พืชวงศ์มะลิ (Family OLEACEAE)
          ดอกไม้สีขาวบริสุทธ์และมีกลิ่นหอมที่เห็นเอกลักษณ์ เมื่อได้กลิ่นจะรู้สึกชื่นใจ และออกดอกตลอดทั้งปี ดอกไม้ที่พูดถึงนั่นคือ... มะลิ  ไม้ในวงศ์ OLEACEAE และเมื่อเอ่ยถึงพืชตระกูลมะลิ เราก็มักจะนึกถึงมะลิอยู่สองชนิดคือ มะลิลา และมะลิซ้อน แต่แท้ที่จริงแล้ว พืชตระกูลมะลิในเมืองไทยมีอยู่หลายพันธุ์ มีทั้งพันธ์พื้นเมืองของไทย รวมถึงพันธุ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ มีทั้งต้นแบบเลื้อยและเป็นพุ่มรอเลื้อย สีของกลีบดอกไม่เพียงแต่มีสีขาว เรายังพบกลีบดอกที่มีสีเหลือง มีทั้งกลิ่นหอมและไม่มีกลิ่นหอม จึงมีวิธีการสังเกตเพื่อจำแนกพืชตระกูลมะลิ ดังนี้
พืชวงศ์มะลิ (Family OLEACEAE)
          ข้อมูลทางพฤกษศาสตร์ทั่วไป
        ชื่อวิทยาศาสตร์           Jasminum  spp.
        ชื่อวงศ์                      OLEACEAE
        ชื่อสามัญ                  Jasmine
ลักษณะเด่นประจำวงศ์
    ใบเดี่ยว (simple leaf) หรือใบประกอบแบบขนนก (pinnately compound)  หรือมีสามใบ ออกตรงข้าม (opposite) กลีบเลี้ยงและกลีบดอกที่โคนเชื่อมติดกัน กลีบเลี้ยงปลายแยกเป็น 4 กลีบ กลีบดอกปลายแยกเป็น 4 กลีบ หรือ 6 - 12 กลีบ เกสรเพศผู้มี 2 อัน ติดบนกลีบดอก รังไข่มี 2 ช่อง แต่ละช่องมี 2 ออวุล
รายละเอียดการจำแนกลักษณะทางพฤกษศาสตร์  มีดังนี้
      ต้น  เป็นไม้เลื้อยหรือไม้พุ่มรอเลื้อย สามารถมีอายุได้หลายปี กิ่งเลื้อยได้ไกลกว่า 10 เมตร
 
ภาพลักษณะทรงพุ่มของมะลิ 
 
    ใบ  ใบออกเรียงตรงข้าม (opposite) มีทั้งแบบใบเดี่ยว (simple leaf) เป็นใบประกอบแบบขนนก (pinnately compound) มีใบย่อยใบเดียว ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ (ovate) รูปรี (elliptic) รูปขอบขนาน (oblong) หรือรูปมนป้อม ปลายใบแหลม (acuminate) โคนใบมนสอบเข้าหากัน (attenuate) ส่วนขอบใบเรียบไม่มีหยัก (entire) ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3 - 5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6 - 10 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบมัน บางชนิดมีขนที่ผิวใบ
    เส้นใบย่อย อาจเรียงแบบขนนก (pinnately venation) หรือมี 1 - 2 คู่เด่นชัดที่โคนใบ
 (1 - 2 prominent basal veins) บางชนิดหากสังเกตบริเวณใต้ใบจะพบต่อมสีน้ำตาล (turfed domatia) ซึ่งเป็นลักษณะที่ใช้จำแนกพืชวงศ์มะลิได้เช่นกัน

ภาพลักษณะต่อมสีน้ำตาล 
 
      ดอก มีทั้งดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อ แบบช่อมีหลายแบบ เช่น ช่อกระจุก (cyme) ช่อกระจะ(raceme) ช่อซี่ร่ม (umbel) ช่อแยกแขนง (panicle) ก้านดอกย่อยแยกออกจากแกนกลางที่จุดเดียวกัน ดอกย่อยที่อยู่ตรงกลางมักจะบานก่อน ออกดอกตามซอกใบและปลายกิ่ง ลักษณะของดอกมีทั้งดอกซ้อนและดอกไม่ซ้อน กลีบดอกสีขาว บางชนิดสีเหลือง ส่วนใหญ่มีกลิ่นหอมจำนวน 4 - 10 กลีบ ขนาดดอกกว้างประมาณ 2 - 5 เซนติเมตรขึ้นอยู่กับพันธุ์ โคนกลีบดอกเชื่อมกันเป็นหลอดยาวมีทั้งยาวและสั้น แต่ละดอกมีกลีบเลี้ยงเป็นหลอดปลายแยกเป็นเส้นมีเกสรเพศผู้ 2 อันติดกับกลีบดอกภายในหลอดสีขาว
  ผล  เป็นผลเดี่ยวหรือผลแฝด ผลแบบเบอร์รี่ (berry) ผลมีสีเขียวเมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีดำหรือม่วงคล้ำ แต่มักไม่ติดผล
  การขยายพันธุ์  นิยมขยายพันธุ์ด้วยวิธีปักชำ โน้มกิ่ง ตอนกิ่งและเสียบยอด

สวนจตุจักรตระหนักถึงความสำคัญของพืชตระกูลมะลิที่มีต่อวิถีชีวิตคนไทยมานาน จึงได้รวบรวมมะลิหลากหลายสายพันธุ์ที่พบได้ในเมืองไทยเพื่อนำเสนอเป็นแหล่งเรียนรู้ให้ประชาชนได้ทำความรู้จักและศึกษา ซึ่งจะค้นพบความน่าสนใจของพืชตระกูลมะลิมากยิ่งขึ้น ณ มุมมะลิสวนจตุจักร ผู้มาเยือนจะได้พบกับพืชวงศ์มะลิ 10 พันธุ์ (มะลิพันธุ์พื้นเมือง 2 พันธุ์ และมะลิพันธุ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ 8 พันธุ์) ซึ่งพบได้ทั่วไปจากทั้งหมดประมาณ 50 พันธุ์ที่พบได้ในประเทศไทย ดังนี้
​​
มะลิพันธุ์พื้นเมือง ได้แก่  
1. มะลิไส้ไก่ (Jasminum elongatum (Bergius) Willd)
เป็นไม้รอเลื้อย ใบรูปไข่ถึงรูปใบหอกแคบ โคนใบกลมหรือหยักเว้า ช่อดอกแบบช่อกระจุก มีริ้วประดับรูปร่างคล้ายใบ กลีบดอกสีขาว
 
มะลิไส้ไก่
2. มะลุลี (Jasminum multiflorum (Burm.f.) Andr.)
เป็นไม้เลื้อยทุกส่วนมีขนนุ่มปกคลุม ใบรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ช่อดอกแบบช่อกระจุก กลีบดอกสีขาว แฉกกลีบเลี้ยงยาว
 
มะลุลี
 
มะลิพันธุ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ มักออกดอกตลอดทั้งปี ได้แก่  
1. มะลิซ้อน (Jasminum sambac (L.) Ait. ‘Mali Son’)
เป็นไม้พุ่มรอเลื้อย ใบรูปไข่หรือรูปรี ดอกเดี่ยวหรือช่อดอกแบบช่อกระจุก
กลีบดอกสีขาวเรียงซ้อนเกยกันเป็นมากกว่า 5 ชั้น เมื่อบานแล้วกลีบดอก
ตรงกลางไม่ห่อติดกัน
 
 
มะลิซ้อน
2. มะลิลา (Jasminum sambac (L.) Ait. ‘Mali La’)
เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ใบรูปรีป้อม ช่อดอกแบบช่อกระจุก กลีบดอกสีขาว
โคนกลีบเรียงซ้อนเกยกันเป็น 1 - 2 ชั้น ดอกร่วงง่าย
มะลิลา
3. มะลิหลวง (Jasminum laurifolium  Roxb. Var.nitidum (Skan) P.S.Green)
เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ใบรูปหอกหนาเรียบเป็นมันวาว ช่อดอกแบบช่อกระจุก
กลีบดอกสีขาวขนาดใหญ่ หลอดกลีบสีขาวปนม่วง
มะลิหลวง
4. มะลิพุทธชาด  (Jasminum auriculatum  Vahl)
เป็นไม้รอเลื้อย ใบรูปรี ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง กลีบดอกสีขาวขนาดเล็ก
มะลิพุทธชาด
5. มะลิฉัตรพิกุล (Jasminum sambac (L.) Ait. ‘Mali Chat Phikun’)
เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ใบรูปรี ดอกเดี่ยวหรือช่อดอกแบบช่อกระจุก กลีบดอกสีขาวขนาดเล็กเรียงเป็นชั้นจำนวน 3 - 5 ชั้น สามารถดึงแยกกลีบดอก
แต่ละชั้นออกจากกันได้
มะลิฉัตรพิกุล
6. มะลิฉัตรดอกบัว (Jasminum sambac (L.) Ait. ‘Mali Chat Dok Bua’)
เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ใบรูปไข่หรือรูปรี ดอกเดี่ยวหรือช่อดอกแบบช่อกระจุก กลีบดอกสีขาวเรียงซ้อนมากกว่า 5 ชั้น กลางดอกมีกลีบดอกห่อกันกลมแน่น
มะลิฉัตรดอกบัว
7. มะลิจันทรบูร (Jasminum sambac (L.) Ait. ‘Mali Chanthabun’)
เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ใบรูปรีหรือรูปไข่กลับ ช่อดอกแบบช่อกระจุก กลีบดอกสีขาวขนาดใหญ่ หลอดกลีบดอกสีขาวอมเขียว
มะลิจันทรบูร
8. มะลิก้านแดง (Jasminum grandiflorum (L.) Kobuski )
เป็นไม้เลื้อยเนื้ออ่อน ใบประกอบ 5 - 7 ใบ ช่อดอกแบบช่อกระจุก กลีบดอกตูมสีม่วงแดงเมื่อบานมีสีขาวขนาดใหญ่จำนวน 5 กลีบ
มะลิก้านแดง
 
  เอกสารอ้างอิง
  ก่องกานดา ชยามฤต. 2549. ลักษณะประจำวงศ์พรรณไม้ 2. กรุงเทพฯ: กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช. อรุณการพิมพ์. 88 หน้า
  ปิยะ เฉลิมกลิ่น. 2556. มะลิในเมืองไทย (Jasmines in Thailand). กรุงเทพฯ.  สำนักพิมพ์บ้านและสวน. 210 หน้า