ผลข้างเคียงที่เกิดจากการฉีดวัคซีนโควิด-19

วันศุกร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2564
image

โควิด-19 : วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า กับผลข้างเคียงที่พึงระวัง

ความวิตกกังวลที่มีต่อวัคซีนต้านโควิด-19 ของอ็อกซ์ฟอร์ด-แอสตร้าเซนเนก้า กำลังเพิ่มขึ้นทุกขณะ โดยล่าสุด เดนมาร์กกลายเป็นชาติแรกในยุโรปที่ตัดสินใจยกเลิกการใช้วัคซีนชนิดนี้อย่างถาวร จากความเป็นไปได้ว่าอาจทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สำนักงานการแพทย์ยุโรป (European Medicines Agency หรือ EMA) ประกาศว่ามีความเป็นไปได้ว่าวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเชื่อมโยงกับการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน แต่ความเสี่ยงของประชาชนที่ติดเชื้อโควิด-19 แล้วเสียชีวิตมีสูงกว่ามากขณะที่หน่วยงานกำกับดูแลด้านยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ (MHRA) ของสหราชอาณาจักร ก็ระบุว่าประโยชน์ที่จะได้รับจากการฉีดวัคซีนชนิดนี้มีมากกว่าความเสี่ยงสำหรับประชากรส่วนใหญ่ที่ผ่านมา หลายประเทศในยุโรปได้สั่งระงับการใช้วัคซีนนี้เป็นเวลาสั้น ๆ แต่ก็ให้กลับมาใช้แล้วกับประชากรสูงอายุ

วัคซีนนี้อาจสร้างปัญหาอะไร

MHRA กำลังตรวจสอบกรณีพบผู้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลังจากเพิ่งได้รับการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในสหราชอาณาจักรการตรวจสอบพบว่าผู้ป่วย 79 คน (2 ใน 3 เป็นผู้หญิง) เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลังจากได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรก ในจำนวนนี้ 19 คนเสียชีวิต
จนถึงสิ้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ประชาชนในสหราชอาณาจักรได้รับวัคซีนชนิดนี้แล้วไปกว่า 20 ล้านโดส
MHRA ระบุว่า ตามปกติจะมีประชากรราว 4 คนจากใน 1 ล้านคนที่จะมีภาวะลิ่มเลือดอุดตันเช่นนี้ และการที่เป็นอาการเจ็บป่วยที่พบได้ยากมากจึงทำให้การคาดคะเนอัตราการเกิดขึ้นตามปกติทำได้ยาก
นอกจากนี้ MHRA ยังระบุว่าจนถึงบัดนี้ยังไม่มีการพิสูจน์ยืนยันที่แน่ชัดว่าวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นสาเหตุโดยตรงที่ทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน พญ.จูน เรน หัวหน้า MHRA ระบุว่าแม้ความเชื่อมโยงระหว่างวัคซีนกับภาวะผิดปกตินี้จะเริ่มชัดเจนขึ้น แต่ก็ยังจำเป็นต้องมีหลักฐานมาสนับสนุนมากกว่านี้ เธอชี้ว่า สำหรับประชากรส่วนใหญ่ประโยชน์ที่จะได้รับจากวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ามีมากกว่าความเสี่ยงจากการติดเชื้อโรคโควิด-19 แต่สำหรับกลุ่มคนหนุ่มสาว ปัจจัยดังกล่าวอาจอยู่ในระดับที่เท่าเทียมกัน

ภาวะลิ่มเลือดอุดตันชนิดที่พบได้ยากนี้คืออะไร

MHRA ได้ศึกษากรณีของผู้มีภาวะลิ่มเลือดอุดตันซึ่งเกี่ยวข้องกับการมีเกล็ดเลือดในระดับต่ำหลังจากได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเกล็ดเลือดเป็นเซลล์เม็ดเลือดขนาดเล็กที่ช่วยทำให้เลือดแข็งตัว เพื่อให้เลือดหยุดไหลเมื่อร่างกายเกิดบาดแผลภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่พบอีกชนิดคือ "ภาวะหลอดเลือดดำในสมองอุดตัน" (cerebral venous sinus thrombosis หรือ CVST) ซึ่งไปขัดขวางไม่ให้เลือดไหลเวียนออกจากสมองได้ และอาจนำไปสู่อาการเส้นเลือดในสมองแตก ภาวะลิ่มเลือดอุดตันสามารถเกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติและพบได้ทั่วไป แต่ไม่ค่อยพบในกลุ่มผู้หญิงอายุน้อย MHRA ชี้ว่า โรคโควิด-19 ก็สามารถทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันได้มากขึ้นเช่นกัน

อาการแบบไหนที่ต้องระวัง

MHRA ระบุว่าผู้ที่มีอาการดังต่อไปนี้ภายหลังจากได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าไปแล้ว 4 วันหรือมากกว่านี้ จะต้องรีบขอรับคำแนะนำจากแพทย์

  • ปวดศีรษะรุนแรงต่อเนื่อง

  • ตาพร่ามัว

  • เจ็บหน้าอก

  • หายใจลำบาก

  • ขาบวม

  • ปวดท้องอย่างต่อเนื่อง

  • ผิวหนังมีรอยช้ำผิดปกติ

  • มีจุดเลือดออกที่ผิวหนัง (ไม่รวมจุดที่ได้รับการฉีดวัคซีน)

มีข้อแนะนำอะไรบ้าง

MHRA ไม่แนะนำให้จำกัดอายุผู้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า แต่ระบุว่ากลุ่มคนอายุต่ำกว่า 30 ปีที่ไม่มีโรคประจำตัวควรได้รับการฉีดวัคซีนชนิดอื่นแทนนี่เป็นเพราะมีข้อมูลที่บ่งชี้ว่า พบกรณีลิ่มเลือดอุดตันในกลุ่มผู้ใหญ่ตอนต้นสูงกว่ากลุ่มอื่นเล็กน้อย
จากข้อมูลในปัจจุบัน MHRA มีข้อแนะนำว่า

  • ผู้มีภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลังจากได้รับวัคซีนโดสแรกไม่ควรรับวัคซีนโดสที่สองต่อ

  • ผู้ที่มีประวัติโรคเลือด (มีความเสี่ยงลิ่มเลือดอุดตัน) ควรรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าต่อเมื่อประโยชน์มีมากกว่าความเสี่ยงเท่านั้น

  • สตรีมีครรภ์ควรปรึกษาแพทย์เรื่องประโยชน์และความเสี่ยงที่จะได้จากการฉีดวัคซีนชนิดนี้

เมื่อต้นเดือน เม.ย. อังกฤษสั่งพักการทดลองวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในเด็ก ในระหว่างที่มีการตรวจสอบกรณีลิ่มเลือดอุดตันในผู้ใหญ่
ปัจจุบัน เยอรมนี สเปน และอิตาลีได้ระงับการให้วัคซีนชนิดนี้แก่ผู้มีอายุต่ำกว่า 60 ปี ขณะที่ฝรั่งเศสแนะนำให้ฉีดแก่ผู้มีอายุ 55 ปีขึ้นไป


วัคซีนชนิดนี้ทำงานอย่างไรและป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ได้หรือไม่

วัคซีนของอ็อกซ์ฟอร์ด-แอสตร้าเซนเนก้า ทำมาจากไวรัสไข้หวัดทั่วไป (หรือที่รู้จักกันในชื่อ อะดีโนไวรัส-adenovirus) ที่อ่อนแอ โดยนำเชื้อนี้มาจากลิงชิมแปนซีไปดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อที่เชื้อไวรัสนี้จะไม่สามารถขยายตัวในมนุษย์ได้ จากนั้นจะนำยีนที่ได้มาจากปุ่มโปรตีนของเชื้อไวรัสโคโรนาไปใส่ในไวรัสไข้หวัดที่อ่อนแอและไม่เป็นอันตรายต่อคนดังกล่าววัคซีนที่ได้จะถูกนำไปฉีดให้กับคนไข้ เซลล์ในร่างกายมนุษย์จะสร้างปุ่มโปรตีนไวรัสโคโรนาขึ้น เป็นการกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันสร้างแอนติบอดีหรือภูมิคุ้มกันขึ้น และกระตุ้นให้ที-เซลล์ทำลายเซลล์ที่ติดเชื้อ เมื่อคนไข้ได้รับเชื้อไวรัสโคโรนาเข้าสู่ร่างกายจริง ๆ ภูมิคุ้มกันและทีเซลล์ก็จะถูกกระตุ้นให้ต่อสู้กับเชื้อไวรัส
ศาสตราจารย์โจนาธาน แวน แทม รองหัวหน้าเจ้าหน้าที่การแพทย์ของรัฐบาลอังกฤษ ระบุว่า ขณะนี้มี "หลักฐานมากมาย" ที่บ่งชี้ว่าวัคซีนชนิดนี้มีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อโรคโควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษอย่างไรก็ตาม มีหลักฐานน้อยกว่าว่ามันสามารถป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ชนิดอื่น ๆ เช่น สายพันธุ์ที่พบในบราซิล และแอฟริกาใต้
 

"แอสตราเซเนกา" ยันวัคซีนไม่ทำลิ่มเลือดอุดตัน

"แอสตราเซเนกา" เผยผลการตรวจสอบข้อมูลด้านความปลอดภัยของผู้ที่เข้ารับวัคซีนโควิด-19 ของบริษัท ยืนยันไม่เพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ยันยังคงตรวจสอบและติดตามผลด้านความปลอดภัยของวัคซีนต่อเนื่อง
วันนี้ (15 มี.ค.2564) บริษัทแอสตราเซเนกา เปิดเผยว่า จากการศึกษาทบทวนอย่างละเอียดเกี่ยวกับข้อมูลด้านความปลอดภัยของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตราเซเนกากับประชาชนที่ได้รับการฉีดวัคซีนกว่า 17 ล้านคน ในสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร ไม่พบว่ามีหลักฐานใดชี้ให้เห็นถึงอัตราความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของภาวะลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึกหรือภาวะเกล็ดเลือดตํ่า ในกลุ่มอายุ เพศ รุ่นการผลิตหรือไม่ว่าจะในประเทศใดก็ตาม
จากข้อมูลจนถึงวันที่ 8 มี.ค. บริษัทฯ ได้รับรายงานถึงอาการที่เกี่ยวข้องกับภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึกในผู้ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนในสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรทั้งหมด 15 รายงาน และรายงานที่เกี่ยวข้องกับภาวะลิ่มเลือดอุดกั้นในปอดอีก 22 รายงาน เมื่อเทียบจำนวนประชากรแล้ว อัตราการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่ได้รับรายงานหลังการฉีดวัคซีนนี้ ถือว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าอัตราการพบภาวะดังกล่าวในกลุ่มประชากรทั่วไป และยังเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของผู้ผลิตรายอื่น ๆ ที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้อยู่ในปัจจุบัน
โดยรายงานด้านความปลอดภัยประจำเดือนจะมีลงประกาศอยู่ในหน้าเว็บไซต์ของหน่วยงานกำกับดูแลด้านยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพของสหภาพยุโรป (EMA) ในสัปดาห์หน้า เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการด้านความโปร่งใสเกี่ยวกับโควิด-19
นอกจากนี้ยังพบว่าแม้ในการทดลองทางคลินิกจะพบอัตราการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันต่ำ แต่ตัวเลขการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันยิ่งต่ำกว่าในกลุ่มของผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน อีกทั้งไม่มีหลักฐานใดบ่งชี้ว่าผู้ที่เข้าร่วมการทดลองทั้ง 60,000 รายมีอาการเลือดออกเพิ่มขึ้น
แอน เทย์เลอร์ Chief Medical Officer ของแอสตราเซเนกา กล่าวว่า ปัจจุบันมีประชากรในสหภาพยุโรปและ สหราชอาณาจักรที่เข้ารับการฉีดวัคซีนแล้วกว่า 17 ล้านราย และมีรายงานจำนวนผู้ที่มีภาวะลิ่มเลือดอุดตันต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยของการพบภาวะดังกล่าวในกลุ่มประชากรทั่วไป ซึ่งมีมากกว่าหลายร้อยเคส ภาวะโรคระบาดที่เรากำลังเผชิญอยู่นี้ ทำให้อาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นในแต่ละเคสได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น และเพื่อความปลอดภัยของประชาชน เรายิ่งต้องเฝ้าระวังความปลอดภัยในการใช้วัคซีน ยิ่งกว่าการเฝ้าระวังตามมาตรฐานความปลอดภัยของยาทั่วไป
ในด้านคุณภาพนั้น ไม่มีเหตุการณ์ใดที่ได้รับการยืนยันว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนที่ใช้ในสหภาพยุโรปและในประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก อย่างไรก็ตาม การทดลองเพิ่มเติมยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งโดยแอสตราเซเนกาเองและองค์กรอิสระด้านสุขภาพของยุโรป แต่ก็ยังไม่พบว่ามีข้อบ่งชี้ของอาการไม่พึงประสงค์ใด ๆ เพิ่มเติม
ทั้งนี้ระหว่างการผลิตวัคซีนแอสตราเซเนกา รวมถึงพันธมิตรและห้องทดลองอิสระอีกกว่า 20 แห่งได้ทำการทดลองด้านคุณภาพมาแล้วกว่า 60 ครั้ง โดยในการทดลองแต่ละครั้งจะต้องผ่านเกณฑ์การพิจารณาที่เคร่งครัดและเข้มงวด ซึ่งข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้รับจะทำการส่งไปยังหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านความปลอดภัยในประเทศต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาก่อนที่วัคซีนแต่ละรุ่นการผลิตจะได้รับการอนุมัติให้ใช้ในประเทศนั้น ๆ
ความปลอดภัยของประชาชนเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดเสมอ บริษัทฯ ได้ทำการตรวจสอบและติดตามผลด้านความปลอดภัยของวัคซีนอย่างใกล้ชิด ทว่าก็ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใด ๆ ที่ยืนยันได้ว่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตราเซเนกาเกี่ยวข้องกับอาการดังกล่าว และเพื่อให้พวกเราสามารถผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งการระบาดของเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคโควิด-19 ไปได้ สิ่งสำคัญคือประชาชนควรต้องได้รับวัคซีนเมื่อสามารถฉีดได้
วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตราเซเนกา เดิมเรียก AZD1222
วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตราเซเนกาถูกคิดค้นและพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและบริษัท วัคซีเทค ซึ่งก่อตั้งโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด วัคซีนดังกล่าวพัฒนาโดยการนำส่วนของสารพันธุกรรมที่ใช้ในการถอดรหัสการสร้างหนามโปรตีนผิวเซลล์ของไวรัสโคโรนา SARS-CoV-2 ใส่ในโครงของอะดีโนไวรัสซึ่งก่อให้เกิดโรคไข้หวัดทั่วไปในลิงชิมแปนซีที่ถูกทำให้อ่อนแรงลงและไม่สามารถแบ่งตัวได้
โดยหลังจากฉีดวัคซีนเซลส์ในร่างกายมนุษย์จะตอบสนองโดยการสร้างโปรตีนที่มีลักษณะเดียวกันกับหนามโปรตีนผิวเซลล์ของไวรัสโคโรนา SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ในกรณีที่ได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายในภายหลัง
วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตราเซเนกาได้รับการขึ้นทะเบียนให้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน ในกว่า 70 ประเทศ ครอบคลุม 6 ทวีปทั่วโลกแล้ว และจากการขึ้นทะเบียนสำหรับการใช้ในภาวะฉุกเฉินโดยองค์การอนามัยโลกในครั้งนี้จะช่วยเร่งให้มีการเข้าถึงวัคซีนใน 142 ประเทศผ่านกลไกการจัดซื้อและจัดสรรวัคซีนของโครงการโคแวกซ์
 

ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก 
https://news.thaipbs.or.th/content/302431

https://www.bbc.com/thai/international-56752971