การจดทะเบียนรับรองบุตร

วันศุกร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557
การจดทะเบียนรับรองบุตร
 
กฎหมายได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า เด็กที่เกิดจากมารดาและบิดาที่มิได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย ให้ถือว่าเด็กคนนั้นเป็นบุตรโดยชอบตามกฎหมายของมารดาเสมอ แต่เด็กจะเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดาด้วยหรือไม่นั้น แม้ว่ากฎหมายได้ตั้งข้อสันนิษฐานไว้ว่า เด็กที่เกิดจากมารดาขณะที่อยู่กินกับชายผู้เป็นบิดา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเด็กคนนั้นเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของฝ่ายชายด้วย แต่ก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐานเท่านั้น ยังจะต้องพิจารณาเงื่อนไขของกฎหมายหรือต้องดูข้อเท็จจริงอีกหลายประการ
การที่เด็กที่เกิดจากบิดารมารดาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย จะเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดาได้ต่อเมื่อ
บิดามารดาได้จดทะเบียนสมรสกันในภายหลัง กรณีนี้เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดถ้าบิดาและมารดาของเด็กสมัครใจจดทะเบียนสมรสกันภายหลัง

บิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตร ซึ่งการจดทะเบียนรับรองบุตรปฏิบัติได้ 3 วิธี คือ

การจดทะเบียนรับรองบุตรในสำนักทะเบียน
การจดทะเบียนรับรองบุตรนอกสำนักทะเบียน
การจดทะเบียนรับรองบุตรนอกสำนักทะเบียนในท้องที่ห่างไกล
 
ขั้นตอนในการจดทะเบียน คือ บิดาต้องยื่นคำร้องขอจดทะเบียนรับรองบุตรต่อนายทะเบียน ณ สำนักทะเบียนอำเภอ กิ่งอำเภอ หรือสำนักทะเบียนเขต พร้อมทั้งแนบเอกสารที่ต้องใช้ในการจดทะเบียน เช่น บัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน หนังสือแสดงความยินยอมของบุตร และหนังสือแสดงความยินยอมของมารดาของบุตรก่อนรับจดทะเบียน นายทะเบียนจะทำการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงจากพยานบุคคล เช่น บิดามารดา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อนบ้าน เพื่อให้ได้ความจริงเสียก่อน
กฎหมายได้กำหนดไว้ว่า บิดาจะจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายได้ต่อเมื่อ ได้รับความยินยอมของเด็กและมารดาเด็ก ดังนั้น เด็กและมารดาเด็กต้องให้ความยินยอมในการจดทะเบียนทั้งสองคน ซึ่งอาจมาให้ความยินยอมต่อหน้านายทะเบียนก็ได้ ในกรณีที่เด็กและมารดาไม่ได้มาให้ความยินยอมต่อหน้านายทะเบียน ให้นายทะเบียนแจ้งการขอจดทะเบียนไปยังเด็กและมารดา ถ้าทั้งสองคนไม่คัดค้านหรือไม่ให้ความยินยอมภายใน 60 วันนับแต่ได้รับแจ้ง (ถ้าเด็กและมารดาอยู่ต่างประเทศให้ขยายเวลาเป็น 180 วัน) ให้สันนิษฐานว่าเด็กหรือมารดาเด็กไม่ให้ความยินยอม
มีคำพิพากษาของศาลว่าเป็นบุตร กรณีที่เด็กหรือมารดาเด็กคนใดคนหนึ่งคัดค้านว่าผู้ขอจดทะเบียนไม่ใช่บิดา หรือไม่ให้ความยินยอมหรือไม่อาจให้ความยินยอมได้ เช่น เด็กเป็นผู้เยาว์ไร้เดียงสา มารดาเด็กถึงแก่กรรมไปแล้ว เป็นต้น การจดทะเบียนรับรองบุตรต้องมีคำพิพากษาของศาล เมื่อศาลได้พิพากษาให้บิดาจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรแล้ว บิดาก็สามารถนำคำพิพากษาไปจดทะเบียนต่อนายทะเบียนต่อไป

นอกจากนี้ยังมีกรณี การฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมีได้เฉพาะกรณี
เมื่อมีการข่มขืนกระทำชำเรา ฉุดคร่า หรือหน่วงเหนี่ยวกักขังหญิงอย่างผิดกฎหมาย

เมื่อมีการลักพาหญิงไปในทางชู้สาว หรือมีการล่อลวงร่วมประเวณีกับหญิง

เมื่อมีเอกสารของบิดาแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเด็กคนนั้นเป็นบุตรของตน

เมื่อปรากฏในทะเบียนคนเกิดหรือสูติบัตรว่าเด็กเป็นบุตร โดยมีหลักฐานว่าบิดาเป็นผู้แจ้งการเกิดหรือรู้เห็นยินยอมในการแจ้งนั้น

เมื่อบิดามารดาได้อยู่กินกันอย่างเปิดเผย

เมื่อมีการร่วมประเวณีกับหญิงในระยะเวลาที่หญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้ และมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเด็กนั้นมิใช่บุตรของชายอื่น

เมื่อมีพฤติการณ์ที่รู้กันทั่วไปตลอดมาว่าเด็กเป็นบุตรของชาย ซึ่งพิจารณาข้อเท็จจริงที่แสดงความเกี่ยวข้องฉันพ่อลูก เช่น การส่งเสียให้เล่าเรียน ให้การอุปการะเลี้ยงดู หรือยอมให้ใช้นามสกุลของชาย

เรียบเรียงโดย พิทยา ลำยอง

Credit : http://www.thailaws.com/aboutthailaw/knowledge_02.htm