิดได้ผลใกล้เคียงกัน แต่ถ้ามีการใช้ร่วมกันระหว่าง Sinopharm กับ Cansino ไม่ว่าจะฉีดตัวไหนก่อนหลัง ค่า Nab สามารถกระตุ้นได้สูงขึ้นจากเดิมไปอีก 10 เท่า พอๆ กันกับที่ได้จาก Anhui 2 เข็ม
แต่การจับคู่วัคซีนต่างชนิด รวมถึงลำดับในการฉีดว่าชนิดใดควรฉีดเป็นเข็มแรก ชนิดใดควรฉีดเป็นเข็มที 2 ก็สำคัญเช่นกัน โดยจากการทดลองเดิมพบว่า ตัว Anhui ที่กระตุ้น Nab ดีอยู่แล้ว เวลาไปใช้ร่วมกับวัคซีนตัวอื่น ภูมิก็ยังได้สูงพอๆ กับที่ใช้แบบเดียวกัน 2 เข็ม ไม่ได้เห็น ผลชัดเหมือนรูปแบบอื่น รวมไปถึง การใช้ Sinopharm แล้วไปกระตุ้นด้วย Auhui ซึ่งเป็น protein-based เหมือนกัน การกระตุ้นไม่ดีขึ้น เมื่อเทียบกับการกระตุ้นด้วยไวรัสของ Cansino แสดงว่า ความแตกต่างของระบบวัคซีนเหมือนมีผลเช่นเดียวกัน ในส่วนของ ArcoVax ซึ่งเป็น mRNA ก็น่าสนใจเช่นเดียวกัน คือ เมื่อเทียบกับการได้รับ mRNA 2 เข็มแล้ว การได้รับวัคซีน Cansino ซึ่งเป็น viral vector เข็มแรก และ กระตุ้นด้วย mRNA ได้ Nab ที่สูงขึ้นไปอีก แต่ถ้าสลับกันจะไม่เห็นผลดังกล่าว
กล่าวโดยสรุปคือ การใช้วัคซีนร่วมกันในหลายรูปแบบสามารถนำมาใช้ได้ และ ดูเหมือนจะให้ประโยชน์ในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าใช้แบบเดียวกัน 2 เข็มด้วย แต่งานวิจัยนี้ใช้หนูทดลอง ซึ่งยังไม่มีข้อมูลในมนุษย์เพื่อเปรียบเทียบกัน ซึ่งข้อมูลจากมนุษย์ หรือ ในลิง จะเป็นประโยชน์มากๆ ในอนาคตสำหรับการใช้วัคซีนให้อยู่ในรูปแบบที่ได้ประโยชน์สูงสุด
ในต่างประเทศเริ่มมีการฉีดวัคซีนต่างชนิดกับประชาชนในประเทศแล้ว
จริงๆ แล้วในทางทฤษฎี การฉีดวัคซีนที่ใช้ปริมาณ 2 เข็ม หรือ 2 โดส (หรือวัคซีนใดๆ ก็ตามที่ต้องฉีดมากกว่า 1 เข็ม) สามารถใช้วัคซีนคนละตัวเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันโรคหรือเพิ่มภูมิต้านทานโรคได้ โดยในหลายๆ ประเทศเริ่มมีการทดลองให้ประชาชนอาสาสมัครฉีดวัคซีนต่างกัน เช่น
ในขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างเก็บข้อมูลเพราะเริ่มทำการฉีดวัคซีนแบบผสมสองชนิดไปไม่นาน แต่ทางด้านของสเปนที่เข็มแรกเป็นแอสตร้าฯ เข็มที่ 2 เป็นไฟเซอร์ รายงานข้อมูลว่ามีความปลอดภัยและประสิทธิภาพสูง ในขณะที่อังกฤษ การฉีดเข็มแรกและเข็มที่ 2 ต่างชนิดกัน คือแอสตร้าฯ ผสมไฟเซอร์ ไม่ว่าจะฉีดตัวไหนก่อนก็ตาม พบว่ามีผลข้างเคียงเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากคนที่ฉีดวัคซีนชนิดเดียวกัน 2 เข็ม โดยผลข้างเคียงที่พบเป็นอาการเพียงเล็กน้อยที่สามารถหายได้เองในเวลาสั้นๆ เช่น มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีรายงานอันตรายต่อสุขภาพใดๆ มากไปกว่าผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากการฉีดวัคซีนแบบผสมทั้งสองแบบ
สรุป การฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มแรกและเข็มที่ 2 ต่างชนิด ต่างยี่ห้อกัน ในทางทฤษฎีสามารถทำได้ โดยอาจจะสามารถเพิ่มภูมิคุ้มกันโรคได้มากขึ้น แต่ปัจจุบันยังอยู่ในช่วงของการทดลอง และยังต้องติดตามข้อมูล รวมถึงความปลอดภัย และประสิทธิภาพของวัคซีนแต่ละตัวว่าได้ผลน้อยมากแตกต่างกันจากการฉีดวัคซีนแบบเดียวกัน 2 เข็มอย่างไรบ้าง รวมไปถึงการเลือกชนิดของวัคซีนในการฉีด และลำดับเข็มในการฉีดว่าจะต้องฉีดวัคซีนตัวไหนก่อนหลังถึงจะดีกว่ากันอีกด้วย ดังนั้นจากสถานการณ์ปัจจุบันในประเทศไทยจึงยังแนะนำให้ฉีดวัคซีนชนิดเดียวกันทั้ง 2 เข็มไปก่อน เพื่อความรวดเร็วและสะดวกในการบันทึกประวัติในการฉีดวัคซีน และเพื่อรอยืนยันผลการทดลองต่อไป


ประกันแพ้วัคซีนโควิด-19 แจกฟรี 11.5 ล้านสิทธิ

สมาคมประกันวินาศภัยไทยแจกประกันแพ้วัคซีนโควิด-19 ฟรี 11.5 ล้านสิทธิ ในโครงการ ฉีดช่วยชาติ หมอพร้อมฉีด ประกันวินาศภัยพร้อมดูแล
นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศที่ได้ทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และหนทางหนึ่งที่จะช่วยกันหยุดการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพคือการฉีดวัคซีนในหมู่ประชาชนให้ได้มากที่สุดเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ในกลุ่มประชากร เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยหนักและการเสียชีวิตลง ซึ่งจะเป็นการบริหารและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยั่งยืนในระยะยาว

สมาคมประกันวินาศภัยไทย ในฐานะตัวแทนของภาคธุรกิจประกันวินาศภัยไทยที่ส่งเสริมการนำระบบประกันภัยเข้ามาช่วยในการบริหารความเสี่ยงให้กับประชาชนและประเทศชาติ มีความห่วงใยต่อวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสไวรัส-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม จึงได้ประชุมหารือร่วมกับบริษัทสมาชิกจัดโครงการ "ฉีดช่วยชาติ หมอพร้อมฉีด ประกันวินาศภัยพร้อมดูแล" ขึ้น เพื่อมอบกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองการแพ้วัคซีนให้กับประชาชนทั่วไปฟรี จำนวน 13 ล้านสิทธิ์ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจและกระตุ้นให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 กันมากขึ้น



“สมาคมประกันวินาศภัยไทยมีความเชื่อมั่นว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของไทยล้วนเป็นวัคซีนที่ได้รับการทดสอบในวงกว้างแล้วว่ามีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัย และเพื่อเป็นการเพิ่มความมั่นใจให้กับประชาชนมากยิ่งขึ้น จึงได้จัดโครงการมอบกรมธรรม์ประกันภัยแพ้วัคซีนให้กับประชาชนฟรี ซึ่งถือเป็นความร่วมมือของบริษัทประกันวินาศภัยที่มีเจตนารมณ์ในการเข้ามาช่วยบริหารความเสี่ยงและเสริมสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในการเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพื่อร่วมกันช่วยชาติให้ฝ่าวิกฤติ โควิด-19 ในครั้งนี้ไปด้วยกัน”

สำหรับบริษัทประกันวินาศภัยที่เข้าร่วมโครงการฯ โดยการมอบประกันภัยแพ้วัคซีนฟรีให้กับประชาชน รวมทั้งสิ้น 13 ล้านสิทธิ์ ได้แก่
  1. บมจ.กรุงเทพประกันภัย จำนวน 2,000,000 สิทธิ์
  2. บมจ.ทิพยประกันภัย จำนวน 2,000,000 สิทธิ์
  3. บมจ.เมืองไทยประกันภัย จำนวน 2,000,000 สิทธิ์
  4. บมจ.วิริยะประกันภัย จำนวน 2,000,000 สิทธิ์
  5. บมจ.สินทรัพย์ประกันภัย จำนวน 1,000,000 สิทธิ์
  6. บมจ.สินมั่นคงประกันภัย จำนวน 1,000,000 สิทธิ์
  7. บมจ.อาคเนย์ประกันภัย จำนวน 1,000,000 สิทธิ์
  8. บมจ.เอเชียประกันภัย 1950 จำนวน 1,000,000 สิทธิ์
  9. บมจ.ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำนวน 500,000 สิทธิ์
  10. บมจ.ฟอลคอนประกันภัย จำนวน 500,000 สิทธิ์
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถเลือกลงทะเบียนรับสิทธิ์ฟรี ผ่านช่องทางเว็บไซต์ของบริษัทประกันวินาศภัยที่เข้าร่วมโครงการฯ โดยกำหนดการเริ่มลงทะเบียนรับสิทธิ์ รวมถึงระยะเวลาและเงื่อนไขความคุ้มครองเป็นไปตามที่แต่ละบริษัทกำหนด สมาคมประกันวินาศภัยไทย และภาคธุรกิจประกันวินาศภัย มีความเชื่อมั่นว่าการมอบกรมธรรม์ประกันภัยแพ้วัคซีน จำนวน 13 ล้านสิทธิ์ในครั้งนี้จะกระจายไปสู่ประชาชนในทุกภาคส่วนของสังคมและสร้างความมั่นใจในการเข้ารับการฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด และขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลคนไทยให้ฉีดวัคซีนได้อย่างมั่นใจเพื่อร่วมกันหยุดเชื้อเพื่อชาติ ให้เราสามารถผ่านวิกฤติไวรัสร้าย COVID-19 นี้ไปได้ด้วยกันในที่สุด นายอานนท์ กล่าวทิ้งท้าย

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก
https://www.sanook.com/money/833984/
 https://www.sanook.com/health/28645/