จะทำอย่างไร หาก “โควิด” กลับมาอีกระลอก

วันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2563
image

จะทำอย่างไร หาก “โควิด” กลับมาอีกระลอก

โควิดระลอกสองมาแน่ และจะรุนแรงกว่าระลอกแรก

 

บทความจากเว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ กล่าวว่า โควิดระลอกสองมาแน่ และจะรุนแรงกว่าระลอกแรก  ได้อธิบายถึงการระบาดของโรคติดเชื้อในอดีตที่ผ่านมา โดยกล่าวว่าในประวัติศาสตร์ โรคระบาดที่รุนแรง รวมทั้งโรค Covid-19 มีโอกาสสูงที่จะกลับมาระบาดใหม่ และอาจเกิดการระบาดระลอกที่สองหรือสาม โดยระลอกหลังมักจะมีความรุนแรงกว่าระลอกแรกและที่น่าเป็นห่วงกว่านั้นคือ ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขเตือนว่า โรคระบาดที่รุนแรงในยุคประวัติศาสตร์สมัยใหม่ รวมทั้งโรค Covid-19 มีโอกาสสูงที่จะกลับมาระบาดใหม่ และอาจเกิดการระบาดระลอกที่สองหรือสาม โดยระลอกหลังมักจะมีความรุนแรงกว่าระลอกแรก

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ไข้หวัดสเปนที่เริ่มระบาดช่วงต้นปี 1918 ระลอกแรกคร่าชีวิตชาวโลกไปราว 2 ล้านคน ซึ่งจากข้อมูลด้านสาธารณสุขที่มีอยู่อย่างจำกัดในขณะนั้นพบว่าอัตราการเสียชีวิตของไข้หวัดสเปนไม่ต่างจากการเสียชีวิตจากไข้หวัดประจำฤดูกาล แต่การระบาดระลอกที่สองซึ่งเริ่มในช่วงฤดูใบไม้ร่วงของปี 1918 ทำให้ผู้คนเสียชีวิตถึง 40 ล้านคนในระยะเวลาไม่กี่เดือน โดยตัวจุดชนวนก็คือ การออกเดินเรือของทหารเรือที่ไม่รู้ว่าตัวเองติดเชื้อไวรัสจากท่าเรือพลีมัธของอังกฤษไปยังฝรั่งเศส สหรัฐ และแอฟริกาตะวันตก
การระบาดระลอกที่สองนี้ส่งผลให้ไข้หวัดสเปนกลายเป็นโรคระบาดที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์
แม้ว่าไข้หวัดสเปนจะไม่เหมือนกับโรค Covid-19 แต่ก็เป็นบทเรียนให้รัฐบาลได้ว่าควรเตรียมพร้อมกับการระบาดระลอกที่สอง มิเช่นนั้นมนุษยชาติจะต้องเจอกับคำว่าประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สำหรับ Covid-19 นั้นยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆ และขณะนี้เกาหลีใต้ที่เคยได้รับคำชมว่าควบคุมการระบาดได้ดี ก็ยอมรับแล้วว่ากำลังเผชิญกับการระบาดระลอกที่สอง  เกาหลีใต้ผ่อนคลายมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) ในช่วงวันหยุดยาวเมื่อต้นเดือน พ.ค. และเกือบจะกลับไปใช้ชีวิตได้แบบเดิมแล้ว แต่ช่วงปลายเดือนที่แล้วกลับพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นรายวัน วันละ 30-50 ราย โดยเป็นเคสติดเชื้อในประเทศเป็นส่วนใหญ่และมาจากสถานบันเทิงในย่านกรุงโซล แต่ถึงอย่างนั้นเกาหลีใต้ยืนยันว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันขณะนี้ยังอยู่ในระดับที่สามารถจัดการได้
เป็นที่น่าสังเกตว่าประเทศในแถบแปซิฟิกตะวันตกซึ่งมีเกาหลีใต้อยู่ด้วยสามารถควบคุมการระบาดได้ดีกว่าประเทศอื่นๆ ทั้งที่มีประชากรถึง 1 ใน 4 ของประชากรโลก แต่จนถึงวันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา กลับมีผู้ติดเชื้อในภูมิภาคนี้เพียง 2.4% ของตัวเลขผู้ติดเชื้อทั่วโลก และมีสัดส่วนผู้เสียชีวิตเพียง 1.6%  สำนักข่าว NHK ของญี่ปุ่นสัมภาษณ์ แมทธิว กริฟฟิธ (Matthew Griffith) สมาชิกทีมรับมือ Covid-19 ประจำแปซิฟิกตะวันตกขององค์การอนามัยโลก ว่าเหตุใดแถบเอเชียซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของ Covid-19 จึงไม่ใช่ประเทศที่มีการระบาดรุนแรงที่สุด  กริฟฟิธเริ่มจับตา Covid-19 ตั้งแต่เริ่มมีการระบาด และเผยว่าขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าทำไมบางประเทศจึงระบาดรุนแรง บางประเทศกลับเอาอยู่ แต่ก็มีบางปัจจัยที่เห็นได้ชัดเจน อาทิ
การติดตามการระบาด กริฟฟิธเผยว่าหลายประเทศในเอเชียรับมือการแพร่ระบาดด้วยการติดตามผู้ติดเชื้อและคนใกล้ชิด ซึ่งเป็นวิธีที่ถูกต้องโดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้นของการระบาดซึ่งการติดเชื้อส่วนใหญ่มาจากที่อื่น โดยยกตัวอย่างการจัดการของเวียดนามและญี่ปุ่นที่ติดตามผู้ติดเชื้ออย่างเข้มงวด เพราะยิ่งพบกลุ่มก้อนการระบาดเร็วก็ยิ่งรู้พื้นที่เสี่ยง
การสื่อสารชัดเจน
กริฟฟิธเผยว่าบางประเทศในเอเชียแฟซิฟิก อาทิ ญี่ปุ่นและนิวซีแลนด์ สื่อสารให้ประชาชนตระหนักถึงการแพร่ระบาดได้ชัดเจน
พฤติกรรม วัฒนธรรม และโรคประจำตัว
กริฟฟิธเผยว่าความแตกต่างด้านวัฒนธรรมเป็นปัจจัยสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการทักทาย หรือการสวมหน้ากากอนามัยในสถานที่สาธารณะ “วัฒนธรรมการกอดซึ่งเพิ่มความเสี่ยงที่เชื้อจะแพร่กระจาย เทียบกับวัฒนธรรมที่รักษาระยะห่าง หรือไม่นิยมการสวมกอดกัน ไม่จูบแก้ม ไม่จับมือ ซึ่งทั้งหมดนี้ช่วยป้องกันการแพร่ระบาดไปในตัว”
บทเรียนจากอดีต
กริฟฟิธเผยว่า ประเทศที่เคยเผชิญกับโรคระบาดอย่างซาร์ส เมอร์ส ล้วนมีช่องทางการสื่อสารที่แข็งแกร่งระหว่างผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์กับรัฐบาล
ดังนั้นหากมีการระบาดระลอกที่สองในแถบเอเชียแปซิฟิก ประเทศเหล่านี้จะรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่ต่างจากผลงานในระลอกแรก
ทว่าที่น่าเป็นห่วงเห็นทีจะเป็นสหรัฐ เนื่องจากการระบาดระลอกที่สองในสหรัฐอาจมาพร้อมกับฤดูไข้หวัดใหญ่ทำให้การรับมือยุ่งยากและซับซ้อนยิ่งขึ้นอีกหลายเท่าตัว เพราะภูมิคุ้มกันของประชาชนอาจลดลงในช่วงดังกล่าว ขณะที่โรงพยาบาลก็ต้องแบ่งกำลังบุคลากรทางการแพทย์มารักษาไข้หวัดใหญ่
นอกจากนี้ การรวมกลุ่มของคนจำนวนมากอย่างการประท้วงก็อาจทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นอีกครั้ง ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วในเมืองฟิลาเดลเฟียในปี 1918 หลังจากมีการจัดขบวนพาเหรดขนาดใหญ่เพื่อฉลองการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้ไข้หวัดสเปนแพร่ระบาดในวงกว้าง และขณะนี้การประท้วงเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้คนผิวสีก็เกิดขึ้นในหลายรัฐของสหรัฐ รวมทั้งฝรั่งเศสที่เพิ่งจัดเทศกาลดนตรี Fête de la Musique เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา โดยไม่มีการสวมหน้ากากอนามัยหรือเว้นระยะห่างทางสังคม  ความกังวลเกี่ยวกับการระบาดระลอกที่สองทำให้นักวิทยาศาสตร์จำลองโมเดลการแพร่ระบาดในหลายสถานการณ์ที่แตกต่างกัน และพบว่าการแพร่ระบาดระลอกที่สองจะยิ่งรุนแรงมากขึ้นหากมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด รวมทั้งการกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกครั้งในพื้นที่ที่ยังพบการแพร่ระบาดเร็วเกินไป ในเมื่อหลีกเลี่ยงการระบาดระลอกที่สองหรืออาจจะเป็นระลอกที่สามไม่ได้ รัฐบาลก็ควรยกระดับระบบสาธารณสุขและการสื่อสารทั้งระหว่างองค์กรต่างๆ ด้วยกันเองและกับประชาชนให้เข้มแข็ง เพื่อปกป้องชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนโดยไม่ต้องใช้มาตรการสุดขั้วอย่างการล็อกดาวน์อีกครั้ง
 
3 ขั้นตอน รับมือ โควิด ระบาดระลอก 2
 “หมอธีระวัฒน์” แนะ 3 ขั้นตอนรับมือโควิดระบาดระลอก 2 เน้น ตรวจภูมิคุ้มกันกลุ่มเสี่ยงไม่แสดงอาการ
หน่วยงานด้านสาธารณสุข เริ่มกังวลเมื่อปรากฏภาพผู้คนออกเดินทางไปท่องเที่ยวในสถานที่ต่างๆจำนวนมาก ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดรอบ 2 ขึ้นมาได้  ศ. นพ. ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก " Thiravat Hemachudha" เกี่ยวกับการรับมือการระบาดโควิดระลอก 2 ไว้ เน้นย้ำเรื่องของการตรวจกลุ่มเสี่ยงที่ไม่แสดงอาการ
การประเมินความเสี่ยงที่จะมีการติด – แพร่ – จนถึงระบาด…หรือไม่?
ศ. นพ. ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา และดร. ภก. อนันต์ชัย อัศวเมฆิน  คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  ความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรักษาวินัย เพื่อป้องกันไม่ให้มีการติดเชื้อและการแพร่กระจายเชื้อระหว่างบุคคลจนเป็นลูกโซ่ พร้อมด้วยศักยภาพในการการประเมินสถานการณ์อย่างรวดเร็วและทันถ่วงที โดยต้อง
1.สามารถระบุยืนยันตัวและกักตัวผู้ติดเชื้อที่มีอาการได้อย่างครบถ้วนทั้งที่มีอาการแบบปกติ (ไข้ ไอ อ่อนเพลีย) และไม่ปกติ เช่น แสดงอาการออกไปทางระบบอื่น รวมถึงผู้ที่มีความเสี่ยงสูงและทำงานให้บริการสาธารณะ เช่น คนขับรถประจำทาง ซึ่งมีโอกาสติดเชื้อและแพร่กระจายเชื้อต่อได้สูง แนะนำการตรวจแยงจมูกด้วยวิธี PCR
 
2.การตรวจคัดกรอง (Screening)  อาจมีความจำเป็นอย่างยิ่ง แม้บุคคลนั้นๆ จะไม่มีการแสดงอาการผิดปกติใดๆ ก็ตาม แต่ก็มีโอกาสที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจกรรมในพื้นที่จำกัดหรือมีผู้คนอยู่ด้วยกันจำนวนมากเป็นเวลาหลายชั่วโมง เช่น สถานศึกษา  ในกรณีเช่นนี้ บุคคลดังกล่าวจะต้องระวังตัวสูงสุด 4 วันก่อนหน้า ที่จะทำกิจกรรม เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้รับเชื้อเข้ามา และ ณ วันที่ทำกิจกรรม บุคคลนั้นจะต้องได้รับการประเมินสถานการติดเชื้อก่อน (นั่นคือ มีการติดเชื้อมาก่อนหน้า 4 วันนี้หรือนานกว่านั้นหรือไม่) ด้วยการ “เจาะเลือดตรวจภูมิคุ้มกัน”
ทั้งนี้ เนื่องจากภูมิคุ้มกันลำดับที่หนึ่ง ที่เรียกว่า IgM จะปรากฎตัวขึ้นหลังจากการติดเชื้อแล้วประมาณ 4-6 วัน โดยถ้าตรวจพบ IgM แล้ว บุคคลนั้นจะต้องเฝ้าระวังต่อไปว่าอาการจะรุนแรงหรือไม่ ซึ่งช่วงนี้จะเป็นช่วงที่สามารถแพร่กระจายเชื้อได้มาก ดังนั้นจึงควรได้รับการตรวจยืนยันด้วยวิธีแยงจมูก (PCR) ด้วย และจะต้องถูกกักตัว 14 วันเพื่อยืนยันว่า จะไม่มีการแพร่กระจายเชื้อต่อ แล้วจึงสามารถกักตัวที่บ้านต่ออีก 14 วัน เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีเชื้อกระจายออกมาอีก  ในกรณีที่เจาะเลือด แล้วผลออกมาเป็นภูมิคุ้มกันลำดับที่สองที่เรียกว่า IgG แสดงว่ามีการติดเชื้อมาแล้วระยะหนึ่ง อย่างน้อย 12-14 วัน แม้ว่าความเสี่ยงอันตรายต่อชีวิตจะน้อยกว่า แต่ยังสามารถแพร่กระจายเชื้อได้ ในกรณีนี้ อาจจำเป็นต้องให้กักตัวที่บ้านเพื่อเฝ้าระวังการแพร่เชื้อ 14 วัน
ลักษณะของภูมิลำดับที่สองนี้เป็นภูมิที่สำคัญ ควรมีการตรวจหาว่า ภูมิ IgG นี้มีความสามารถในการยับยั้งเชื้อ (Neutralizing antibody) ได้มากน้อยเพียงใด  อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ยังไม่มีการศึกษาบอกว่าภูมินี้จะอยู่ได้นานเพียงใด และ “ระบบภูมิคุ้มกันความจำ” (Memory immune) ของร่างกายจะทำงานได้ดีเพียงใดซี่งถ้าระบบภูมิคุ้มกันความจำทำงานได้ดีแม้ว่าจะมีการติดเชื้อซ้ำร่างกายก็จะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันมาสู้กับไวรัสได้ทันที  ลักษณะของการตรวจเช่นนี้อาจต้องมีการประเมินเป็นระยะเพื่อสะท้อนให้เห็นระบบและระเบียบวินัยในการป้องกันโรคว่ายังคงเข้มแข็งอยู่หรือไม่
3.การประเมินภาพรวมทั้งประเทศว่ามีการติดเชื้อมากมายเพียงใดแล้วซึ่งเป็นประโยชน์ในการวางแผนการฉีดวัคซีนในคนที่ไม่เคยมีประวัติการติดเชื้อมาก่อน ด้วยวิธีการเจาะเลือดตรวจหาภูมิคุ้มกันหรือใช้วิธีแยงจมูก 10 คนและตรวจผลเพียงครั้งเดียว (Sample pooling PCR) เพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายด้วยกรณีที่การติดเชื้อที่กำลังแพร่อยู่ในระดับไม่สูงมาก ประมาณ 1-2%
 
ขอขอบคุณข้อมูล และรูปภาพจาก
คณะทำงาน ศูนย์โรคติดต่ออุบัติใหม่คณะแพทยศาสตร์สภากาชาดไทยโรงพยาบาลจุฬา. วารสาร j Med Virol 2020
เว็บไซต์  https://www.thunkhaochannel.com/news01030663/
เว็บไซต์  https://www.posttoday.com/world/626755
เว็บไซต์  https://www.thansettakij.com/content/normal_news/437245