“New normal” ในโลกหลัง COVID-19 ที่ไม่มีอะไรเหมือนเดิม

วันจันทร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2564
image

“New normal” ในโลกหลัง COVID-19 ที่ไม่มีอะไรเหมือนเดิม

         หลังวิกฤต COVID-19 … โลกของเราจะเป็นอย่างไร? แน่นอนว่า เป็นคำถามเปิดกว้างและสามารถตอบได้หลากหลายมุมมอง หลากหลายประเด็น และหลากหลายสมมติฐาน สำหรับบทความนี้เราจะวิเคราะห์มุมมองในสามประเด็นที่กระทบต่อผู้คนในชีวิตประจำวัน
1.      รูปแบบการใช้ชีวิตแบบ “New Normal” จะเป็นอย่างไร?
2.      ธุรกิจประเภทใดที่อาจจะถูก Disrupt?
3.      ธุรกิจประเภทใดที่ได้อาจจะประโยชน์หลัง COVID-19
         เราหวังว่ามุมมองเหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้อ่านทุกท่าน เพื่อปรับตัวให้เหมาะสมต่อแนวโน้มที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของโลกและสามารถปรับตัวได้ทันท่วงที เพื่อเตรียมใจกับรูปแบบการใช้ชีวิตที่อาจจะเปลี่ยนไป หรือเพื่อปรับกลยุทธ์การลงทุน ระมัดระวังความเสี่ยงที่อาจมากระทบการลงทุน

รูปแบบการใช้ชีวิตแบบ “New Normal” หลังวิกฤต COVID-19
         สิ่งแรกที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คาดว่าทุกคนต้องเกี่ยวข้องโดยตรงก็คือ รูปแบบการใช้ชีวิตที่ต้องเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สิ่งที่เรียกว่า “ความปกติใหม่” หรือ “New Normal” ไปจนกว่าโลกจะค้นพบยาต้านหรือวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและสามารถผลิตในปริมาณที่เพียงพอต่อจำนวนประชากรโลก แต่แล้วอะไรคือชีวิตแบบ New Normal?
ชีวิตแบบ “New Normal” คือ ชีวิตที่ต้องใส่หน้ากากทุกครั้งเวลาออกนอกบ้าน สถานที่ต่างๆก็ต้องมีการตรวจวัดอุณหภูมิและคอยทำความสะอาดฆ่าเชื้อตลอดเวลา การทำงานจะเป็นแบบ Work From Home ซึ่งมีการประชุมผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น ระบบของโรงเรียนทั่วโลกจะหันมาใช้ระบบ E-learning มากขึ้น ในขณะที่งาน Event ต่างๆ ที่ผู้คนจำนวนมากต้องมาอยู่รวมตัวกันอาจได้รับ ความนิยมลดลง รวมถึงโรงภาพยนตร์และมหกรรมกีฬาที่มีความแออัดของผู้เข้าร่วมงานอาจจะยังทำได้ยาก หรือมีผู้เข้าชมน้อยลงอย่างมีนัยยะสำคัญในช่วงแรกหลังจากเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ การรับประทานอาหารในร้านอาหารจะต้องนั่งห่างกัน 1-2 เมตร ต้องมีระยะห่างทางสังคม หรือ Social – Distancing นอกจากนี้ผู้คนอาจจะเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศน้อยลง เนื่องจากต้องถูกกักตัว 14 วันเป็นต้น
         คำถามต่อไป คือ เราจะใช้ชีวิตแบบ “New Normal” อีกนานแค่ไหน? ตราบใดที่ยังไม่พบวัดซีนป้องกัน COVID-19 แน่นอนว่าความระมัดระวังในชีวิตประจำวันและเหตุการณ์ที่ได้กล่าวไปแล้วจะยังคงอยู่กับเรา จนกว่าจะค้นพบยาหรือวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและต้องมีปริมาณเพียงพอกับคนทั้งโลก


ธุรกิจประเภทใดที่อาจจะถูก Disrupt?
         ถ้าเรามองข้ามช่วงวิกฤตCovid-19 ออกไประยะยาว ช่วงที่ผู้คนเลิกกังวลเรื่องความเสี่ยงของโรคระบาดนี้ เราเชื่อว่าเหตุการณ์ COVID-19 ครั้งนี้เป็นเสมือนตัวเร่งปฏิกิริยาให้หลายๆเทรนด์ที่แต่เดิมเชื่อว่าจะใช้เวลาอีกนานหลายปี
I. ห้างสรรพสินค้า น่าจะเป็นธุรกิจแรกๆที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากมีการ Lockdown เมือง จึงทำให้ผู้บริโภคได้เห็นความสะดวกและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการซื้อของหรือการทำธุรกิจทุกอย่างผ่าน Application บนมือถือ ความจำเป็นที่ต้องไปห้างสรรพสินค้าเพื่อซื้อของหรือทำธุรกรรมการเงินก็จะลดลง ดังนั้น ห้างสรรพสินค้าจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างตัวเองให้เป็นสถานที่ทำกิจกรรมต่างๆ ให้คนไปใช้เวลาร่วมกัน อาจเป็นที่จัดแสดงสินค้า หรือไปรับประทานอาหาร เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม ความนิยมในการไปเดินห้างสรรพสินค้าของคนไทยน่าจะยังคงอยู่หรือลดลงไม่มากเหมือนต่างประเทศ เพราะด้วยสภาพอากาศที่ร้อนของบ้านเรา รวมถึงเป็นสถานที่ที่เป็นการทำกิจกรรมร่วมกันของครอบครัว
II. อีกหนึ่งธุรกิจที่มีแนวโน้มที่จะถูก Disrupt ในระยะยาว ก็คือ ออฟฟิศ ช่วงวิกฤต COVID-19 ทำให้บริษัทเห็นแล้วว่าการที่พนักงานส่วนหนึ่งทำงานที่บ้านและการประชุมผ่านระบบออนไลน์สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ บริษัทมีแนวโน้มพิจารณาปรับลดพื้นที่ออฟฟิศลงเพื่อลดต้นทุน และเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในช่วงฟื้นตัวและในระยะยาว สิ่งเหล่านี้จะทำให้ความต้องการพื้นที่ออฟฟิศลดลง ผลสำรวจของ CFO กว่า 317 บริษัทของบริษัทวิจัย Gartner พบว่า 74% ของบริษัทวางแผนให้พนักงานทำงานที่บ้านแบบถาวร
III. ธุรกิจกลุ่มสายการบิน และกลุ่มผู้ผลิตเครื่องบิน ก็เช่นเดียวกัน แม้ในระยะยาวการท่องเที่ยวด้วยเครื่องบินจะกลับมาเป็นปกติ แต่รายได้ที่คิดเป็นสัดส่วนที่สูงของธุรกิจสายการบินในประเทศที่มีขนาดใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา มาจากการเดินทางที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ (Business Travel) ซึ่งหลังจากนี้ต่อไป บริษัทหรือคนกลุ่มนี้จะคุ้นชินกับการติดต่อธุรกิจผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น ความจำเป็นในการเดินทางจะลดลง ไม่เพียงเท่านั้น ธุรกิจโรงแรม ก็จะได้รับผลกระทบอีกด้วย เนื่องจากรายได้จากค่าห้องพักและค่าห้องประชุมจากกลุ่มลูกค้าที่เดินทางเพื่อธุรกิจที่มีสัดส่วนที่สูงนี้จะหายไป
IV. ธุรกิจน้ำมัน ก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่จะถูกวิกฤตครั้งนี้เร่งให้ถึงจุดจบของสิ่งที่เรียกว่า พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล (fossil fuel) เร็วขึ้น และเร่งให้เทรนด์ของพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมถูกพัฒนาและเป็นที่นิยมมากขึ้น ซึ่งเหตุผลหลักก็คือ การโดยสารด้วยเครื่องบินซึ่งเป็นธุรกิจที่มีการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลปริมาณมากจะลดลงดังที่กล่าวมาก่อนหน้า และวิกฤตนี้ทำให้คนตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น ที่ประเทศอินเดีย COVID-19 ทำให้อินเดียฟ้าเปิด และสามารถเห็นยอดหิมาลัยครั้งแรกรอบ 30 ปี เหล่านี้จะทำให้มีเงินทุนไหลออกจากธุรกิจน้ำมันและไหลเข้าธุรกิจพลังงานทางเลือกหรือธุรกิจที่ใช้ใจสิ่งแวดล้อม (ESG Driven) มากขึ้น
V. กลุ่มผู้ผลิตยาภาคเอกชน (Private Pharmaceutical Firm) เหตุการณ์นี้จะทำให้รัฐบาลทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องสุขภาพของประชาชน ปริมาณยาที่เพียงพอ และการพัฒนายาหรือวัคซีนมากขึ้น เราจะได้เห็นรัฐบาลเข้ามามีบทบาทในด้านการพัฒนาและผลิตยามากขึ้นแทนที่บริษัทเอกชนแบบที่เห็นในปัจจุบัน เนื่องจากความเสี่ยงเรื่องสุขภาพประชาชนเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของรัฐบาล ขณะที่สำหรับภาคเอกชนแล้ว การจะเร่งลงทุนพัฒนาหรือผลิตจะทำก็ต่อเมื่อเห็นโอกาสของกำไร

ธุรกิจประเภทใดที่จะได้ประโยชน์?
ดังคำว่า 'วิกฤต' ในภาษาจีนที่อักษรแรกหมายถึงอันตราย อักษรหลังหมายถึงโอกาส ซึ่งก็หมายถึงในทุกๆวิกฤต ย่อมมีโอกาส
I. กลุ่มเทคโนโลยี เป็นกลุ่มที่เราน่าจะเห็นได้ชัดเจนที่สุด กลุ่มนี้ครอบคลุมตั้งแต่ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจให้ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น (Digital Transformation) ไม่ว่าจะเป็นการใช้หุ่นยนต์ในการผลิต การจัดเก็บและบริหารข้อมูลบน Cloud การใช้ AI ออกแบบและบริหารระบบ Supply Chain ของบริษัท เทคโนโลยี 5G หลังวิกฤตเศรษฐกิจจะยิ่งทำให้ธุรกิจให้ความสำคัญเรื่องลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ และลดหรือบริหารความเสี่ยงที่ไม่คาดคิด เช่น การใช้หุ่นยนต์แทนมนุษย์อาจจะประหยัดต้นทุนได้เนื่องจากราคาปัจจุบันก็ถูกลงมากและไม่จำเป็นต้องปิดโรงงานหากคนงานสักคนติดโรคระบาด เทรนด์นี้รวมไปถึงการใช้ชีวิตในโลกของออนไลน์มากขึ้น เช่น ธุรกิจ E-commerce หรือจะเป็นการประชุมผ่านระบบออนไลน์ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ก็จะได้ประโยชน์จากพฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนไป
II.บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) และบริษัทให้คำปรึกษาด้านการเงินทั้งให้กับบริษัทและบุคคล เนื่องจากกลุ่มบริษัทที่ได้รับผลกระทบทั่วโลกจะให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น และจะหันมาเพิ่มสภาพคล่องให้กับธุรกิจของตัวเองมากขึ้น จากเดิมที่อาจคิดว่าเหล่านี้เป็นสิ่งที่สิ้นเปลื้องและไม่จำเป็นมากนัก คล้ายกันกับระดับบุคคล ความสำคัญของความรู้เรื่องการเงิน การวางแผนการเงินและการเก็บออมจะมีมากขึ้น สิ่งเหล่านี้จะสนับสนุนการออมเงินในกองทุนรวม และบริษัทที่ให้คำปรึกษาด้านการเงิน
III. Telemedicine/Telehealth ระบบโทรเวชกรรม ซึ่งก็คือระบบการให้บริการการรักษาทางการแพทย์ผ่านระบบออนไลน์ โดยผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเดินทางมารักษาที่โรงพยาบาล ทั้งแพทย์และผู้ป่วยสามารถสนทนาและสื่อสารกันผ่าน Online Application แม้อาจจะยังไม่ค่อยมีให้เห็นในประเทศไทย แต่ในสหรัฐฯกำลังเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเหตุการณ์ COVID-19 ที่ทำให้ผู้คนไม่อยากไปโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น และทำให้คนได้เรียนรู้ เปิดใจยอมรับการพบหมอออนไลน์มากขึ้นคล้ายกันกับพฤติกรรมการซื้อขายออนไลน์ที่แต่เดิมหลายคนยังไม่ถนัดหรือเปิดใจ ยกตัวอย่างบริษัท Teladoc Health Inc ของสหรัฐฯที่ทำธุรกิจลักษณะนี้ ช่วงปี 2017-2019 รายได้ของบริษัทเติบโตเฉลี่ยปีละถึง 73% จากรายได้ 200 ล้านเหรียญเป็น 600 ล้านเหรียญ เรามองว่าในอนาคตจะเริ่มมีโรงพยาบาลหรือบริษัทที่ทำธุรกิจบริการแบบนี้มากขึ้น เนื่องจากมันตอบโจทย์ความเรื่องปลอดภัย สะดวกรวดเร็ว ประหยัดเวลา และยังสามารถเข้าถึงคนไข้ในพื้นที่ห่างไกลได้อีกด้วย
สรุปแล้ว คำถามที่ว่า หลัง COVID-19 … โลกเราจะเป็นอย่างไร? สิ่งแรกก็คือการเข้าสู่รูปแบบชีวิตปกติใหม่ “New Normal” และสิ่งที่สอง คือเรามองว่า COVID-19 เป็นตัวเร่งเทรนด์การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างระยะยาวที่พวกเราต่างเชื่อมาก่อนแล้วว่าเทรนด์เหล่านี้กำลังจะมา
สุดท้ายนี้ เราแนะนำให้นักลงทุนเน้นมุมมองการลงทุนแบบระยะยาว โดยให้ลงทุนอย่างระมัดระวัง กระจายความเสี่ยงอย่างเหมาะสม และใช้จังหวะที่ตลาดหุ้นผันผวนและปรับตัวลงในการทยอยเข้าลงทุนในเทรนด์ธุรกิจที่มีแนวโน้มได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของรูปแบบการใช้ชีวิตของมนุษย์และสภาวะเศรษฐกิจในระยะยาว

“วิถีชีวิตปกติแบบใหม่” คือความหมายของ “NEW NORMAL” ที่ใช้เพื่อให้เข้าใจร่วมกัน (บทความโดย สุชาติ ศรีสุวรรณ)
         เราจะใช้ชีวิตแบบเก่าไม่ได้อีกแล้ว เพราะโควิด-19 แม้ไม่แสดงอาการกับคนหนุ่มสาวที่แข็งแรง แต่คนแข็งแรงแพร่เชื้อที่ติดมาไปทำลายชีวิตของคนที่มีโรคเรื้อรังรุมเร้า หรือแข็งแรงไม่พอด้วยวัย หรือเหตุอื่นได้ การอยู่ร่วมกันจึงต้องสร้างวิถีชีวิตใหม่ ที่พร้อมจะป้องกันการระบาดเป้าหมายนี้ไม่มีใครปฏิเสธ  แต่ที่เห็นต่างคือวิธีการสร้าง “NEW NORMAL” เนื่องจาก “วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป” ย่อมส่งผลกระทบต่อด้านอื่นๆ ที่สำคัญที่สุดคือ “การทำมาหากิน” อันเป็นมิติในภาคประชาชนขณะที่ในมิติของประเทศคือผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ไม่มีทางที่จะทำให้ระบบเศรษฐกิจขับเคลื่อนไปอย่างปกติได้ หากเน้นที่ทำให้การดำเนินชีวิตของผู้คนไม่เป็นปกติ เช่นเดียวกันหากเน้นที่ทำให้การดำเนินชีวิตของผู้คนเป็นปกติ ก็ไม่สามารถควบคุมการระบาดของเชื้อโควิดที่เกิดจากการสัมผัสใกล้ชิดได้ การบริหารให้ผู้คนยังทำมาหากินได้ ในวิถีชีวิตที่มีศักยภาพในการป้องกันการระบาด จึงต้องอาศัยความสามารถอย่างสูงยิ่งของผู้นำประเทศ ต้องมีทั้งศาสตร์อันหมายถึงความรู้ความเข้าใจ และศิลป์อันหมายถึงจินตนาการหรือวิชั่น และความสามารถที่จะคิดวิธีจัดการให้เกิดความกลมกลืนลื่นไหลประคับประคองการดำเนินชีวิตของประชาชนให้ราบรื่น ให้ประเทศชาติไม่เสียหาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปหลังการเลือกตั้ง สืบทอดการเป็น “ผู้นำประเทศ” มายาวนาน นั่นหมายถึงควรที่จะพัฒนาศาสตร์และศิลป์ในการบริหารจัดการประเทศให้เกิดความราบรื่น ประชาชนไม่เดือดร้อนจากการบริหารจัดการของราชการในสถานการณ์โควิด หนทางจัดการมี 3 ทาง
        หนึ่ง บังคับประชาชนให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยกลไกรัฐยังคงเหมือนเดิม หากินด้วยส่วนแบบไหน ใช้อำนาจหาผลประโยชน์อย่างไรก็ปล่อยไปอย่างนั้น “NEW NORMAL” เป็นเรื่องการบังคับให้ประชาชนเปลี่ยน ด้วยประกาศสารพัด
        สอง เปิดให้ประชาชนดำเนินชีวิตไปอย่างปกติ เพื่อให้แต่ละคนรักษาการทำมาหากินไว้ และนั่นหมายถึงระบบเศรษฐกิจของประเทศจะขับเคลื่อนไปได้ด้วยวิถีชีวิตที่ปกติของประชาชน โดยให้กลไกราชการรับภาระที่รับมือเพื่อควบคุมการระบาดของโรค เตรียมเครื่องไม้เครื่องมือ จัดหาเทคโนโลยี ระดมกำลังข้าราชการ จัดแผนการบริหารจัดการ เพื่อให้ประชาชนดำเนินชีวิตได้ตามปกติ “NEW NORMAL” มีกลไกราชการเป็นหัวใจหลัก
         สาม บูรณาการให้ทุกฝ่ายปรับตัวไปพร้อมๆ กัน อย่างเข้าอกเข้าใจกัน เอื้อเฟื้อต่อกัน ไม่ชี้โทษกัน โดย “ผู้นำต้องเป็นตัวอย่างที่ดี” ในการไม่ชี้โทษคนอื่น เอาแต่ปกป้องตัวเอง

การเลือกสร้าง “NEW NORMAL” แบบไหนขึ้นอยู่กับลักษณะของผู้นำ
        ในสถานการณ์ที่ความผิดพลาดหย่อนยานที่ก่อให้เกิดการระบาดครั้งใหม่ ล้วนมีรูปธรรมชัดเจนว่ากลไกราชการเป็นต้นเหตุ โดยมีผลประโยชน์จากธุรกิจเถื่อนใต้ดินเป็นปัจจัยเปิดช่องโหว่ให้กับมาตรการควบคุมต่างๆ การบริหารจัดการด้วยวิธีออกประกาศ ใช้อำนาจบังคับควบคุมประชาชนนั้นเป็นเรื่องที่ทำง่ายแต่ผลที่ตามมาคือความไม่ปกติของวิถีชีวิตที่จะสะเทือนต่อการทำมาหากิน และส่งผลต่อเนื่องเศรษฐกิจในภาพรวม ซึ่งต่างกับวิธีการบริหารที่ดีที่สุดคือเข้มงวดกับการทำงานของราชการ เพื่อให้ประชาชนใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติ อันเป็นทางที่จะทำให้กลไกเศรษฐกิจขับเคลื่อนระบบได้ต่อการออกคำสั่งบังคับประชาชนย่อมเป็นการจัดการที่ง่าย เพราะหากไม่ได้ผลก็ปกป้องตัวเองด้วยแค่โทษประชาชนว่าไม่มีจิตสำนึกที่จะให้ความร่วมมือขณะที่การบริหารจัดการให้กลไกราชการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่มีข้ออ้างให้ปกป้องตัวเองได้ แต่การพิสูจน์ให้เห็นความสามารถในการบริหารทำได้ง่ายกว่า
เลือก “NEW NORMAL” แบบไหน ย่อมสะท้อนความเชื่อถือ เชื่อมั่นในฝีมือในตัว “ผู้นำ”

ขอขอบคุณ ข้อมูลและรูปภาพจาก 
https://www.freepik.com/
https://www.matichon.co.th/article/column-page-3/news_2520180
https://www.tmbameastspring.com/insights/new-normal