ครบรอบการระบาดของโควิด - 19

วันจันทร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2564
image
ครบรอบการระบาดของโควิด - 19

 
14 มกราคม 2563 ครบรอบปีระบาดของโควิด - 19 (บทความของ : ธีรเวทย์ ประมวญรัฐการ)
         ไทยเป็นชาติแรกนอกประเทศจีนที่ติดเชื้อ “ไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019” (และเป็นที่มาของชื่อ “โควิด-19” ต่อมา) เมื่อวันที่มกราคม 2563 หลังจีนที่พบรายแรกที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย และรายงานให้องค์การอนามัยทราบทันทีเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2562 จากนั้น วันที่ 5 มกราคม 2563 องค์การอนามัยโลกจึงแถลงเป็นทางการให้ทุกประเทศเฝ้าระวังอาการของผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ แต่รุนแรงเสียยิ่งปอดอักเสบหรือนิวโมเนีย และอาจเสียชีวิตได้เฉียบพลัน พร้อมทั้งแนะนำวิธีการป้องกันต่างๆ อย่างละเอียด
        จากเว็บไซต์ทางการของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าทำการคัดกรองผู้โดยสารเครื่องบินในเส้นทางที่บินตรงมาจากเมืองอู่ฮั่นทันที ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2563 ก่อนการแถลงขององค์การอนามัยโลกสองวันด้วยซ้ำ
ผู้เขียนพิเคราะห์ดูการคัดกรองของกรมควบคุมโรคระหว่างวันที่ 3 ถึง 13 มกราคม 2563 ไม่พบทั้งลูกเรือและผู้โดยสารคนใดที่เดินทางจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีนผ่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ และภูเก็ต ติดเชื้อ “ไวรัสอู่ฮั่น” (โควิด-19) มีแต่ Influenza A, B, C, Haemophilus influenzae และ Coronavirus OC43 (สายพันธุ์เก่า) จนกระทั่งวันที่ 14 มกราคม 2563 จึงพบ “Novel coronavirus 2019” (โควิด-19) ในผู้ป่วย 1 ราย: “ตั้งแต่วันที่ 3-14 มกราคม 2563 ผู้โดยสารเครื่องบินในเส้นทางที่บินตรงมาจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่และท่าอากาศยานภูเก็ต จำนวน 70 เที่ยวบิน ผู้เดินทางและลูกเรือได้รับการคัดกรอง ทั้งสิ้น 11,163 ราย พบผู้ป่วยที่มีอาการเข้าได้ตามนิยาม 15 ราย นอกจากนี้มีผู้ป่วยที่มีอาการเข้าตามนิยามไปรับการตรวจรักษา ที่โรงพยาบาลรัฐ 2 ราย (ภูเก็ตและเชียงใหม่) และสถาบันบำราศนราดูร 4 ราย รวม 6 ราย ไม่พบผู้ป่วยอาการ รุนแรง ผู้ป่วยอาการดีขึ้นและได้กลับบ้านแล้วจำนวน 9 ราย ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบเชื้อ Novel coronavirus 2019 ในผู้ป่วย 1 ราย” (https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/file/situation/situation-no11-140163.pdf)
         กระทรวงการท่องเที่ยวฯขณะนั้น ยังคงเปิดเว็บไซต์เชิญชวนคนทั่วโลกให้มาเที่ยวเมืองไทย สอดคล้องกับสถิติของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่เผยยอดนักท่องเที่ยวจากจีนระหว่าง 1 มกราคม 2563 ถึง 6 กุมภาพันธ์ 2563 ว่ามี “1.1 แสนคน…เฉพาะที่มาจากอู่ฮั่น 2,038 คน และจากกว่างโจว 2,256 คน” (7 กุมภาพันธ์ 2563 ย้อนหลังไปhttps://www.js100.com/en/site/news/view/82713) น่าจะสูงที่สุดในโลก ในขณะที่หลายประเทศ “ล็อกดาวน์ข้ามชาติ”
เข้าใจได้ เพราะก่อนที่นายสีจิ้นผิงจะสั่งปิดสนามบินนานาชาติเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2563 ไม่กี่วัน กว่า 5 หมื่นคนของนักท่องเที่ยวจีน ล็อตสุดท้าย “หลุด” มา ในจำนวนนั้นกว่าครึ่งเข้าไทย อีกราว 2.5 หมื่นคน กระจายตามประเทศย่านอาเซียน โดยสิงคโปร์รับกว่าพันคน นอกนั้นเพียงหลักสิบถึงหลักร้อยเท่านั้น
          ไทยซึ่งพึ่งพาเศรษฐกิจที่ทำรายได้เกือบ 20% ของจีดีพี (สูงสุดในอาเซียน) และคาดว่าปี 2563 จะมีนักท่องเที่ยวมาเยือนไทย 40-42 ล้านคนอาจมีส่วนให้ผู้นำรัฐบาลในปลายเดือนมกราคม 2563 สับสน ยืนยันจากท่าทีของรองนายกฯ และกำกับกระทรวงสาธารณสุขคือนายอนุทินที่พูดว่า “ไวรัสตัวใหม่ (Coronavirus 2019) เป็นไข้หวัดธรรมดา” (https://www.youtube.com/watch?v=_onf32i-Rm4) นึกถึงผู้ใหญ่ลีปี 2504 ที่พูดว่า “สุกรคือหมาน้อยธรรมดา!
นายดอน รองนายกฯอีกท่านในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ บอกว่า “คนไทย 64 คนที่เมืองอู่ฮั่นสบายดี” (https://www.thairath.co.th/news/politic/1757345) กรณีของ “ดอน” สวนทางกับคลิปวิดีโอจากคนไทยในเมืองอู่ฮั่นที่ครวญว่า “กว่ารัฐบาลจะส่งเครื่องบินมารับ อาจได้กระดูกกลับไป” เพราะอู่ฮั่นขณะนั้นร้านรวงพากันปิดเกือบทั้งเมืองจนใกล้ร้างแล้ว สื่อต่างประเทศช่วงนั้นรายงานว่ามีการอพยพของชาวเมืองอู่ฮั่นกว่า 5 ล้านคน (จาก 11 ล้านคน) ไปตายดาบหน้าที่เมืองและมณฑลใกล้เคียงกว่ารัฐบาลไทยจะเพิ่งส่งเครื่องบินไปรับคนไทยที่ติดค้างในอู่ฮั่นกลับก็หลังจากสิบกว่าประเทศได้คิวแรกๆ ขนคนของพวกเขาเสร็จในเดือนมกราคมนั้นแล้ว
          อย่างไรก็ดี ความมีวินัยเคร่งครัดของคนไทยที่สวมหน้ากาก รักษาระยะห่าง (social distancing) กินช้อนกลาง ล้างมือ พูดง่ายๆ การ์ดไม่ตก การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศถือว่าประปราย ยังไม่ทันสิ้นเดือนมกราคม 2563 อันดับติดเชื้อโควิด-19 เป็นที่ 2 รองของไทยจากจีนจึงถูกประเทศอื่นๆ ทยอยชิงไปครอง
          ไทยยังคงต้อนรับนักท่องเที่ยวจนถึงสิ้นไตรมาสแรกของปี 2563 ก่อนจำต้องปิดสนามบินนานาชาติ และล็อกดาวน์ตัวเองในปลายเดือนมีนาคม 2563 เหตุมาจากการจัดการแข่งขันชกมวยที่เวทีลุมพินีเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2563 โดยเจ้ากรมสวัสดิการทหารบกเป็น “โปรโมเตอร์” แม้ พลเอกอภิรัชต์ ผบ.ทบ. ขณะนั้นได้ปรามแล้ว (ถูกปลดจากเจ้ากรมพอเป็นพิธี ก่อนจะกลับมานั่งตำแหน่งเดิมเมื่อเดือนก่อนสิ้นปี 2563) การแพร่เชื้อโควิด-19 จากสนามมวยลุมพินีครั้งนั้น พบได้ทั้งใน กทม. และต่างจังหวัด เมื่อยอดติดเชื้อพุ่งถึงหลักร้อย (188 ราย) วันแรก ผู้ว่าฯกทม. ประกาศ “ล็อกดาวน์กรุงเทพฯ” วันที่ 18 มีนาคม 2563 โดยไม่แจ้งล่วงหน้า คิวรถสถานีหมอชิตและหัวลำโพงแน่นทันทีคนงานจากประเทศเพื่อนบ้านนับแสนแห่กันกลับบ้านเกิดกันแทบไม่ทัน กรุงเทพฯถนนโล่ง รัฐบาลตอบรับมาตรการล็อกดาวน์ด้วยการออกพระราชกฤษฎีกาตั้ง “ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19)” ในวันรุ่งขึ้น (19 มีนาคม 2563) พร้อมประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2548 ล็อกดาวน์ทั่วประเทศ ตามมาด้วยเคอร์ฟิว
ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังลามต่อเนื่องก่อนเริ่มนิ่งที่ยอดผู้ติดเชื้อสะสม 2,442 และยอดผู้เสียชีวิตสะสมที่ 56 ณ วันที่ 21 พฤษภาคม 2563 สถานการณ์ล็อกดาวน์เริ่มผ่อนคลายในอีกหลายเดือนต่อมา
แต่แล้ว ขณะที่เศรษฐกิจเริ่มขยับ กลับมีการระบาดระลอกใหม่เมื่อกระทรวงสาธารณสุขออกแถลงการณ์เมื่อคืนวันที่ 19 ธันวาคม 2563 ว่า พบผู้ติดเชื้อ 548 รายที่ตลาดกลางกุ้ง สมุทรสาคร แต่แม้ไม่พูดถึง “ล็อกดาวน์” ในทางปฏิบัติที่แบ่ง “พื้นที่ควบคุม” 2 โชนกว่าครึ่งประเทศด้วยมาตรการคุมเข้ม สถานการณ์ไม่ต่างจากระลอกแรก เพียงแต่ยังไม่มีเคอร์ฟิว จากนั้นยอดติดเชื้อสะสมขึ้นหลักร้อยต้นๆ ต่อเนื่องแทบทุกวัน จนทะลุ 10,053 คน และเสียชีวิตเพิ่มจาก 59 รายเป็น 67 ราย เมื่อวันสุดสัปดาห์เสาร์ที่ 9 มกราคม 2564 นี้เอง สาเหตุพบว่ามาจากมาตรการป้องกันการนำเข้าแรงงานเถื่อนนับหมื่นนับแสนจากประเทศเพื่อนบ้านถูกละเลยมาช้านานตั้งแต่ก่อนมีการระบาดของโควิด-19 ยังไม่นับการปล่อยให้คนไทยนับพันข้ามเขตประเทศไปทำมาหากินในบ่อนของประเทศที่ติดชายแดนไทย นอกจากนี้ยังมีบ่อนในหลายจังหวัด โดยเฉพาะระยอง จันทบุรี ตราด ชลบุรี รวมทั้งกรุงเทพฯย่านหลักสี่ ที่เป็นแหล่งแพร่เชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่อย่างดี
รัฐบาลการ์ดตกซ้ำซาก!
        หลัง 1 ปีผ่านไป คนไทยทั้งประเทศเริ่มกลัวโควิด-19 น้อยกว่ากลัวอดตายหลังผู้ใหญ่อยู่บ้านเฉยๆ เด็กๆ ไม่ต้องไปโรงเรียน พ่อค้าแม่ขายมีรายได้ลดลงแต่หนี้นอกระบบเพิ่ม SME พัง สถานที่ท่องเที่ยวตากอากาศ โรงแรม ร้านอาหาร ภัตตาคาร สถานบริการนวดแผนไทย โรงงาน มหาวิทยาลัย ฯลฯ ถูกปิดจากคำสั่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะประธาน “ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19)” น่าเสียดายที่สถานการณ์ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 เริ่มจะฟื้นตัวขึ้นบ้าง แต่กลับต้องมาเผชิญกับการระบาดระลอกใหม่ รัฐบาลเองขณะนี้ก็ไม่แน่ใจว่า “ล็อกดาวน์” หรือต่อให้เรียกว่าจำกัด “พื้นที่ควบคุม” (โซนนิ่ง) สามารถหยุดหรือยับยั้งการแพร่เชื้อโควิด-19 หรือเป็นตัวเร่งให้เศรษฐกิจกันแน่ เพราะต้องไม่ลืมกันว่าว่า ทุกครั้งที่รัฐบาลการ์ดตก ขาดวินัย การแพร่เชื้อของไวรัสตัวนี้ไม่เคยพลาดที่จะปรากฏให้เห็นตามมาอย่างคงเส้นคงวาเสมอ ในทางกลับกัน การสวมหน้ากากของผู้ชุมนุมอย่างเคร่งครัดของ “ม็อบ” ทั้งในช่วงธันวาคม 2562-มีนาคม 2563 และช่วง กรกฎาคม-ต้นธันวาคม 2563 กลับไม่พบการติดเชื้อโควิด-19 เลย ทั้งๆ ที่บางครั้ง “เบิ้มๆ” นับหมื่นนับแสน ระยะห่าง (social distancing) ก็ค่อนข้างต่ำ จึงไม่อาจกล่าวเป็นอย่างอื่นว่า สาเหตุการติดเชื้อโควิด-19 มาจากรัฐบาลที่การ์ดตกในทุกมิติและมาตรการต่างๆ ที่มาจาก ศบค. ส่งผลให้เศรษฐกิจพังยับ ประชาชนสุจริตหมดทางทำมาหากินกันถ้วนหน้าโดยปริยาย ยังไม่นับการใช้สถานการณ์ “โควิด-19” นี้มา “ล่อเป้า” เพื่อให้สภาความมั่นคงแห่งชาติชงเรื่องให้รัฐบาลประกาศการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อประโยชน์ทางการเมืองอย่างซ้ำซาก ผิดฝาผิดตัว และหาผู้รับผิดชอบไม่ได้ เมื่อเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจทั่วประเทศ ยังไม่นับผลกระทบทางสังคม อาทิ พฤติการณ์ ปล้น จี้ ฆ่าชิงทรัพย์ การฆ่าตัวตาย ฯลฯ ที่ตามมา จนน่าวิตกว่า ปี 2564 บ้านเมืองจะพ้นจากวิกฤต “ห่ากินเมือง” ที่ยืดเยื้อนี้ได้อย่างไร?
เด็กไทยยุคโควิด-19 (บทความของ : เฉลิมพล พลมุข)
เด็กหรือเยาวชนของคนทุกชาติศาสนาภาษาชนเผ่าในโลกของเรานี้ต้องเผชิญกับสภาพของปัญหาที่รุมเร้าทั้งจากสภาพของสุขภาพร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ภูมิคุ้มกันของชีวิตทั้งจากครอบครัว ชุมชน สังคม สภาพแวดล้อม เทคโนโลยี เศรษฐกิจ รวมไปถึงระบบการเมืองการปกครองของแต่ละประเทศที่ยากยิ่งจะหลีกเลี่ยงและปฏิเสธในบริบทดังกล่าวไปได้
องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) และกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือยูนิเซฟ (UNICEF) ได้มีงานวิจัยที่ได้เผยแพร่ในวารสารการแพทย์แลนเซ็ท (The Lancet) ในเรื่องอนาคตของเยาวชนโลกใน 180 ประเทศทั่วโลก ในประเด็นของภาวะสุขภาพความเป็นอยู่ที่ดี ภาวะโภชนาการ การศึกษา อัตราการเสียชีวิตรวมถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยในอันดับที่หนึ่งที่กล่าวถึง “ความรุ่งโรจน์ของเด็ก” ได้แก่ประเทศนอร์เวย์ รองลงมาก็คือ ประเทศเกาหลีใต้ เนเธอร์แลนด์ ส่วนเมืองไทยเราถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 64 (BBC.COM)
“ดัชนีแห่งความยั่งยืน” โดยพิจารณาและวัดถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกินเป้าหมายก๊าซเรือนกระจกที่ถูกกำหนดถึงปี 2030 มีประเทศที่ปล่อยก๊าซดังกล่าวเกินเป้าถึง 1,716 เปอร์เซ็นต์ ก็คือประเทศกาตาร์ รองลงมาก็คือประเทศตรินิแดดและโตเบโก สหรัฐอเมริกา แคนาดา สิงคโปร์ จีนและอังกฤษ สำหรับประเทศไทยเราอยู่ในลำดับที่ 122 ที่ปล่อยก๊าซเกินกำหนด 77 เปอร์เซ็นต์ สำหรับข้อตกลงของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : Goals) ในประเทศสมาชิกสหประชาชาติ (UN) ที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ในปี 2015 ที่ต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จาก 39.7 พันล้านตัน ให้เหลือ 22.8 พันล้านตัน ภายในปี 2030 เพื่อให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส…
งานวิจัยดังกล่าวได้ชี้ให้เห็นว่า การทำการตลาดในระบบธุรกิจโดยในแต่ละปีเยาวชนสามารถเข้าถึงการโฆษณามากกว่า 30,000 ชิ้นต่อปี ทั้งการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ สิ่งเสพติดประเภทอื่น น้ำอัดลมที่มีปริมาณน้ำตาลมากรวมถึงอาหารจานด่วน โดยพบว่าในปี 2019 เด็กเยาวชนทั่วโลกในจำนวน 2.3 พันล้านคน มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน และอีก 150 ล้านคน มีการเจริญเติบโตของร่างกายที่ไม่สมบูรณ์ไปตามเกณฑ์ที่กำหนด
หากเราท่านได้ติดตามถึงเด็กเยาวชนหญิงคนหนึ่งที่ชื่อ เกรียตา ทุนแบร์ย ในวัย 16 ปี ชาวสวีเดน ที่ได้รณรงค์ให้รัฐบาลและประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้เห็นถึงภาวะของโลกร้อน เรือนกระจกเขาได้ไปกล่าวสุนทรพจน์ในการเปิดประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ที่เมืองนิวยอร์กของสหรัฐอเมริกา เมื่อปีเศษที่ผ่านมาแล้วตอนหนึ่งที่ว่า “ฉันไม่ควรมาอยู่ตรงนี้ ฉันควรกลับไปเรียนหนังสืออีกฟากของมหาสมุทร โดยตั้งใจพักการเรียน 1 ปี มาเพื่อเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม พวกคุณฝากความหวังไว้กับคนหนุ่มสาว ขโมยความฝันในวัยเด็กด้วยคำพูดที่เลื่อนลอย ผู้คนทั่วโลกกำลังเผชิญกับความทุกข์ยาก ผู้คนกำลังล้มตาย ระบบนิเวศกำลังล่มสลาย…”
สังคมไทยเราในวันนี้หรือวันเวลาเมื่อย้อนกลับไปในอดีตกาล เด็กไทยเราหลายคนมีความเก่ง ความฉลาด ความสามารถในหลากหลายมิติ แต่เราท่านมิได้พบเห็นถึงเด็กไทยเราที่ได้ก้าวไปสู่ระบบความคิด การมองโลกที่จะได้รับผลกระทบในอนาคตในภาพรวม คำถามหนึ่งก็คือ อะไร เหตุใดที่ทำให้เด็กไทยหลายคนไปไม่ถึงฝันที่ได้คิดคำนึงถึงความฝันทั้งของตนเองและครอบครัวไว้ ข้อเท็จจริงหนึ่งที่ได้พบเห็นในเชิงประจักษ์ก็คือ เด็กเยาวชนไทยวันนี้ต้องอยู่ภายใต้สังคมแห่งเงินนิยม บริโภคนิยม วัตถุนิยม ทุนนิยมมิอาจจักรวมถึงภาวะแห่งการเมืองที่ดูเสมือนเขาเหล่านั้นจักหาประตูทางออกให้ตนเองและประเทศชาติได้อย่างไร
ตัวเลขของประชากรไทยทั้งประเทศจากส่วนบริหารและพัฒนาเทคโนโลยีการทะเบียน สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ในปี พ.ศ.2562 มีประชากรทั้งประเทศ 66.56 ล้านคน โดยมีจำนวนตัวเลขของเด็กที่อายุ 0-14 ปี ในจำนวน 11,346,575 คน เยาวชนไทยอายุ 15-24 ปี ในจำนวน 8,982,619 คน คนวัยทำงานอายุ 25-54 ปี ในจำนวน 31,518,936 คน คนในวัย 55-64 ปี มีจำนวน 8,974,878 คน และประชากรสูงอายุวัย 65 ปีขึ้นไปในจำนวน 8,154,392 คน ในจำนวนนี้หากเราท่านได้เห็นตัวเลขของคนสูงวัยที่มีจำนวนกว่า 17 ล้านคน และจำนวนของเด็กเยาวชนในตัวเลข 20 ล้านคนเศษ ซึ่งมีตัวเลขแห่งความห่างอย่างมีนัยสำคัญทั้งการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลทั้งงบประมาณ เงินที่สนับสนุนทั้งการศึกษาคุณภาพชีวิตของเด็กเยาวชนและผู้สูงอายุไทยเรา…
วันที่ 20 กันยายน ของทุกๆ ปี รัฐบาลได้กำหนดให้เป็นวันเยาวชนแห่งชาติ คุณภาพชีวิตของเด็กเยาวชนไทยเราในรอบปีหรือหลายทศวรรษที่ผ่านมาเด็กเยาวชนบางคนต้องเผชิญกับสภาพปัญหาของครอบครัวแตกแยก การทำร้ายร่างกาย จิตใจจากครอบครัว การถูกทอดทิ้ง การเจ็บป่วยพิการทั้งจากโรคบางประเภทและอุบัติเหตุ ออกจากระบบการศึกษา การถูกล่วงละเมิดทางเพศ ปัญหาการพนัน ยาเสพติด เด็กแว้น ท้องในวัยเรียน เสพติดเกม การทำร้ายร่างกาย การฆ่ามีหลายคนกลายเป็นยุวอาชญากรที่ต้องโทษในทัณฑสถาน สถานพินิจอยู่ทั่วเมืองไทย ในจำนวนนี้มีเด็กเยาวชนไทยที่พิการตาบอด หูหนวก แขนขาพิการ บกพร่องในการเรียนรู้ เรียนรู้ช้า มิอาจจักรวมถึงเด็กเยาวชนบางคนที่ถูกบูลลี่ ที่เกิดความเครียด เก็บตัว ซึมเศร้า ไม่มีสมาธิในการเรียน…
ทุกๆ ปีในวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม รัฐบาลไทยได้กำหนดให้เป็นวันเด็กแห่งชาติ (National Children’s Day)
ความเป็นมาของวันเด็กไทยเริ่มจากคำเชิญชวนของนาย วี.เอ็ม. กุลกานี ผู้แทนองค์การสหพันธ์เพื่อสวัสดิภาพเด็กระหว่างสหประชาชาติ ในเดือนตุลาคม พ.ศ.2498 เพื่อให้ความสำคัญและความต้องการของเด็ก ในช่วงแรกๆ ของเมืองไทยเราได้มีการจัดงานวันเด็กในวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมมาจนถึงปี พ.ศ.2506 สำหรับคำขวัญวันเด็กไทยที่มีครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2499 ในสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่เป็นนายกรัฐมนตรีที่ว่า “จงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวม”
สำหรับคำขวัญวันเด็กไทยปีนี้ พ.ศ.2564 โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็คือ “เด็กไทยวิถีใหม่ รวมไทยสร้างชาติ ด้วยภักดีมีคุณธรรม” คำขวัญในปี พ.ศ.2563 “เด็กไทยยุคใหม่ รู้รักสามัคคี รู้หน้าที่พลเมือไทย” คำขวัญปี พ.ศ.2562 “เด็ก เยาวชน จิตอาสา ร่วมพัฒนาชาติ” คำขวัญปี พ.ศ.2561 “รู้คิด รู้เท่าทัน สร้างสรรค์เทคโนโลยี” คำขวัญปี พ.ศ.2560 “เด็กไทยใส่ใจศึกษา พาชาติมั่นคง” คำขวัญวันเด็กปี พ.ศ.2559 “เด็กดี หมั่นเพียร เรียนรู้ สู่อนาคต” คำขวัญปี พ.ศ.2558 “ความรู้คู่คุณธรรม นำสู่อนาคต” และปี พ.ศ.2557 ในสมัยของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีคำขวัญ “กตัญญู รู้หน้าที่ เป็นเด็กดี มีวินัย สร้างไทยให้มั่นคง”
ผู้เขียนต้องขออนุญาตต่อท่านผู้อ่านที่มิอาจจักนำคำขวัญวันเด็กย้อนไปทุกๆ ปี จนกระทั่งถึงคำขวัญวันเด็กครั้งแรกของเมืองไทยได้หากต้องการเรียนรู้สามารถเข้าไปค้นหาในสังคมของโลกแห่งเทคโนโลยีจากโทรศัพท์มือถือได้อย่างรวดเร็ว สิ่งหนึ่งที่เราท่านจักสังเกตได้ง่ายอย่างหนึ่งก็คือ คำขวัญวันเด็กที่มาจากตำแหน่งของการบริหารสูงสูดของรัฐบาลก็คือ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวไว้ ผู้เขียนรวมถึงท่านผู้อ่านหลายท่านที่ว่า เด็กเยาวชนไทยจักจำทุกคำ ประโยคในคำขวัญวันเด็กอย่างมิรู้ลืมหรือไม่ หรือว่าสามารถคิด วิเคราะห์แล้วมีการถกเถียงเสนอแนะถึงความเป็นไปได้แห่งการปฏิบัติตามคำขวัญนั้นๆ หรือไม่
คำขวัญวันเด็กที่นายกรัฐมนตรีได้ให้ไว้กับเด็กเยาวชนไทยเราทั้งประเทศในเวลานี้ มีความย้อนแย้งทั้งระบบความคิด ความรู้ ความเชื่อ อุดมการณ์แห่งความเป็นจริงของชีวิตเขาและสถานการณ์ของประเทศไทยเราและสถานการณ์โลกในเวลานี้ดีแค่ไหน เพียงไร ในรอบปีที่ผ่านมา รัฐบาลโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีได้ถูกกระแสแห่งม็อบปลดแอก ประท้วงขอให้ลาออก ยุบสภา ปฏิรูปประเทศในบริบทต่างๆ คำตอบที่อยู่ในข้อเท็จจริงกลับไปยังเขาเหล่านั้นก็คือ “ไม่ลาออก”
วันเวลานี้ในอนาคตของเด็กเยาวชนไทย ประชาชนคนไทยเราทั้งประเทศรวมถึงประชาคมโลกต้องเผชิญกับเชื้อโรคไวรัสโควิด-19 ที่ระบาดอย่างรวดเร็ว ทั่วถึง เท่าเทียม รัฐนาวาของรัฐบาลไทยในปี 2564 ที่ต้องเผชิญทั้งโรคระบาด ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของชาวบ้าน คุณภาพชีวิตของเด็กเยาวชนที่ต้องอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติอีกวาระหนึ่ง ปัญหาการเมืองที่กระทบไปยังอนาคตของประเทศของเขาเหล่านั้นยังคงเสมือนฝุ่นที่อยู่ใต้พรม หรือคลื่นใต้น้ำจักได้รับการแก้ไขหรือรับฟังสภาพของปัญหาจากหัวใจที่บริสุทธิ์ของเขาเหล่านั้นเพื่อประเทศชาติที่จักวัฒนาผาสุกในวันข้างหน้าอย่างดีแล้วหรือไม่…

 
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
https://www.matichon.co.th/columnists/news_2531651
https://www.matichon.co.th/article/news_2530784