ภาวะความเสี่ยงของหญิงมีครรภ์ – คุณแม่ให้นมบุตรกับการฉีดวัคซีนโควิด

วันอังคารที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2564
image
ภาวะความเสี่ยงของหญิงมีครรภ์ – คุณแม่ให้นมบุตรกับการฉีดวัคซีนโควิด
ในขณะที่หลายคนกำลังรอคอยความหวังที่จะได้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 กันอย่างใจจดใจจ่อ ในส่วนของหญิงมีครรภ์ และคุณแม่ที่กำลังให้นมบุตรอยู่ ควรได้รับการฉีดวัคซีนในตอนนี้หรือไม่นายแพทย์ธนีย์ ธนียวัน (หมอแทน) ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอด และเป็นอาจารย์แพทย์อยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า แม้สถานการณ์ปัจจุบันจะมีวัคซีนป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 แล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีข้อกังวลในหมู่สตรีมีครรภ์และสตรีที่กำลังให้นมบุตรว่าควรจะฉีดวัคซีนหรือไม่
หญิงมีครรภ์ คุณแม่ให้นมบุตร เป็นกลุ่มเสี่ยงโควิด-19 หรือไม่?
          ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับว่าหากหญิงตั้งครรภ์เกิดการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะมีความเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงกว่าหญิงที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ และ มีโอกาสที่จะคลอดทารกก่อนกำหนดในอัตราที่สูงขึ้น ด้วยเหตุผลดังกล่าว 3 สมาคมด้านสาธารณสุขของสหรัฐอเมริกา อันประกอบด้วย ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติ CDC (Centers for Disease Control and Prevention), สมาคมเวชศาสตร์มารดาและทารก (The Society for Maternal-Fetal Medicine), และสมาคมสูตินารีแพทย์แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (American College of Obstetricians and Gynecologists) จึงเห็นชอบร่วมกันว่า แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไวรัสโควิด-19 ให้กับสตรีมีครรภ์ และสตรีที่ให้นมบุตร นอกจากนี้ ประเทศสหรัฐอเมริกาได้มีการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ให้กับสตรีมีครรภ์และสตรีที่กำลังให้นมบุตรไปแล้วจำนวนมาก แต่ไม่มีรายงานว่ามีผลข้างเคียงที่รุนแรงแต่อย่างไร การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จึงให้ประโยชน์มากกว่าการไม่ฉีดวัคซีน
ขณะที่เริ่มมีการใช้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่รอคอยมายาวนาน เป็นที่ชัดเจนว่า ไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้รับวัคซีนนี้ อย่างเช่นกลุ่มสตรีมีครรภ์และผู้หญิงที่ให้นมลูก การจะได้รับวัคซีนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าพวกเธออาศัยอยู่ที่ใด
การทดลองทางการแพทย์สำหรับวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์-ไบออนเทค (Pfizer-BioNTech) ไม่ได้มีการทดลองในผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์หรือผู้หญิงที่ให้นมลูก ทางบริษัทเคยระบุว่า ข้อมูลเท่าที่มีอยู่ "ยังไม่เพียงพอ" ในการระบุความเสี่ยงของการรับวัคซีนที่มีต่อการตั้งครรภ์ ในสหราชอาณาจักร ข้อมูลที่ไม่เพียงพอนี้ได้ทำให้หน่วยงานกำกับดูแลไม่อนุญาตให้ผู้หญิงตั้งครรภ์และผู้หญิงที่ให้นมลูกเข้าโครงการรับวัคซีน ส่วนในสหรัฐฯ ทางการได้ปล่อยให้ผู้หญิงเหล่านั้นตัดสินใจด้วยตัวเองนี่คือเหตุผลว่า ทำไมสองประเทศจึงมีแนวทางที่แตกต่างกัน และแต่ละแนวทางนี้จะส่งผลต่อหญิงมีครรภ์อย่างไร

จนถึงขณะนี้ ข้อมูลยังบอกอะไรได้ไม่มากนัก ดร.รูธ ฟาเดน นักชีวจริยธรรมที่มหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ (Johns Hopkins University) ซึ่งเชี่ยวชาญในด้านสิทธิและสุขภาพของสตรีมีครรภ์ กล่าวว่า "ไม่มีข้อมูล ไม่มีระยะเวลา" เธอบอกว่า ไม่มีข้อบ่งชี้ว่าวัคซีนมีความเสี่ยงต่อสตรีมีครรภ์และผู้หญิงที่ให้นมลูกโดยเฉพาะ แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลที่เพียงพอที่จะยืนยันได้

ไฟเซอร์ระบุว่า ได้ทำตามคำแนะนำของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐฯ (US Food and Drug Administration) ในการไม่ให้ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์และที่กำลังให้นมลูกเข้าร่วมการทดลองวัคซีน ผู้หญิงเหล่านี้จะได้เข้าร่วมการทดลองก็ต่อเมื่อทางบริษัทได้ทำการศึกษาที่เรียกว่า ดาร์ต (Dart ย่อมาจาก developmental and reproductive toxicity ซึ่งแปลว่า ความเป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์และพัฒนาการของร่างกาย) แล้วเสร็จ และมักจะมีการทำการศึกษานี้ในสัตว์
การตัดสินใจไม่ให้ผู้หญิงตั้งครรภ์เข้าร่วมการทดลองมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นในช่วงของการระบาดใหญ่ "เราอยู่ในภาวะที่ตัดสินใจลำบาก" ดร.เอมิลี สตินเน็ตต์ มิลเลอร์ สูตินรีแพทย์ที่มหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น (Northwestern University) สมาชิกในคณะทำงานโควิด-19 ของสมาคมเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ (Society for Maternal and Fetal Medicine) กล่าว "ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องตัดสินใจในเรื่องสำคัญอย่างนี้อย่างรวดเร็ว และการตัดสินใจว่าจะให้ใครได้รับหรือไม่ได้รับวัคซีนก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย"
การขาดข้อมูล คือข้อเสียที่สำคัญที่เห็นได้ชัดในปัจจุบัน "เราไม่มีข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจทำการทดลองทางการแพทย์ที่จำเป็น" ดร.มิลเลอร์กล่าว

ทำไมสหราชอาณาจักรและสหรัฐฯ จึงตัดสินใจแตกต่างกัน

สหราชอาณาจักรและสหรัฐฯ ต่างก็เผชิญกับปัญหาขาดแคลนข้อมูลประกอบการตัดสินใจเหมือนกัน แต่กลับมีการรับมือที่แตกต่างกันในทางนโยบาย
ดร.ฟาเดนบอกว่า เมื่อไม่มีข้อมูลที่ตอบคำถามได้อย่างเฉพาะเจาะจง ก็ไม่สามารถตั้งคำถามต่อไปได้
สหราชอาณาจักรเลือกใช้วิธีที่รอบคอบมากกว่า กระทรวงสาธารณสุขอังกฤษระบุบนเว็บไซต์ว่า แม้ขณะนี้จะยังไม่มีหลักฐานว่าวัคซีนจะเป็นอันตรายต่อการตั้งครรภ์ แต่กระทรวงยังต้องการข้อมูลเพิ่มเติมก่อนที่จะไฟเขียวให้ผู้หญิงตั้งครรภ์รับวัคซีน
ดร.เอ็ดเวิร์ด มอร์ริส ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ (Royal College of Obstetricians and Gynaecologists--RCOG) ระบุในแถลงการณ์ว่า "ขณะที่ยังไม่เคยมีการทดลองทางการแพทย์เกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ในผู้หญิงมีครรภ์โดยเฉพาะ ก็ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะแนะนำให้มีการใช้วัคซีนโควิด-19 ในผู้หญิงมีครรภ์หรือผู้หญิงที่ให้นมลูก"


ปกติแล้ว จะไม่มีการให้ผู้หญิงตั้งครรภ์เข้าร่วมการทดลองทางการแพทย์ขั้นต้นในการคิดค้นยาหรือวัคซีนชนิดใหม่ผู้เชี่ยวชาญในสหรัฐฯ เลือกใช้อีกแนวทางหนึ่ง นั่นคือ ให้ผู้หญิงที่กำลังตั้งท้องและผู้หญิงที่ให้นมลูกตัดสินใจเอง"บรรดาผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นตรงกันว่า ยังไม่พบหลักฐานทางวิทยาศาสตร์บ่งชี้ว่าความเป็นไปได้ที่จะเกิดอันตรายขึ้น" ดร.ฟาเดนกล่าว แต่เธอเตือนว่า "นั่นไม่ได้หมายความว่าไม่มี (อันตราย)"
หน่วยงานกำกับดูแลในสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรระบุว่า แม้จะมีการเร่งทดลองวัคซีนโควิด แต่ก็ไม่ได้ข้ามขั้นตอนใดเลย และวัคซีนจะได้รับการรับรองก็ต่อเมื่อใช้ได้ผลและมีความปลอดภัย

ผู้หญิงมีครรภ์ต้องรอถึงเมื่อไหร่

ในทั้งสองประเทศ ผู้หญิงมีครรภ์และผู้หญิงให้นมลูกจะต้องรอข้อมูลเพิ่มเติมก่อนที่จะมีคำแนะนำที่ชัดเจนขึ้นว่าควรจะรับวัคซีนหรือไม่ คาดว่าผลการศึกษาความเป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์และพัฒนาการของร่างกายของไฟเซอร์เบื้องต้นจะออกมาในช่วงปลายปีนี้ เมื่อการศึกษานี้เสร็จสมบูรณ์ ทางบริษัทอาจจะขยายการทดลองไปยังสตรีมีครรภ์ มีผู้หญิงบางส่วนที่ตั้งครรภ์ในระหว่างการเข้ารับการทดลอง ซึ่งจะมีการสังเกตการณ์พวกเธอตลอดช่วงการตั้งครรภ์ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ เรียกร้องให้รัฐบาลสหราชอาณาจักรให้เงินสนับสนุนการวิจัยเกี่ยวกับวัคซีน และความเหมาะสมของวัคซีนต่อผู้หญิงตั้งครรภ์และผู้หญิงให้นมลูก โดยจะมีการเก็บข้อมูลจากผู้หญิงตั้งครรภ์และผู้หญิงที่ให้นมลูกในสหรัฐฯ ที่เลือกรับวัคซีนในช่วงไม่กี่เดือนนี้ด้วย โดยจะเริ่มจากเจ้าหน้าที่ที่ทำงานด้านสาธารณสุขของสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ในกลุ่มคนกลุ่มแรกในสหรัฐฯ ที่มีสิทธิ์ได้รับวัคซีน โดยคาดว่ามีเจ้าหน้าที่ราว 330,000 คน ที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมลูกอยู่ในระหว่างนี้ ผู้หญิงตั้งครรภ์และผู้หญิงให้นมลูกบางส่วนอาจจะเลี่ยงการรับวัคซีน 

ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก
https://www.praram9.com/5-%E0%B8%84%E0%B8%B3%E0%B8%96%E0%B8%B2%E0%B8%A1-%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87-covid-19-%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A1%E0%B8%B5/
https://www.bbc.com/thai/international-55418486
https://www.bbc.com/thai/international-55186840